สรุปสถานการณ์ธงแดง ล่าสุด ICAO ได้ปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยบนเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ถูกติดธงแดงมาตั้งแต่ มิ.ย. 2558 ส่งผลให้ธุรกิจการบินของไทยมีอุปสรรคในการบินไปหลายประเทศเป้าหมาย และ FAA ปรับลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศเป็นระดับต่ำกว่ามาตรฐาน (Category2)
ค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นกับธุรกิจสายการบินของไทย คิดเป็นมูลค่า 11,300 ล้านบาท ใน 2 ปี แต่จากการปลดธงแดง น่าจะทำให้ ญี่ปุ่น, เกาหลี และ FAA ยกเลิกการตั้งข้อจำกัดทางการบินต่อสายการบินของไทย เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับภาพรวมอุตสาหกรรมการบิน สายการบินสัญชาติไทยสามารถเปิดเส้นทางใหม่ เพิ่มความถี่เที่ยวบิน เปลี่ยนขนาดเครื่องบินและให้บริการแบบเช่าเหมาลำ (Chartered flight)
ปลดธงแดง สร้างเม็ดเงินเพิ่ม ดันอู่ตะเภาแจ้งเกิด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์การบินของไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 จะเติบโตอย่างคึกคักขึ้น จากเดิมที่ได้ทวีบทบาทอย่างน่าจับตามองในระยะที่ผ่านมา และผลดังกล่าวจะต่อเนื่องไปยังปี 2561 ให้ธุรกิจการบินของไทยเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ
คาดว่า ธุรกิจสายการบินของไทยในปี 2560 จะมีรายได้ประมาณ 278,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 1,300 ล้านบาท และน่าจะแตะ 294,500 ล้านบาท ในปี 2561 เติบโตขึ้น 8,400 ล้านบาท
ไฮไลท์สำคัญคือ อู่ตะเภา Aerotropolis หรือ เมืองการบิน เป็นโครงการยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลคาดหวังให้เป็นกลไกหลักในการพัฒนา EEC โดยเป็นการใช้จุดเด่นจากการเชื่อมโยงของท่าอากาศยานอู่ตะเภาดึงดูดการลงทุน ที่จะก่อให้เกิดเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจโดยมีท่าอากาศยานเป็นแกนหลักให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมในรัศมีโดยรอบ นำมาซึ่งจำนวนเที่ยวบิน นักท่องเที่ยว และสินค้าที่ขนส่งทางอากาศ ที่นำไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ ดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศ
ระวังปัญหาขาดบุคลากร สนามบินหนาแน่น
EIC SCB มองว่า การปลดธงแดงจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะสวยหรู เพราะจากการแข่งขันระหว่างสายการบินที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการเปิดเส้นทางใหม่ และขาดแคลนบุคลากร ซึ่ง 3 เดือนที่ผ่านมา มีการเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางยอดนิยม เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ทำให้เกิดการแย่งชิงบุคลากรการบิน เช่น นักบิน แอร์โฮสเตส วิศวกร และช่างเทคนิค
อีกทั้งยังมีปัญหาด้าน time slot และความจุของสนามบินทั้งในไทยและต่างประเทศ อาจทำให้การเพิ่มความถี่และเปิดเที่ยวบินใหม่ไม่ราบรื่นนัก ในปัจจุบัน สนามบินในไทยหลายแห่งเริ่มมี time slot ที่หนาแน่นแล้ว ประกอบกับจำนวนผู้โดยสารที่เกินขีดความสามารถในการรองรับ ในขณะเดียวกัน สนามบินในต่างประเทศ โดยเฉพาะสนามบินในเส้นทางที่ได้รับความนิยม เช่น นาริตะของญี่ปุ่น และอินชอนของเกาหลีใต้ ก็ประสบกับปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ทำให้การเพิ่มความถี่และขยายเส้นทางอาจทำได้ไม่ง่ายนัก
ดังนั้น แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับการปลดธงแดง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับโอกาสที่จะขยายตัวมากขึ้นด้วย
source: EIC SCB, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา