การบริโภคไอศกรีมในเกาหลีใต้หดตัว หลังประชากรเด็กลดลง-คนรุ่นใหม่หันดื่มกาแฟเย็นแทน

แม้จะเป็นประเทศที่อากาศเย็นเกือบตลอดเวลา คนเกาหลีใต้ก็ยังชื่นชอบการบริโภคไอศกรีมจนมูลค่าตลาดพุ่งไปถึง 1.9 ล้านล้านวอน (ราว 55,000 ล้านบาท) ในปี 2556 แต่นั่นก็คงเป็นหนึ่งในช่วงที่ดีที่สุด เพราะหลังจากนี้ตลาดมันจะหดตัวลงเรื่อยๆ

ภาพจาก Flickr ของ Alpha

ไอศกรีมเสื่อมความนิยม ทำตลาดหดตัว 39.2%

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกการรับประทานของหวานมากมาย ไม่ได้มีแค่ไอศกรีม หรือเค้กเพียงไม่กี่ยี่ห้อ ยิ่งไปกว่านั้นการดื่มกาแฟเย็น หรือเครื่องดื่มเย็นอื่นๆ ก็เข้ามาทดแทนเรื่องการรับประทานของหวานเพื่อความสดชื่นเช่นกัน ทำให้กลุ่มคนทำงาน หรือวัยรุ่นไม่ได้ซื้อไอศกรีมกินเหมือนในอดีต

ขณะเดียวกันจากประชากรเด็กเกิดใหม่ที่น้อยลง ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การบริโภคไอศกรีมในเกาหลีใต้นั้นหดตัวเช่นกัน เพราะกลุ่มเด็กเป็นผู้บริโภคหลัก ดังนั้นคงไม่แปลกที่กระทรวงเกษตรของเกาหลีใต้ออกมารายงานว่า ยอดบริโภคไอศกรีมต่อหัวนั้นลดเหลือ 58 ชิ้น ในปี 2558 จากเดิมที่ 71 ชิ้นในปี 2556

สอดคล้องกับ Korea Agro-Fisheries & Food Trade Corp. ที่ออกมารายงานว่ามูลค่าตลาดไอศกรีมของเกาหลีใต้ลดจาก 1.9 ล้านล้านวอน (ราว 55,000 ล้านบาท) ลง 39.2% จากปี 2556 เหลือ 1.2 ล้านล้านวอน (ราว 35,000 ล้านบาท) ในปี 2559 ถือเป็นการหดตัวที่รวดเร็วมากในตลาดนี้

ซึ่ง CU ร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ในเกาหลีใต้ ก็ออกมายืนยันกับผลสำรวจนี้เช่นกัน เพราะยอดขายเครื่องดื่มให้ความสดชื่นเช่น กาแฟเย็น, เครื่องดื่มเกลือแร่, น้ำอัดลม และน้ำแร่ ต่างเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 20% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ต่างกับสินค้าไอศกรีมที่มียอดขายเติบโตเพียง 10% เท่านั้น

สรุป

ความเห็นส่วนตัวคือไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมอากาศก็หนาว ถึงชอบรับประทานไอศกรีมจนมีมูลค่าตลาดหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งมากกว่ามูลค่าตลาดในไทยที่มีเพียง 16,000 ล้านบาทในปี 2557 แต่ทั้งที่ไทยเป็นเมืองร้อน แต่มีมูลค่าตลาดน้อยกว่านั้นอาจมาจากค่าเฉลี่ยไอศกรีมต่อชิ้นที่อยู่ราว 20 บาทในปี 2558 ดังนั้นถึงเกาหลีจะตก แต่ประเทศไทยก็ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกเยอะ

อ้างอิง // Korea Herald, Korea Herald, ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา