สุดยอดข้อมูล! IDC เผยตัวเลขตลาด สมาร์ทโฟน-แท็บเล็ต-คอมพิวเตอร์ และ โน้ตบุ๊ก 2016

idc cover

ตลาดอุปกรณ์ไอทีหลักๆ ในประเทศไทย 4 ตัวที่น่าจะพูดได้ว่ามีการใช้งานอย่างแพร่หลายที่สุด 4 อุปกรณ์ คือ สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, คอมพิวเตอร์ และโน้ตบุ๊ก กำลังอยู่ในช่วงที่เรียกว่า Replacement ERA หรือ เป็นตลาดซื้อทดแทน ซึ่งการเติบโตจะไม่มากเหมือนในอดีต แต่ราคาต่อหน่วยมีแนวโน้มสูงขึ้น ต่างจากก่อนหน้านี้ ที่ลักษณะตลาดเป็น Adoption ERA หรือ การขยายตลาดเพื่อให้ทุกคนได้ใช้งาน

IDC ได้เปิดเผยตัวเลขตลาดอุปกรณ์ไอทีทั้ง 4 ชนิด เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงให้กับแบรนด์ต่างๆ พร้อมบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจ

mobile idc
Credit: IDC

สมาร์ทโฟน – เป็นตลาดอุปกรณ์ที่ในประเทศไทยมีการใช้งานแพร่หลายที่สุด คาดว่าประมาณ 60% ของประชากร โดยคาดการณ์จำนวนยอดขายอุปกรณ์ปี 2016 ประมาณ 23 ล้านเครื่อง เติบโตขึ้น 6% เป็นมูลค่า 137,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 4% โดยปี 2015 มียอดขายอุปกรณ์ 22 ล้านเครื่อง มูลค่า 131,000 ล้านบาท

เบื้องต้น IDC เคยคาดการณ์ว่าปี 2016 ตลาดน่าจะเริ่มหดตัว แต่จำนวนเครื่องที่ยังมีการเติบโตขึ้น มีปัจจัยมาจากการแจกเครื่องและทำโปรโมชั่นราคาถูกของผู้ให้บริการมือถือ คิดเป็นประมาณ 50% ของตลาดรวม โดย AIS แจกเครื่องเพื่อแก้ปัญหาคลื่นความถี่ 900 หมดสัญญาสัมปทาน, DTAC แจกเครื่องเพื่อแก้ปัญหาคลื่นความถี่ 1800 หมดสัญญาสัมปทาน ขณะที่ TRUE แจกเครื่องเพื่อหวังดึงลูกค้าเพื่อขึ้นเป็นอันดับ 2 ในตลาด

man-hands-working-technology
Image Credit: Pexels

อย่างไรก็ตาม การที่มูลค่าตลาดมีการเพิ่มขึ้น 4% เป็นผลมาจากตลาดประเทศไทย อยู่ในช่วง Replacement สมาร์ทโฟน มีความจำเป็นมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อเครื่องที่คุณภาพดีขึ้น ราคาสูงขึ้น โดยปีนี้ราคาเฉลี่ยต่อเครื่องอยู่ที่ 5,900 บาท และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 6,500 ในปี 2017 และเป็น 8,250 บาทในปี 2020

อีกส่วนที่น่าสนใจสำหรับตลาดประเทศไทยคือ ตลาดฟีเจอร์โฟน ยังมีการเติบโต โดยปี 2016 มียอดขายประมาณ 11 ล้านเครื่อง มูลค่าประมาณ 8,600 ล้านบาท จากปี 2015 มียอดขาย 8 ล้านเครื่อง โดยเป็นการแจกเครื่อง หรือซื้อสมาร์โฟนแถมฟีเจอร์โฟนของผู้ให้บริการมือถือ เนื่องจากผู้บริโภคยังต้องการใช้งาน โทรศัพท์มือถือที่คุยอย่างเดียว แบ็ตเตอรี่ใช้งานได้ยาวนาน และผู้ให้บริการมือถือ ก็ได้จำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้น และรายได้จากการใช้งาน

tablet idc
Credit: IDC

แท็บเล็ต – คาดการณ์จำนวนยอดขายอุปกรณ์ในปี 2016 ประมาณ 850,000 เครื่อง มูลค่า 7,300 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2015 มียอดขาย 1.4 ล้านเครื่อง มูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาท โดยยอดขายหดตัว 40% และมูลค่าหดตัว 37%

หากมองย้อนกลับไปในปี 2010 ซึ่งเป็นปีแรกๆ ที่แท็บเล็ตเข้าสู่ตลาด มียอดขายทั้งปีประมาณ 30,000 เครื่อง จากนั้นกลายเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2014 มียอดขายกว่า 3.15 ล้านเครื่อง ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดของตลาดแท็บเล็ต โดยมีปัจจัยมาจากโครงการ OTPC หรือแท็บเล็ตสำหรับนักเรียน ที่นอกจากมีการสั่งซื้อเครื่องของรัฐบาล และยังกระตุ้นตลาดให้เกิดการใช้งานแพร่หลาย แต่หลังจากนั้นตลาดก็เริ่มหดตัวต่อเนื่องมาตลอด

light-coffee-pen-working
Image Credit: Pexels

ปัจจัยที่ทำให้ตลาดแท็บเล็ตหดตัว เนื่องจากแท็บเล็ต เป็นอุปกรณ์ตรงกลางระหว่าง สมาร์ทโฟนและโน้ตบุ๊ก คือ ไม่ได้มีคุณสมบัติในการทำงานเท่ากับโน้ตบุ๊ก และถูกสมาร์ทโฟนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาทดแทนการใช้งานได้ ทำให้ความจำเป็นลดลง ประกอบกับเทคโนโลยีภายในแท็บเล็ต ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดความต้องการเปลี่ยนเครื่องใหม่ ดังนั้นอายุการใช้งานเครื่องจึงยาวนานหลายปี

ก่อนหน้านี้ แท็บเล็ต พยายามเข้าไปกินส่วนแบ่งของสมาร์ทโฟน เป็นแท็บเล็ตที่สามารถโทรศัพท์ได้ แต่เจาะตลาดไม่สำเร็จ จนปัจจุบันเริ่มขยับมาทางโน้ตบุ๊กมากขึ้น กลายเป็นแท็บเล็ตที่มาพร้อมคีย์บอร์ด หรือเพิ่มความสามารถในการใช้งาน เช่น Surface หรือ iPad PRO ที่เริ่มมียอดขายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทำให้เชื่อว่าอนาคตตลาดแท็บเล็ต อาจจะรวมอยู่กับโน้ตบุ๊กได้

pc idc1
Credit: IDC

คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและเดสก์ท็อป – ตลาดคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยอยู่ในช่วงหดตัวต่อเนื่อง เป็นตลาด Replacement เต็มรูปแบบไปแล้ว ผู้บริโภคมีการใช้งานเป็นปกติ โดยคาดการณ์ยอดขายอุปกรณ์ปี 2016 รวมอยู่ที่ 2.38 ล้านเครื่อง ลดลง 6.6% จากปี 2015 ที่มียอดขายรวม 2.55 ล้านเครื่อง ขณะที่ปี 2016 คาดการณ์มูลค่าประมาณ 52,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% จากปี 2015 ที่มีมูลค่า 49,000 ล้านบาท

หากแยกตลาด คาดการณ์โน้ตบุ๊กมียอดขาย 1.2 ล้านเครื่อง ส่วนเดสก์ท็อป 1.14 ล้านเครื่อง หรือประมาณ 50/50

ยอดขายลดลง แต่มูลค่ากลับสูงขึ้น เนื่องจากราคาขายต่อหน่วยปรับสูงขึ้น โดยในปี 2016 มีราคาขายเฉลี่ย 22,000 บาท จากปี 2015 อยู่ที่ 19,000 บาท โดยมีปัจจัยจากเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับ e-Sport ที่มีราคาสูงขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีระดับบน เริ่มลงมาแทนที่เทคโนโลยีระดับล่าง เช่น ชิพประมวลผล ที่ใช้มาตรฐานระดับสูงมากขึ้น เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย และทำให้ระยะเวลาในการใช้งานเครื่องยาวนานขึ้น

pc1
Image Credit: Pexels

โดยการใช้งานโน้ตบุ๊กเฉลี่ยอยู่ที่ 3.3 ปี เดสก์ท็อปอยู่ที่ 3.8 ปี และถ้าเป็นคอมพิวเตอร์สำหรับองค์กรมีแนวโน้มยาวถึง 5 ปี จึงจะมีการเปลี่ยนใหม่ ทำให้การเติบโตของยอดขายจะพึ่งพิงอยู่กับตลาดองค์กรพอสมควร

สำหรับแนวโน้มของตลาดอุปกรณ์ไอทีในประเทศไทย เนื่องจากได้ปรับตัวเข้าสู่ตลาด Replacement ERA อย่างชัดเจนแล้ว ดังนั้นการกระตุ้นตลาดให้มีการเติบโตจะต้องอาศัยนวัตกรรมและอุปกรณ์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด เพื่อสร้าง Adoption หรือการใช้งานใหม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความแพร่หลาย เช่น Wearable Device, VR-AR Device เป็นต้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา