อยากขายดีต้องรู้! เปิด 4 เทรนด์ธุรกิจค้าปลีกปี 2565 ลูกค้าเป็นใหญ่-ออนไลน์ต้องไปเต็มรูปแบบ

ค้าปลีก คือหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในวิกฤตโรค โควิด-19 ระบาด เพราะขายของได้ไม่ดีเหมือนเดิม ยิ่งเป็นร้านค้าเป็นหลักแหล่ง เช่น โชห่วย, ร้านสะดวกซื้อ, ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือห้างสรรพค้าสินค้า ยอดขายล้วนลดลง

แม้สายพันธุ์ โอมิครอน ยังระบาดไม่หยุด แต่หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย เริ่มผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ กลายเป็นโอกาสสำคัญในการฟื้นตัวของกิจการค้าปลีก

ทำให้ IDC บริษัทวิจัยชั้นนำของโลก ร่วมมือกับ Infobip วิเคราะห์โอกาสของธุรกิจค้าปลีก และสามารถสรุปออกมาได้ 4 เทรนด์เพื่อชี้ทางให้ผู้ประกอบกิจการสามารถเติบโตไปกับวิกฤตนี้เริ่มคลี่คลายนี้ได้ดังนี้

ค้าปลีก

ลูกค้าเริ่มกลับมา แต่ต้องเอาใจเขาหน่อย

ภาพรวมการจับจ่ายในธุรกิจค้าปลีกระดับโลกลดลงจาก 34% เหลือ 23% ในช่วงเกิดโรค โควิด-19 ระบาด แต่ในปี 2565 ทาง IDC และ Infobip มองว่า ตัวเลขนี้จะค่อย ๆ เติบโตขึ้น แม้ยังไม่เทียบเท่ากับก่อนเกิดการระบาดของโรคดังกล่าว แต่การจะเติบโตไปกับกระแสนี้ เจ้าของค้าปลีกต้องสร้างบริการต่าง ๆ มาตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น

เช่น ในประเทศไทย Tops Markets และ Villa Market ตอบโจทย์ลูกค้าด้วยการส่งสินค้าที่สั่งถึงบ้านภายใน 1 วัน หรือ Lulelemon แบรนด์อุปกรณ์ออกกำลังกายในสหรัฐอเมริกา เร่งเกาะกระแสออกกำลังกายที่บ้านผ่านการจำหน่ายชุดออกกำลังกาย และทำให้ครองใจผู้บริโภคไว้ได้แม้โรคระบาดจะเริ่มคลี่คลายแล้วก็ตาม

กำหนดกลุ่มเป้าหมายลูกค้า ไม่ขายแบบแมส ๆ

ในวิกฤตโรค โควิด-19 ค้าปลีกส่วนใหญ่มียอดขายน้อยลง แต่มีค้าปลีกส่วนหนึ่งที่สามารถเติบโตภายใต้วิกฤตนี้ได้ นั่นคือค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าเฉพาะกลุ่ม และมีฐานลูกค้าตัวเองที่ชัดเจน ต้วอย่างคือ ร้านขายเสื้อผ้า ที่มียอดขายลดลงเพราะลูกค้าทำงานที่บ้าน แต่ ร้านฮาร์ดแวร์ กลับยอดขายเพิ่มขึ้น เพราะต้องดูแลบ้านมากกว่าเดิม

ยิ่งการทำงานแบบ ไฮบริด หรือทำงานที่บ้าน และที่ทำงานไปพร้อม ๆ กัน เริ่มกลายเป็นบรรทัดฐานของการทำงานยุคใหม่ ดังนั้นค้าปลีกที่ปรับตัวรับกับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปนี้ได้ ย่อมสร้างโอกาสในการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น เช่น การกำหนดสินค้าให้ถูกจริต และประยุกต์การขายทั้งผ่านหน้าร้าน และบนออนไลน์

จะ Omnichannel ท่าไหนก็ได้ แต่ข้อให้เริ่มทำ

หากปฏิบัติได้ตามสองเทรนด์แรก เทรนด์ที่ 3 ก็ไม่น่ายาก เพราะเมื่อร้านปรับตัวด้วยการกำหนดสินค้าให้ดี จัดส่งให้เร็ว มีช่องทางทั้งหน้าร้าน และออนไลน์ การเริ่มพัฒนาบริการ BOPIS หรือ Buy Online, Pick Up In-Store เป็นอีกกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างความแตกต่างให้กับร้าน

นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ สื่อสารข้อมูลการตลาดให้ลูกค้าแต่ละคน เป็นอีกเรื่องที่ต้องทำ เพราะช่วยสร้างความประทับใจให้ลูกค้า และเพิ่มโอกาสซื้อสินค้าผ่านการยิงโฆษณาตรงตามความต้องการของลูกค้า โดยจากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคกว่าครึ่งหนึ่งต้องการซื้อสินค้าแบบ Omnichnnal และ 70% อยากจ่ายเงินแบบไร้การสัมผัส

ค้าปลีก ที่ดี ต้องให้ประสบการณ์ซื้อที่ดีด้วย

ถึงค้าปลีกต่าง ๆ จะเริ่มปรับตัวไปอยู่บนโลกดิจิทัลบ้างแล้ว แต่การไปอยู่บนนั้นเพื่อสร้างยอดขายแค่ในวิกฤตคงไม่ใช่เรื่อง ทำให้ค้าปลีกทุกประเภทควรพัฒนาช่องทางดิจิทัลให้เหมาะสมกับตัวเอง และกลายเป็นช่องทางสำคัญในการสร้างรายได้ระยะยาวไม่ต่างกับการขายหน้าร้าน

IDC และ Infobip พบว่า ผู้บริโภคครึ่งหนึ่งมองความสำคัญของ CX หรือ Consumer Experience เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจใช้บริการ และซื้อสินค้าในช่วง 3 ปีหลักจากนี้ ดังนั้นค้าปลีกรายใดยังไม่ยกระดับบริการนี้ เช่น ใช้แชทบอตมาช่วยพูดคุย ทำระบบสมาชิก หรือเพิ่มความสนุกในการจับจ่าย โอกาสกลับมาเติบโตก็คงยากกว่าเดิม

สรุป

ส่วนตัวเชื่อว่า 4 เทรนด์นี้ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปในการปรับตัวของธุรกิจค้าปลีก เพราะร้านค้าต่าง ๆ ทยอยปรับตัวมาตั้งแต่ช่วงโรคโควิด-19 ระบาดแล้ว ดังนั้นการนำความรู้ความเข้าใจในเครื่องมือดิจิทัลเพื่อฟื้นยอดขายให้กลับมาจึงเปิดไปได้ และอย่างง่ายที่สุดคือ การเริ่มเปิดร้านออนไลน์เพื่อเพิ่มโอกาสพบเจอลูกค้าใหม่ ๆ ซึ่งทำได้ในทันที

อ้างอิง // Infobip

อ่านข่าวเกี่ยวกับค้าปลีก และการทำธุรกิจเพิ่มเติมที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา