RAiNMaker ครีเอเตอร์คอมมูนิตี้ในไทยร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดตัว iCreator Camp 2024 พร้อมบรรยายภาพรวมและเทรนด์วงการครีเอเตอร์ในปีนี้
iCreator Camp 2024
เอ็ม – ขจร เจียรนัยพานิชย์ บรรณาธิการบริหาร RAiNMaker และผู้จัด iCreator Camp ประกาศเปิดตัวโครงการ iCreator Camp 2024 ที่เปิดรับสมัครครีเอเตอร์จำนวน 100 คนเข้าร่วมการเรียนรู้ทักษะจากครีเอเตอร์หลากหลายวงการและแสดงความสามารถผ่านการทำ Assignment เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ โดยมีหัวข้อดังนี้
- วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม – Storytelling & Creative
- วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม – Content Marketing
- วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน – Design & Visual
- วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน – Production & Platform
- วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน – Final Round Winner Announcement
ภายในงานจะได้เรียนรู้ประสบการณ์จากครีเอเตอร์หลายมากกว่า 20 คน เช่น
- แท็ป – รวิศ หาญอุตสาหะ (Mission To The Moon)
- เอม – นภพัฒน์จักษ์อัตตนนท์ (workpointTODAY)
- บูม – ธริศร ธรณวิกรัย (BoomTharis)
- ซอฟ – รษิกา พาณีวงศ์ (softpomz)
- บาส – ภาณุภัทร์สุกัลยารักษ์ (Go Went Go)
- กอล์ฟ – กันตพัฒน์พฤฒิธรรมกูล (กอล์ฟมาเยือน)
- อิสระ ฮาตะ (Rubsarb)
- เก่ง – สิทธิพงศ์ศิริมาศเกษม (CREATIVE TALK, RGB72)
- เฟื่ องลดา – สรานีสงวนเรือง (LDA World)
- คิม – กัญจน์ชญา อาจหาญ (bearbykim)
- เอ็ม – ขจร เจียรนัยพาณิชย์ (RAiNMaker)
- ผศ.ดร.สกุลศรีศรีสารคาม (อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
- ผศ.ดร.ปภัสสรา ชัยวงศ์ (หัวหน้าภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
Assignment ที่ทำจะได้เข้าชิงรางวัลหลังจากจบโครงการ รวมทั้งผู้เข้าร่วมจะได้รับใบประกาศนียบัตรหลังจากจบโครงการด้วย
iCreator Camp 2024 เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 26 เมษายนนี้ โดยผู้สมัครจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถเดินทางเข้ามาร่วมกิจกรรมที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ (ไม่มีการถ่ายทอดผ่านทางออนไลน์) เป็นครีเอเตอร์ที่มีผู้ติดตามบนแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง 2,000 คนขึ้นไป สามารถทำ Assignment ได้ครบ 2 ครั้งและโพสต์บนสื่อหลักของตนเองได้ รวมทั้งหากผ่านการคัดเลือกเป็น 1 ในผู้เข้าร่วม 100 คนจะมีการมัดจำค่าใช้จ่าย 3,000 บาทซึ่งจะได้รับคืนหลังจบโครงการ
ภาพรวมวงการครีเอเตอร์ในประเทศไทย 2024
นอกจากการเปิดตัวโครงการ iCreator Camp 2024 แล้ว เอ็ม – ขจร เจียรนัยพานิชย์ ยังได้เล่าถึงภาพรวมของวงการครีเอเตอร์ไทยว่าในปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นปีทองของวงการครีเอเตอร์ ส่วนในปี 2024 นี้เป็นปีของการเปลี่ยนแปลงจากพฤติกรรมของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะการที่ TikTok กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีจำนวนผู้ใช้งานในประเทศไทยมากกว่า YouTube ทำให้ในปีนี้ แพลตฟอร์มที่มีจำนวนผู้ใช้มากที่สุดจากมากไปน้อย ได้แก่ Facebook (58 ล้านคน) LINE (54 ล้านคน) TikTok (44.3 ล้านคน) YouTube (44.2 ล้านคน) Instagram (18.7 ล้านคน) และ Twitter (14.6 ล้านคน)
ในส่วนของเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ ข้อมูลของสมาคมโฆษณาดิจิทัลของประเทศไทยหรือ DAAT ยังแสดงให้เห็นการเติบโตเกือบ 10% จากที่หลายอุตสาหกรรมใช้เม็ดเงินกับการโฆษณาออนไลน์เพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนครีเอเตอร์ในประเทศไทย 7 หมวดที่มีจำนวนครีเอเตอร์มากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ เกมมิ่งและอีสปอร์ต 23% ความงามและแฟชั่น 20% vTuber 16% วัฒนธรรมท้องถิ่น 11% ความบันเทิง (Variety) 10% การท่องเที่ยว 10% และการเงิน 9%
ขณะที่หากลองนำสถิติเม็ดเงินในวงการมาเปรียบเทียบกับจำนวนครีเอเตอร์ พบว่าหมวดที่ยังมีครีเอเตอร์น้อยแต่สร้างเม็ดเงินได้มากมี 4 หมวด คือ ยานยนต์ ครอบครัวและการเลี้ยงลูก สัตว์เลี้ยง และผู้สูงอายุ
ส่วนการเปรียบเทียบจำนวน Engageemnt กับจำนวนผู้ติดตาม พบว่าครีเอเตอร์กลุ่มที่มีผู้ติดตามทุกแพลตฟอร์ม 500,000 รายขึ้นไปจะมี Engagement ในระดับสูง ขณะที่ปัจจุบัน ครีเอเตอร์ที่มีผู้ติดตามเกิน 500,000 คนยังมีไม่ถึง 5% ของจำนวนครีเอเตอร์ในประเทศไทย
เอ็ม – ขจร เจียรนัยพานิชย์ ยังได้พูดถึง Creatonomic หรือภาคอุตสาหกรรมของครีเอเตอร์ ข้อมูลจาก Accenture ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่อินฟลูเอนเซอร์มีผลอย่างมากในการซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ Gen Z เป็นกลุ่มที่เป็นทั้งผู้ชมและเป็นทั้งครีเอเตอร์ โดย 41% ของกลุ่มนี้นิยามตัวเองว่าเป็นวิดีโอคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ขณะที่ในไทยมี Gen Z ที่เป็นวิดีโอคอนเทนต์ครีเอเตอร์อยู่ 3.1 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา RAiNMaker เจอปัญหาเรื่องการศึกษาไทยที่ยังตามไม่ทันวงการครีเอเตอร์ ผู้ที่จบการศึกษาในสาขานิเทศศาสตร์มายังไม่สามารถทำงานได้ทันที รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนอุปกรณ์ ทำให้ 70% ของครีเอเตอร์ที่ทำงานได้สักพักเริ่มเจอปัญหาในวงการจากการแข่งขันที่สูง ทาง RAiNMaker จึงอยากผลักดันนโยบายสู่ภาครัฐและสนับสนุนการศึกษาผ่าน iCreator Camp
เทรนด์และการผลักดันครีเอเตอร์ในการศึกษาไทย
รองศาสตราจารย์ ดร. ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมพูดคุยเรื่องหลักสูตร โอกาส และการผลักดันคอนเทนต์ครีเอเตอร์รุ่นใหม่ผ่านมุมมองของวิชาการด้วย
ในมุมมองวิชาการ สิ่งที่สำคัญในการเป็นครีเอเตอร์อย่างแรกอยู่ที่ชุดความคิดและโลกทัศน์ ไม่ใช่แค่เครื่องมือหรือแพลตฟอร์มที่ใช้สร้างคอนเทนต์เท่านั้น เพราะชุดความคิดจะช่วยกำหนดทิศทางในการทำงาน อย่างที่สองคือเอกลักษณ์และคาแรคเตอร์ของครีเอเตอร์เอง อย่างที่สามคือทักษะในการเล่าเรื่อง โดยเฉพาะการสร้างคอนเทนต์ผ่านสื่อใหม่ที่ต้องเข้าใจแพลตฟอร์มและการทำงานอัลกอริธึม
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญอย่างที่ 4 คือ ทักษะ Entrepreneurship เพราะปัจจุบันทุกคนสามารถเป็นครีเอเตอร์ได้เองไม่เฉพาะการเป็นลูกจ้างในบริษัทสื่อ ทำให้ต้องมีทักษะในการทำคอนเทนต์ให้อยู่รอดและเติบโต และอย่างสุดท้าย คือ จริยธรรมในการสร้างคอนเทนต์ที่จะกำหนดว่าจะอยู่ในวงการครีเอเตอร์ได้อย่างไร และช่วยสร้างชุมชมที่ดีให้เกิดขึ้น
นอกจากทักษะสำคัญแล้ว รองศาสตราจารย์ ดร. ปรีดา อัครจันทโชติ ยังได้พูดถึงปัญหาของการศึกษาไทยในการสร้างครีเอเตอร์รุ่นใหม่ว่า การปรับตัวของภาคการศึกษาเป็นไปได้ช้าโดยเฉพาะสถาบันขนาดใหญ่และอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาล ไม่ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
อย่างการทำหลักสูตรใหม่ของคณะนิเทศศาสตร์ใช้เวลาในการปรับปรุง 1-2 ปี ทำให้กว่าหลักสูตรจะเสร็จเรียบร้อยก็ไม่ทันการเทรนด์ของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่เปลี่ยนไปแล้ว จึงต้องร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมที่มีครีเอเตอร์ที่มีประสบการณ์มาเทรนและให้คำแนะนำอย่างที่ร่วมกันกับ RAiNMaker เพื่อทำโครงการ iCreator Camp 2024 ขึ้นมา
ยุคใหม่ของวงการครีเอเตอร์
นอกจากการเปิดตัว iCreator Camp 2024 แล้ว ยังได้มีการพูดคุยเรื่องเทรนด์และความท้าทายของวงการครีเอเตอร์ยุคใหม่ โดย ซอฟ – รษิกา พาณีวงศ์ เจ้าของช่อง Softpomz, ผศ.ดร. สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเอ็ม – ขจร เจียรนัยพานิชย์
ในมุมมองของครีเอเตอร์ที่อยู่ในวงการมา 11-12 ปี ซอฟ – รษิกา พาณีวงศ์ มองเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างแรกอยู่ที่การปรับตัวของครีเอเตอร์มีความท้าทายจากความสนใจของผู้ชม การทำงานอัลกอริธึมของแพลตฟอร์ม รวมทั้งมีแพลตฟอร์มใหม่อย่างเช่น Lemon8
ทักษะที่จำเป็นต้องมีเพื่อรับมือกับความท้าทายของยุคใหม่อยู่ที่การปล่อยวางจากการยึดมั่นในการทำคอนเทนต์แบบเดิม ต้องเรียนรู้จากคอนเทนต์ที่สื่อออกไปและสร้างทางใหม่ให้เกิดขึ้น เช่น คนไทยชอบติดตามข่าวจะโซเชียลมีเดียมากกว่าจากสำนักข่าวเพราะชอบความใกล้ชิดกับมนุษย์ด้วยกัน เทรนด์ผู้ชมชอบความแปลกใหม่แต่พอผ่านไปสักระยะก็จะย้อนกลับมาคิดถึงสิ่งเดิม ทำให้คอนเทนต์ที่อาจจะไม่ตอบโจทย์ในปัจจุบันอาจจะตอบโจทย์ในอนาคตก็ได้
ส่วน ผศ.ดร. สกุลศรี ศรีสารคาม มองผ่านมุมการศึกษาว่า พฤติกรรมการใช้สื่อของผู้ชมเปลี่ยนไปในเชิงที่มีความชอบและมีตัวตนชัดเจน ภาคการศึกษาต้องดึงอัตลักษณ์ของนักศึกษาแต่ละคนออกมา ไม่ใช่การสร้างครีเอเตอร์ที่เหมือนกันทั้งหมด ถือเป็นความท้าทายในเรื่องการเรียนการสอน
ในภาคการศึกษามีการปรับตัว เริ่มที่การเพิ่มทักษาการเล่าเรื่องหรือ Storytelling ที่ต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าจะเล่าอะไร จากนั้นจึงค่อยออกแบบคอนเทนต์ให้เหมาะสมกับแพลตฟอร์ม ทำความเข้าใจความชำนาญของตัวเอง ในภาคการศึกษาต้องสอนให้ครีเอเตอร์เข้าใจผู้ชม เข้าใจตัวเอง และเข้าใจวิธีในการเล่าเรื่อง ประกอบกับเข้าใจในเรื่องข้อมูลและอัลกอริธึม เพื่อให้สามารถสร้างอัตลักษณ์และจุดยืนที่แตกต่างจากครีเอเตอร์คนอื่น ๆ ได้
ทางด้านเอ็ม – ขจร เจียรนัยพานิชย์ มีมุมมองว่า วงการครีเอเตอร์เปลี่ยนไปจากพฤติกรรมการเสพสื่อของคนไทยที่ต่างจากที่อื่น อย่างเช่น การศึกษาพบว่าประเทศในยุโรปมักจะติดตามข่าวจากสำนักข่าวโดยตรง แต่ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ติดตามข่าวจากโซเชียลมีเดียเป็นหลักซึ่งสิ่งที่ตามมาคือปัญหาด้านจริยธรรมการนำเสนอข่าวและข้อเท็จจริง
ส่วนในเรื่องทักษะที่จำเป็นสำหรับครีเอเตอร์ มองว่าต้องมีความเข้าใจตัวเอง มีทักษะ Entrepreneurship เพราะต้องรับผิดชอบตัวเองทำให้ต้องอาศัยทักษะหลายอย่าง
นอกจากนี้ ในช่วงหลัง แม้ว่าครีเอเตอร์จะทำงานให้กับบริษัทสื่อหรือสำนักข่าว แต่ก็มักจะมีช่องทางการสร้างคอนเทนต์เป็นของตัวเองด้วย ในยุคใหม่นี้ก็มีบริษัทที่เปิดโอกาสให้พนักงานทำงานกับบริษัทควบคู่ไปกับการเผยแพร่คอนเทนต์ในช่องทางส่วนตัวด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา