ชื่อ “ปฐมา จันทรักษ์” อาจไม่คุ้นเคยสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่สำหรับคน IT ยุคก่อนๆ เชื่อว่าต้องจำเธอได้แน่ๆ ยิ่งการเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนล่าสุดของ IBM ประเทศไทย ก็ยิ่งน่าสนใจว่าเธอจะมาพลิกโฉมอะไรบ้าง
6 สัปดาห์ในตำแหน่งใหม่ และที่ทำงานใหม่
ก่อนเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ IBM ประเทศไทย “ปฐมา จันทรักษ์” มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรม IT อย่างยาวนาน เริ่มตั้งแต่ Seagate, Shinawatra Datacom และ Microsoft ซึ่งบริษัทสุดท้ายนั้นเธอเป็นทั้งผู้จัดการประจำประเทศไทย และ GM เกี่ยวกับ Worldwide Software Asset Management and Compliance
“เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งนี้ใน IBM ประเทศไทยเป็นสัปดาห์ที่ 6 หลังจากใช้ชีวิตอยูในสหรัฐอเมริกากับ Microsoft หลายสิบปี ซึ่งการกลับมาครั้งนี้ไม่ได้มาแค่เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ แต่ยังได้รับมอบหมายให้เป็นรองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีนด้วย ถือเป็นตำแหน่งที่ไม่เคยมีมาก่อน” ปฐมา เล่าให้ฟัง
อย่างไรก็ตามการกลับมาประเทศไทยพร้อมตำแหน่งนายใหญ่ของ IBM ไทย และอินโดจีน (ลาว, กัมพูชา,ไทย และเมียนมา) ครั้งนี้ท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะปัจจุบันโลกกำลังหมุนไปที่ Disruptive Tech in the New Era หรืออะไรๆ ก็จะถูกเทคโนโลยีมาทำลายล้างทั้งหมด เช่น Bitcoin, Cloud และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกต่างๆ
เร่งตอบโจทย์ในทุกมุมที่ธุรกิจต้องการ
“ปัจจุบันข้อมูลมันเพิ่มขึ้นมาก และไม่ใช่ข้อมูลที่อยู่ในแบบแผน หรือ Structured Data เหมือนในอดีต เช่นตัวเลขต่างๆ แต่มันอยู่ในรูปแบบไร้แบบแผน หรือ Unstructured Data ที่ประกอบด้วยรูปภาพ หรือสิ่งอื่นๆ ที่เราจับมันเข้าโครงสร้างลำบาก และข้อมูลแบบนี้มันจะเพิ่มขึ้น 800% ด้วย ดังนั้นใครเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ได้ก็มีโอกาสเติบโตสูง”
นั่นจึงเป็นที่มาที่ IBM ต้องพยายามออกภาพลักษณ์เดิมๆ และพยายามเป็นเครื่องมือช่วยวิเคราะห์ Unstructured Data ได้ รวมถึงเหมาะกับแต่ละองค์กร ไม่ใช่ One Size Fit All ที่สำคัญคือต้องเอาความฉลาดของ Machine มาผนวกกับความสามารถของมนุษย์ เพื่อเดินหน้าการใช้งานเครื่องมือเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับอาวุธหลักของ IBM ก็คือ Watson ที่พัฒนามากว่า 50 ปี เพื่อตอบโจทย์การคำนวนข้อมูลในแง่มุมต่างๆ และถูกนำไปใช้จริงใน 80 ประเทศ 20 อุตสาหกรรม และมีลูกค้ากว่า 16,000 ราย ซึ่งมีประเทศไทยอยู่หนึ่งในนั้น ประกอบกับไม่ใช่แค่ธุรกิจใหญ่ๆ ใช้งาน ยังมีกลุ่มเกษตรกร และอื่นๆ ใช้งานด้วย
3 ข้อหลักในการทำตลาดภายในปี 2562
ทั้งนี้แนวคิดในการทำตลาดประจำปี 2562 ของ IBM ประเทศไทย ประกอบด้วย
- Winning with Digital Transformation ที่เป็นการรวมเครื่องมือต่างๆ ที่ IBM มีเช่น AI, Blockchain, Cloud และ Security มาผนวกกันเพื่อทำตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ
- Growing Ecosystem and Partnership หรือการหาพาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่นกลุ่มสามารถ และ iNET เพื่อให้พวกเขาช่วยเหลือในการบุกตลาด
- Indochina Expansion หรือการขยายตลาดไปทั่วพื้นที่อินโดจีน เพราะต้องการสร้างโอกาสใหม่ๆ ประกอบกับประเทศเหล่านี้ก็มีความต้องการในการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น
“ระยะห่างของประเทศในอินโดจีนนั้นมันไกลจากไทยแค่ไม่กี่ชั่วโมง ดังนั้นไทยจะเป็น Hub ในการทำตลาดของพื้นที่ ซึ่งตอนนี้เราเริ่มศึกษาแล้ว พร้อมกับตั้งเป้าว่าอีก 3 ปีข้างหน้า รายได้ของเราต้องมาจากตลาด Indochina ราว 5-10% ถือเป็นการตั้งเป้าที่ Aggressive แต่เชื่อว่ามันจะทำำได้จริง”
อย่างไรก็ตามด้วยการที่พาร์ทเนอร์ของ IBM นั้นเข้าไปทำตลาดกลุ่มอินโดจีนมา 2-3 ปีแล้ว ดังนั้นมันไม่ใช่ตลาดใหม่ โดยเบื้องต้นจะเข้าไปทำตลาดในประเทศกัมพูชาก่อน หลังจากนั้นก็เป็นลาว ก่อนปิดที่เมียนมา ซึ่งที่เมียนมามีโอกาสตั้งสำนักงานเพราะต้องปฏิบัติตามกฎมาย ส่วนที่อื่นจะเป็นการทำตลาดกับพาร์ทเนอร์
ปั้น P-Collar สร้างคนเก่งเรื่องไอทีเติมเต็มตลาด
ขณะเดียวกัน IBM ประเทศไทยก็เตรียมร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสนับสนุนให้เกิด Pathways in Technology Early College High Schools หรือ P-Tech โดยเป็นการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยี แล้วนำพวกเขามาทำงานด้าน Data Scientist หรือ Data Engineer ที่ขาดตลาดตอนนี้
“คนที่จบจากหลักสูตรนี้เราจะเรียกว่า P-Collar ที่มันอยู่ระหว่าง White กับ Blue Collar โดยพวกเขาจะเริ่มจากกพัฒนาทักษะด้าน STEM ที่เรียนมา และการจบออกมานั้นมันไม่ตกงานแน่นอน เพราะตลาดต้องการมาก นอกจากนี้เรายังลงทุนเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่ และกำลังอยู่ระหว่างหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่”
สำหรับ IBM ประเทศไทยนั้นมีพนักงาน 1,200 คน แต่ยังต้องการเข้าถึงผู้มีความสามารถทางด้านไอทีเพิ่มเติมตลอเวลา นอกจากนี้ในปี 2562 ยังมีแผนขยายตลาดไปสู่องค์กรทุกระดับ เพื่อเติมเต็มประสิทธิภาพทางด้านการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีให้กับพวกเขา
สรุป
แม้ IBM จะเป็นองค์กรเก่าแก่ แต่การปรับเปลี่ยนตัวเอง พร้อมกับเร่งเดินหน้าขยายตลาดให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของอินโดจีน ก็น่าจะสร้างโอกาสครั้งสำคัญให้กับยักษ์ไอทีรายนี้ แต่ก็น่าจะเป็นความท้าทายอีกครั้งของ “ปฐมา จันทรักษ์” ด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา