จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อหุ่นยนต์ AI  “CIMON” กลายเป็นผู้ช่วยนักบินอวกาศ

หลายคนคงเคยได้ยิน IBM Watson หรือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI- Artificial intelligent) ของ IBM ที่ถูกพัฒนาให้วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก ว่าง่ายๆเป็นระบบหุ่นยนต์ที่ปรับใช้ทั่วโลกนั่นเอง ซึ่งในไทยก็มีใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ โดยรพ.บำรุงราษฎร์นำมาใช้ วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้น ล่าสุด AI ตัวนี้จะออกสู่อวกาศเป็นผู้ช่วยนักบินบนยานอวกาศแล้ว!

CIMON against the backdrop of the International Space Station

IBM Watson เบื้องหลัง “CIMON” ขึ้นแท่น AI ตัวแรกที่ขึ้นสู่โลกอวกาศ

กิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจไอบีเอ็ม คลาวด์ และโซลูชันส์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด บอกว่า ล่าสุดทาง แอร์บัส (Airbus) พัฒนา “ไซมอน” (Crew Interactive Mobile Companion หรือ CIMON) ผู้ช่วยนักบินอวกาศ ในนามของศูนย์อวกาศยานเยอรมัน (German Aerospace Center: DLR)

โดยเจ้า CIMON เป็นหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้เทคโนโลยีไอบีเอ็ม วัตสัน (IBM Watson) ซึ่งจะเป็นเหมือนคลังข้อมูลที่จำเป็นแบบพกพาได้ เพราะมีน้ำหนัก 5 กิโลกรัม ที่สำคัญเป็นระบบอัจฉริยะแบบอินเตอร์แอคทีฟ (พูดคุยตอบสนองกับนักบินอวกาศได้ทันที) โดยในเดือน มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา CIMON ทดลองใช้เป็นผู้ช่วยนักบินอวกาศ อเล็กซานเดอร์ เกิร์สต ไปสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ที่เป็นห้องปฏิบัติการลอยฟ้าซึ่งโคจรรอบโลก

รู้จัก IBM Watson ระบบ Cognitive Computing แห่งยุคข้อมูลจำนวนมหาศาล

นอกจากนี้หน้าที่ของ CIMON จะเป็นผู้บังคับการสถานีอวกาศในช่วงที่สองของการปฏิบัติการระยะเวลา 6 เดือน และจะได้รับการทดสอบบนสถานีอวกาศนานาชาติ ภายใต้ภารกิจ “ฮอไรซันส์” ขององค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency)

ภาพจาก shutterstock

กระบวนการเรียนรู้ของ CIMON

เพราะ CIMON เป็น AI จึงต้องมีการเรียนรู้เหมือนคนเรานี่ละ ดังนั้น CIMON จะต้องฝึกอบรมให้สามารถระบุสภาพแวดล้อมของตนเองได้ และสามารถระบุตัวคู่สนทนาที่เป็นมนุษย์ทำงานร่วมกันได้ด้วย ขณะเดียวกันต้องสามารถให้ข้อมูลที่นักบินอวกาศต้องการด้วย

โดยตัว CIMON จะต้องประมวลผล ข้อความ คำพูด และรูปภาพ รวมถึงช่วยดึงข้อมูลและข้อค้นพบต่างๆ มาวิเคราะห์สถานการณ์ ให้เกิดเป็นทักษะ ซึ่งต้องเรียนรู้ และทำความเข้าใจในเรื่องต่างๆด้วย เช่น CIMON มีการเรียนรู้ผังโครงสร้างตัวสถานีอวกาศนานาชาติ (โมดูลโคลัมบัส) เพื่อที่ CIMON สามารถเคลื่อนที่ไปรอบๆสถานีได้ ส่วนเวลามีการทดลอง CIMON สามารถจดจำขั้นตอนต่างๆได้ทั้งหมด แม้ว่าบางการทดลองจะมีมากกว่า 100 ขั้นตอนก็ตาม

เนื่องจาก CIMON ใช้ IBM Watson จึงเก็บข้อมูลไว้ที่ IBM Cloud และเป็นส่วนข้อมูลที่องค์กรอื่นๆ รวมถึง IBM ไม่สามารถเข้าถึงได้ ถือเป็นการรักษาความปลอดภัยในกรรมสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น

CIMON จะเป็นประโยชน์กับนักบินอวกาศอย่างไร?

CIMON มีระบบภาพและมีการแสดงออกในรูปแบบใบหน้า รวมถึงมีการตอบโต้แบบอินเตอร์แอคทีฟจะทำให้ CIMON เป็นเหมือน “เพื่อนร่วมงาน” ของลูกเรือบนอวกาศ โดยกลุ่มผู้พัฒนา CIMON คาดการณ์ว่า CIMON จะช่วยลดความเครียดของบรรดานักบินอวกาศ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ในขณะเดียวกันยังเพิ่มระดับความปลอดภัย เพราะสามารถเป็นระบบเตือนล่วงหน้าหากเกิดปัญหาทางเทคนิค

ในระยะกลาง โครงการ  CIMON จะเจาะไปที่ผลทางจิตวิทยา ว่าเมื่อมีภารกิจระยะยาว ทีมงานจะมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับ CIMON อย่างไร ในขณะที่นักพัฒนา  CIMON ซึ่งมีการติดตั้งภาวะความฉลาดทางอารมณ์แล้วก็มั่นใจว่า การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ จะส่งผลดีต่อความสำเร็จของภารกิจ และพัฒนาสู่งานทางการแพทย์และด้านพยาบาลในอนาคต

ที่มา IBM, SciNews

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา