IBM เคยเป็นหนึ่งในองค์กรแรกๆ ที่เริ่มใช้นโยบาย “อนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน” หรือ remote workers เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กับพนักงานที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากสำนักงานของบริษัท มาตั้งแต่ทศวรรษ 1980s
ข้อมูลในปี 2009 ระบุว่า พนักงานสัดส่วนถึง 40% ของพนักงานทั้งหมด 3.8 แสนคน เลือกทำงานที่บ้านเป็นหลัก ช่วยให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเช่าสำนักงานลงได้มาก นอกจากนี้ IBM ยังมีนโยบายซื้อกิจการสตาร์ตอัพ แต่ผ่อนปลนให้พนักงานทำงานอยู่ที่เดิมโดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน
แต่นโยบายเรื่องนี้ของ IBM กำลังเปลี่ยนแปลง หลัง Michelle Peluso ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด (CMO) คนใหม่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว และธุรกิจของ IBM เองก็กำลังประสบปัญหารายได้ลดลงต่อเนื่องเรื่อยๆ ทุกไตรมาส
ทีมเดียวกัน นั่งทำงานด้วยกัน เทรนด์ของออฟฟิศยุคใหม่
Peluso เคยเป็นซีอีโอของบริษัทสตาร์ตอัพสายแฟชั่น Gilt มาก่อน เธอเชื่อมันในแนวทางว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จได้ “ต้องนำคนเก่งๆ มารวมอยู่ในที่เดียวกัน” นั่นแปลว่านโยบายที่อนุญาตให้คนในทีมเดียวกัน สามารถอยู่ห่างไปคนละซีกโลก จะต้องถูกยกเลิก
Peluso เริ่มใช้นโยบายนี้กับพนักงานในฝ่ายการตลาดที่เธอเป็นคนดูแล แต่ในองค์กรขนาดใหญ่ระดับนี้ แค่ฝ่ายการตลาดของ IBM ในสหรัฐ ก็มีพนักงานมากถึง 2,600 คนแล้ว
การเปลี่ยนแปลงเริ่มจากการกำหนดว่า พนักงานฝ่ายการตลาดในสหรัฐจำเป็นต้องเข้าออฟฟิศของฝ่ายการตลาด (มีทั้งหมด 6 แห่งในสหรัฐอเมริกา) ส่งผลให้พนักงานที่ทำงานที่บ้านเป็นหลัก จำเป็นต้องเดินทางมาทำงาน หรือพนักงานที่ทำงานในออฟฟิศอื่นของ IBM ที่ไม่ใช่ 6 แห่งที่กำหนด หรืออยู่คนละออฟฟิศกับเพื่อนร่วมทีม ก็จำเป็นต้องย้ายมาอยู่ที่เดียวกัน
ถ้าพนักงานคนใดไม่ปฏิบัติตามนโยบายนี้ ทางออกเดียวก็คงเป็นการหางานใหม่
แน่นอนว่าพนักงานที่ได้รับผลกระทบย่อมไม่พอใจ และบรรดาพนักงานมองว่า IBM ใช้นโยบายเรื่องการเข้าออฟฟิศ มาบีบพนักงานให้ลาออกไปเองเพื่อลดจำนวนพนักงานลง (IBM ปลดพนักงานออกหลายชุดในช่วงหลัง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม)
เรื่องนี้ไม่สามารถฟันธงได้ง่ายนักว่าการยกเลิกระบบ remote office ของ IBM เป็นเรื่องล้าหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ IBM ต้องปรับตัวอย่างหนัก
โลกหมุนกลับ หรือหมุนไปข้างหน้ากันแน่?
การปรับตัวของ IBM ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นแนวคิดขององค์กรยุคใหม่ที่ใช้ทีมขนาดเล็ก นั่งทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด ทำงานกันอย่างรวดเร็ว ปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของโลก-คู่แข่ง-คู่ค้าได้ง่าย (agile) ดังเช่นที่เราเห็นบรรดาสตาร์ตอัพใช้แนวทางนี้กัน
แต่เมื่อบริษัทที่มีพนักงานหลักหลายแสนอย่าง IBM ต้องการทำแบบนี้บ้าง คำถามคือแนวทางแบบใหม่ขัดแย้งกับแนวทาง remote workers แบบเดิมหรือไม่? เรื่องนี้จึงฟันธงได้ยากว่า remote workers กับการทำงานแบบ agile สามารถอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ อะไรก้าวหน้า อะไรล้าหลัง
โมเดลการทำงานบางประเภทอาจเหมาะกับการทำงานในแต่ละสายงาน การทำงานแบบรีโมทอาจเหมาะกับงานลักษณะเดิมๆ ที่ทำกันจนอยู่ตัวแล้ว หรือโมเดลแบบทีมขนาดเล็กนั่งทำงานด้วยกัน ควรนำมาใช้กับทีมที่ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ?
สุดท้ายแล้ว สิ่งที่จะตอบเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคงเป็นผลประกอบการของ IBM นั่นเอง
ที่มา – Quartz
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา