โลกหมุนกลับ? IBM เริ่มยกเลิกนโยบายให้ทำงานที่บ้าน เรียกพนักงานกลับเข้าออฟฟิศ

IBM เคยเป็นหนึ่งในองค์กรแรกๆ ที่เริ่มใช้นโยบาย “อนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน” หรือ remote workers เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กับพนักงานที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากสำนักงานของบริษัท มาตั้งแต่ทศวรรษ 1980s

ข้อมูลในปี 2009 ระบุว่า พนักงานสัดส่วนถึง 40% ของพนักงานทั้งหมด 3.8 แสนคน เลือกทำงานที่บ้านเป็นหลัก ช่วยให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเช่าสำนักงานลงได้มาก นอกจากนี้ IBM ยังมีนโยบายซื้อกิจการสตาร์ตอัพ แต่ผ่อนปลนให้พนักงานทำงานอยู่ที่เดิมโดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน

แต่นโยบายเรื่องนี้ของ IBM กำลังเปลี่ยนแปลง หลัง Michelle Peluso ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด (CMO) คนใหม่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว และธุรกิจของ IBM เองก็กำลังประสบปัญหารายได้ลดลงต่อเนื่องเรื่อยๆ ทุกไตรมาส

ภาพจาก IBM

ทีมเดียวกัน นั่งทำงานด้วยกัน เทรนด์ของออฟฟิศยุคใหม่

Peluso เคยเป็นซีอีโอของบริษัทสตาร์ตอัพสายแฟชั่น Gilt มาก่อน เธอเชื่อมันในแนวทางว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จได้ “ต้องนำคนเก่งๆ มารวมอยู่ในที่เดียวกัน” นั่นแปลว่านโยบายที่อนุญาตให้คนในทีมเดียวกัน สามารถอยู่ห่างไปคนละซีกโลก จะต้องถูกยกเลิก

Peluso เริ่มใช้นโยบายนี้กับพนักงานในฝ่ายการตลาดที่เธอเป็นคนดูแล แต่ในองค์กรขนาดใหญ่ระดับนี้ แค่ฝ่ายการตลาดของ IBM ในสหรัฐ ก็มีพนักงานมากถึง 2,600 คนแล้ว

การเปลี่ยนแปลงเริ่มจากการกำหนดว่า พนักงานฝ่ายการตลาดในสหรัฐจำเป็นต้องเข้าออฟฟิศของฝ่ายการตลาด (มีทั้งหมด 6 แห่งในสหรัฐอเมริกา) ส่งผลให้พนักงานที่ทำงานที่บ้านเป็นหลัก จำเป็นต้องเดินทางมาทำงาน หรือพนักงานที่ทำงานในออฟฟิศอื่นของ IBM ที่ไม่ใช่ 6 แห่งที่กำหนด หรืออยู่คนละออฟฟิศกับเพื่อนร่วมทีม ก็จำเป็นต้องย้ายมาอยู่ที่เดียวกัน

ถ้าพนักงานคนใดไม่ปฏิบัติตามนโยบายนี้ ทางออกเดียวก็คงเป็นการหางานใหม่

แน่นอนว่าพนักงานที่ได้รับผลกระทบย่อมไม่พอใจ และบรรดาพนักงานมองว่า IBM ใช้นโยบายเรื่องการเข้าออฟฟิศ มาบีบพนักงานให้ลาออกไปเองเพื่อลดจำนวนพนักงานลง (IBM ปลดพนักงานออกหลายชุดในช่วงหลัง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม)

เรื่องนี้ไม่สามารถฟันธงได้ง่ายนักว่าการยกเลิกระบบ remote office ของ IBM เป็นเรื่องล้าหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ IBM ต้องปรับตัวอย่างหนัก

ภาพจาก IBM Facebook

โลกหมุนกลับ หรือหมุนไปข้างหน้ากันแน่?

การปรับตัวของ IBM ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นแนวคิดขององค์กรยุคใหม่ที่ใช้ทีมขนาดเล็ก นั่งทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด ทำงานกันอย่างรวดเร็ว ปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของโลก-คู่แข่ง-คู่ค้าได้ง่าย (agile) ดังเช่นที่เราเห็นบรรดาสตาร์ตอัพใช้แนวทางนี้กัน

แต่เมื่อบริษัทที่มีพนักงานหลักหลายแสนอย่าง IBM ต้องการทำแบบนี้บ้าง คำถามคือแนวทางแบบใหม่ขัดแย้งกับแนวทาง remote workers แบบเดิมหรือไม่? เรื่องนี้จึงฟันธงได้ยากว่า remote workers กับการทำงานแบบ agile สามารถอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ อะไรก้าวหน้า อะไรล้าหลัง

โมเดลการทำงานบางประเภทอาจเหมาะกับการทำงานในแต่ละสายงาน การทำงานแบบรีโมทอาจเหมาะกับงานลักษณะเดิมๆ ที่ทำกันจนอยู่ตัวแล้ว หรือโมเดลแบบทีมขนาดเล็กนั่งทำงานด้วยกัน ควรนำมาใช้กับทีมที่ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ?

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่จะตอบเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคงเป็นผลประกอบการของ IBM นั่นเอง

ที่มา – Quartz

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา