หรือว่าอนาคตของขนส่งมวลไทยจะไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง ?
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แห่งพรรคอนาคตใหม่ เสนอว่า อนาคตของขนส่งมวลชนไทยคือ “ไฮเปอร์ลูป” ว่าแต่มันคืออะไร และมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?
ไฮเปอร์ลูปคืออะไร?
ไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) คือเทคโนโลยีการขนส่งรูปแบบใหม่ ซึ่งได้รับการเสนอแนวคิดมาจาก Elon Musk เจ้าพ่อแห่งวงการไอทีและผู้ก่อตั้ง Tesla ตั้งแต่ปี 2013 โดยหน้าตาของไฮเปอร์ลูปจะเป็นท่อแคปซูล และใช้พลังแม่เหล็กไฟฟ้าในการขับเคลื่อนภายใต้สภาวะสุญญากาศ ทำให้แรงเสียดทานมีน้อยมาก จึงเดินทางได้รวดเร็ว ในทางทฤษฎีเชื่อกันว่าสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ความเป็นไปได้มีแค่ไหน สร้างในไทยได้จริงหรือ?
หลังจากที่ได้ทวีตโชว์รายงานการศึกษาความเป็นไปได้เรื่องไฮเปอร์ลูปในไทยมาแล้ว 2 ครั้ง ล่าสุด ก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้งทั่วไปเพียง 10 วันเท่านั้น พรรคอนาคตใหม่จัดงานดึงกระแสเพื่อชูแนวคิดนี้ในหัวข้อ “ไฮเปอร์ลูป : ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย” โดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมและผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่
ธนาธร เริ่มต้นด้วยการบอกว่า พรรคอนาคตใหม่ได้ร่วมมือกับ TransPod สตาร์ทอัพไฮเปอร์ลูปจากแคนาดามาเป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้ว (เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2018) แต่ด้วยข้อจำกัดของกฎหมายเลือกตั้ง ทำให้ไม่สามารถลงลึกถึงรายละเอียดได้ทั้งหมดในวันนี้ แต่ถึงอย่างไรพรรคอนาคตใหม่ก็จะเปิดเผยรายงานความเป็นไปได้เรื่องไฮเปอร์ลูปแบบละเอียดต่อสาธารณะหลังวันเลือกตั้ง โดยวางไว้ว่าจะเป็นวันที่ 1 เมษายนนี้
- “เทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปคือหนึ่งในหลายความเป็นไปได้ที่จะทำให้ประเทศไทยมุ่งหน้าสู่อุตสาหกรรมใหม่”
เมื่อถามว่า การสร้างไฮเปอร์ลูปในประเทศโดยคนไทย จะเป็นไปได้หรือไม่ ธนาธรบอกว่า “เป็นไปได้แน่นอน” พร้อมทั้งบอกว่าหากได้เริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ (ปี 2019) ตามโรดแมปของอนาคตใหม่ จะทำให้เกิดการใช้งานได้จริงภายในปี 2030 และที่สำคัญคนไทยทำได้เอง เป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เกิดการจ้างงานมหาศาล
ด้านของ สุรเชษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมของพรรคอนาคตใหม่ บอกว่า ไฮเปอร์ลูปคืออนาคตใหม่ของการเดินทาง ถือเป็นเทคโนโลยีการเดินทางรุ่นที่ 5 ของโลก เป็นการเดินทางด้วยท่อ โดยถ้าคำนวณต้นทุนในการสร้างจะมีราคาถูกกว่าการสร้างรถไฟความเร็วสูง เช่น ค่าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจะอยู่ที่ประมาณ 727 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ในขณะที่ไฮเปอร์ลูปจะอยู่ที่ประมาณ 598 ล้านบาทต่อกิโลเมตรเท่านั้น
โรดแมปไฮเปอร์ลูปของอนาคตใหม่
โรดแมปของพรรคอนาคตใหม่ในการสร้างไฮเปอร์ลูป แบ่งออกเป็น 3 เฟสใหญ่คือ
- หากได้เริ่มทำในปี 2019 เป็นต้นไป ในช่วงประมาณ 3 – 4 ปีแรก จะใช้ในการวิจัยและทดลองใช้งานจริง โดยจะสร้างท่อความยาว 10 กิโลเมตรเพื่อทดสอบ
- ในปี 2021 จะได้เห็นรถต้นแบบรุ่นแรก จากนั้นจะทำการขอใบอนุญาตและดึงเอกชนเข้ามาลงทุนร่วมด้วย
- หากเป็นไปตามแผนนี้และประสบความสำเร็จ ในปี 2030 พรรคอนาคตใหม่บอกว่า จะสามารถเปิดใช้งานไฮเปอร์ลูปได้จริง
ไฮเปอร์ลูป VS รถไฟความเร็วสูง
พรรคอนาคตใหม่เปรียบเทียบแผนการสร้างไฮเปอร์ลูปกับรถไฟความเร็วสูง
- ค่าก่อสร้างไฮเปอร์ลูป 598 ล้านบาทต่อกิโลเมตร : ค่าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 727 ล้านบาทต่อกิโลเมตร
- ราคาค่าโดยสารของไฮเปอร์ลูปจะอยู่ที่ประมาณ 1,012 บาทต่อเที่ยว : ราคาค่าโดยสารของรถไฟความเร็วสูง 1,090 บาทต่อเที่ยว
- ความเร็วสูงสุดของไฮเปอร์ลูป 1,100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง : ความเร็วสูงสุดของรถไฟความเร็วสูง 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- เดินทางจากรุงเทพไปเชียงใหม่ด้วยไฮเปอร์ลูป 52 นาที : เดินทางจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ด้วยรถไฟความเร็วสูง 3 ชั่วโมง
ประโยชน์จากการสร้างไฮเปอร์ลูป มีอะไรบ้าง?
พรรคอนาคตใหม่อธิบายถึงประโยชน์ของการสร้างไฮเปอร์ลูปว่า นอกจากจะเป็นการสร้างขนส่งมวลชนรูปแบบใหม่ซึ่งถือเป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่แล้ว ยังจะก่อให้เกิดการจ้างงานและเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
พรรคอนาคตใหม่ประมาณการณ์ตัวเลขไว้ดังนี้หากสร้างไฮเปอร์ลูปได้จริงจะเกิด:
- ผลประโยชน์เชิงเศรษฐศาสตร์ 971,495 ล้านบาท
- ผลประโยชน์ต่อ GDP ประเทศไทย เพิ่มขึ้น 713,685 ล้านบาท
- การจ้างงานเพิ่มขึ้น 183,780 ตำแหน่ง แบ่งเป็นการจ้างงานโดยตรง 1.5 แสนตำแหน่ง การจ้างงานโดยอ้อม 3.4 หมื่นตำแหน่ง และอื่นๆ อีกประมาณ 2.1 หมื่นตำแหน่ง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา