ผ่าอาณาจักร “ตัน ภาสกรนที” 10 ปีทำมากกว่าชาเขียว สู่มือฉมังอสังหาริมทรัพย์

การสร้างอาณาจักร “ตัน ภาสกรนที”นับตั้งแต่โบกมือลาจากโออิชิ กรุ๊ป ผู้ชายที่เคยขายแต่เครื่องดื่มชาเขียวและอาหารญี่ปุ่นมาโดยตลอด เดินหน้าสู่การขับเคลื่อนการสร้างอาณาใหม่ที่ทำมากกว่าแค่ธุรกิจชาเขียวอย่างเดียว

ปัจจุบันธุรกิจของ”ตัน” มีการสร้าง ออฟฟิศบิวดิ้ง โรงแรม หรือกระทั่งตลาดนัด จนกระทั่งกลายเป็นนักธุรกิจมือฉมังในการบริหารอสังหาริมทรัพย์ที่น่าจับตามอง

ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป

จุดเริ่มต้นของธุรกิจ “ตัน ภาสกรนที” ที่เกิดจากการขายน้ำและอาหารญี่ปุ่นมาตลอดชีวิต จึงไม่แปลกที่ก้าวแรกของการทำธุรกิจครั้งใหม่จะโคลนนิ่งโมเดลธุรกิจชาเขียวและร้านอาหารญี่ปุ่นของโออิชิมาเป๊ะ เรียกว่ามีชั่วโมงการบินที่สูง ทั้งประสบการณ์การทำตลาด ระบบซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น ช่องทางการจัดจำหน่าย รวมทั้งพฤติกรรมของลูกค้า

ดังนั้นเมื่อปี 2553 “เสี่ยตัน”ได้ก่อตั้งบริษัท ไม่ตัน จำกัด เพื่อหวนเข้ามาทำตลาดเครื่องดื่มชาเขียวและปลุกปั้นแบรนด์”อิชิตัน”เข้ามาในตลาดชาเขียว ซึ่งกลายมาเป็นคู่แข่งกับแบรนด์โออิชิชนิดว่าเป็นมวยที่ถูกคู่ในสังเวียน โดยปัจจุบันอิชิตันมีส่วนแบ่ง 31.9% ส่วนผู้นำตลาดอย่างโออิชิมีส่วนแบ่ง 44.6%

ทำธุรกิจอย่างไรให้รวย ปัง!!

ทว่าหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตในครั้งนี้  นอกเหนือจากการการสร้างอาณาจักรเครื่องดื่มชาเขียวซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำให้ “เสี่ยตัน” แจ้งเกิดกลายเป็นนักธุรกิจที่น่าจับตามองแล้วนั้น จากการ มีรายได้มากกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี

โจทย์คือเมื่อ “เงินต่อเงิน” ทำอย่างไรให้รวย ให้ปัง ระดับหมื่นล้านบาท แน่นอนหมวกอีกใบที่เสี่ยตันเลือกที่จะสวมนอกจากเป็นหมวกกัปตันแล้ว ยังปลุกปั้นตัวเองสู่การเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มือฉมัง ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานี้

โครงสร้างทางของธุรกิจอิชิตัน กรุ๊ป แตกธุรกิจเป็นจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น คอมมูนิตี้มอลล์ โรงแรม ออฟฟิศบิวดิ้ง จากการมีแลนด์ลอร์ดหลากหลายพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพ ชลบุรี เชียงใหม่ เป็นต้น

เส้นทาง “อิชิตัน กรุ๊ป” ตลอดระยะเวลา 10 ปี (2553-2562)

  • ครงการ T-ONE  มูลค่า 3,000 ล้านบาท ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท ตัน อิง แอสเส็ท จำกัด โดยเป็นอาคารสำนักงานสูง 34 ชั้น แบ่งเป็น พื้นที่ขายกว่า 20,000 ตร.ม. และมีพื้นที่รีเทล 2,000 ตร.ม. นับว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ จากสถานที่ตั้งที่อยู่บริเวณทองหล่อ ซึ่งเป็นทำเลออฟฟิศเกรดเอที่มีความต้องการสูงของธุรกิจ นอกจากนี้การดีไซน์ยังมีพื้นที่ Co-Working space ซึ่งตอบโจทย์เหล่าบรรดาสตาร์ทอัพของประเทศไทย  
ตลาดนัดนินจาอมตะ
  • ตลาดนัดนินจาอมตะ ถูกพัฒนาและวางคอนเซ็ปต์ให้เป็นตลาดใหญ่ ให้บริการสินค้าหลากหลาย ทั้งร้านอาหารอร่อยชื่อดังจากกรุงเทพและชลบุรี โซนอาหาร พร้อมลานนั่งทานรับประทานอาหารชิลๆ โซนสินค้าสินค้าแฟชั่น ตลาดนัดมือสองโซนคลองถม มีจำหน่ายต้นไม้และสัตว์เลี้ยง ฯลฯ รองรับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมอมตะนคร ขนาดพื้นที่ 40 ไร่
  • ตลาดนัดกล้วยกล้วย  เป็นตลาดนัดขนาดใหญ่ บนพื้นที่ที่จัดสรรออกเป็นหลายส่วน บนพื้นที่กว่า 76ไร่ ที่ จังหวัดลพบุรี ด้วยงบลงทุน 600 ล้านบาท
One nimman คอมมูนิตี้มอลล์
  • One nimman คอมมูนิตี้มอลล์ ที่ เชียงใหม่ ได้คัดสรรศิลปะ วัฒนธรรม และความร่วมสมัยที่เชื่อมโยงรูปแบบชีวิตแบบสมัยใหม่กับวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เข้ากันได้อย่างลงตัว ภายในพื้นที่กว้างขวางกว่า 7,000 ตร.ม
  • วิลล่า มาร็อก รีสอร์ท บนหาดปราณบุรี รีสอร์ทหรูสไตล์โมร็อกโกบนอ่าวไทย ด้วยสไตล์การตกแต่งที่ฉีกแนวเฟอร์นิเจอร์หรูหราจากอาณาจักรแอฟริกาเหนือ ราคาที่พักที่สามารถเข้าถึงตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาทต่อคืน ทำให้กลายเป็นรีสอร์ทที่ได้รับความนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ
ราเมนแชมเปี้ยน Ramen Champion @ ARENA 10 ทองหล่อ

ทว่าการ”การแตกและโต”ก็เป็นบทเรียนสำหรับนักธุรกิจอย่างเสี่ยตันที่เพลี่ยงพล้ำ หรือนักรบย่อมมีบาดแผลเป็นเรื่องปกติ ทั้งในธุรกิจร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์และการขยายพอร์ตโฟลิโอสู่เครื่องดื่มเซ็กเมนต์ใหม่ๆ 

  • ร้านอาหารญี่ปุ่น”ราเมน แชมเปี้ยน” ทั้ง 6 ร้าน เป็นราเมนต้นตำรับจากญี่ปุ่นที่ตันร่วมทุนกับเจ้าของลิขสิทธิ์มาเปิดบริการที่อารีน่า 10 ซอยทองหล่อ โดยเปิดเมื่อดือนพฤศจิกายน 2553 แม้ว่าธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นจะเฟื่องฟูมากแค่นั้น โมเดลร้านอาหารญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่นอกศูนย์การค้า และด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงเฉพาะสำหรับกลุ่มลูกค้าระดับกลางและระดับบน (Upper Middle Class) ธุรกิจดังกล่าวจึงไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
  • โรงแรมอิสติน จังหวัดเชียงใหม่ ปิดดำเนินการเมื่อปี 2559 เนื่องจากการเปิดเป็นโรงแรมโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม และเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคาร

ปิดฉากเครื่องดื่มในพอร์ตโฟลิโอ

การมีเครื่องดื่มอยู่ในพอร์ตโฟลิโอจำนวนมาก โดยที่ “อิชิตัน กรุ๊ป” เร่งขยายธุรกิจในตลอดระยะกว่า 7ปี ไม่ได้พิสูจน์ว่าโมเดลธุรกิจที่มีเครื่องดื่มนอกจากชาเขียวแล้วจะทำให้บริษัทเติบโตก้าวกระโดดเสมอไป สินค้าในพอร์ตโฟลิโอที่มีอยู่ด้วยกันหลากหลายรายการ

  • ไบเล่ เสริมพอร์ตโฟลิโอด้วยการขยายตลาดน้ำผลไม้และเยลลี่
  • T247 เพื่อรุกตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง
  • อิชิตัน ไอซ์ที ลงสู่สมรภูมิเซ็กเมนต์ชาดำซึ่งมีมูลค่าตลาดรองมาจากชาเขียว
  • อิชิตัน ชิวชิว การสร้างเซ็กเมนต์ใหม่ชาเขียวน้ำผลไม้ผสมวุ้นมะพร้าวเจาะกลุ่มวัยทีน
  • น้ำสมุนไพรเย็นเย็น เป็นเครื่องดื่มที่เปิดตัวเพื่อสร้างเซ็กเมนต์เอเชี่ยนดริงก์
  • ชาเขียวพร้อมดื่มตราชิชึโอกะ ลงในเซ็กเมนต์ชาพรีเมียม เจาะคอเพื่อสุขภาพ ไม่มีน้ำตาลและหวานน้อย

การตัดสินใจซื้อ ไบเล่ เพราะเห็นถึงศักยภาพและความคุ้มค่าในการลงทุน “ไบเล่” เป็นแบรนด์ที่คนไทยรู้จัก ชื่นชอบ นั้นคือ คำพูดของตัน ภาสกรนที แต่การซื้อกิจการและสิทธิ์เครื่องหมายการค้า “ไบเล่” (BIRELEY) จากบริษัท ซันนี่ เฮิร์บ อินเตอร์เนชั่นแนล เบฟเวอรเรจ จำกัด (sunny) รวมมูลค่า 1,780 ล้านบาท เพื่อต่อยอดธุรกิจจากชาเขียวมาสู่การแตกไลน์น้ำผลไม้

โดยใช้กลยุทธ์เรียนลัดไม่ต้องสร้างแบรนด์ให้เหนื่อย แต่เลือกแบรนด์ที่มีอยู่ในตลาดแล้วมารีแบรนด์ระลอกใหม่ แต่จากการรับรู้ (Perception) ไบเล่กลับถูกมองว่าเป็นน้ำส้มมากกว่าจะเป็นน้ำผลไม้ ประกอบกับช่วงที่ไบเล่ รีเทิร์นเข้ามาตลาด สภาพตลาดน้ำผลไม้อยู่ในภาวะที่ไม่เติบโต อัตราการดื่มน้ำผลไม้ของคนไทยไม่ได้เพิ่มขึ้น สุดท้ายต้องจบคำว่า“อวสานของไบเล่”ไป

เครื่องดื่มชูกำลังนับว่าเป็นตลาดที่ปราบเซียน แต่ “เสี่ยตัน” เลือกที่จะลงสมรภูมินี้ ปั้น T247 เครื่องดื่มชูกำลังในรูปลักษณ์ขวดเพ็ทลงตลาด เพื่อทลายภาพลักษณ์ชูกำลังเป็นเครื่องดื่มสำหรับผู้ใช้แรงงาน และมุ่งเป้าหมายขยายฐานลูกค้าไปสู่คนทำงานรุ่นใหม่ที่ต้องการ Energy เติมเต็มให้กับระหว่างวัน แต่ก็ต้องปิดฉากลงด้วยตัวของโปรดักส์สินค้าเอง

จากนี้คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า อาณาจักร “ตัน ภาสกรนที” จะมีธุรกิจอื่นๆ อีกหรือไม่ นอกจากธุรกิจเครื่องดื่ม อาหาร และอสังหาริมทรัพย์ 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา