จาก Work from Home ถึง Hybrid Work Model เทรนด์การทำงานที่ “เลือก” ได้มากขึ้น

  • สำหรับคนที่ Work from Home ยาวๆ แล้วพบว่ามีปัญหา คุณภาพชีวิตลดลง หมดไฟ นายจ้างใช้งานมากขึ้น หาสมดุลในชีวิตส่วนตัวและงานได้ยาก
  • องค์กรที่พบว่า การ Work from Home ไม่ได้ดีที่สุด แต่จะเข้าออฟฟิศแบบเดิมๆ ก็ไม่ตอบโจทย์อีกแล้ว
  • เกิดเป็นนโยบายการทำงาน Hybrid Work Model อนุญาตให้พนักงานเลือกวันทำงานระหว่างที่บ้านและที่ออฟฟิสในช่วงระหว่างสัปดาห์ได้ เป็นเทรนด์ที่กำลังมีการทดลองใช้จริง
  • แม้ทิศทางดังกล่าวจะตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ก็มีหลายโจทย์ที่ต้องคิดเพิ่ม ทั้งโดยตัวกิจการและพนักงานเอง เพราะจะมีผลต่อการวางแผนอนาคต

hybrid work model

ภาคธุรกิจมีความคุ้นชินกับ Work from Home มากขึ้น

ท่ามกลางกระแสการระบาดหลายระลอกของไวรัสโควิดทั่วโลกในช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมานั้น ผลสำรวจโดย Upwork Pulse Survey (ธันวาคม 2563 โดยสำรวจผู้จัดการฝ่ายบุคคลที่ดูแลด้านการรับพนักงานใหม่จำนวน 1,000 คน) พบว่า พนักงานภาคธุรกิจในสหรัฐฯ มีความคุ้นชินและยอมรับการทำงานระยะไกล (Remote Work) มากขึ้นในมิติต่างๆ โดย 56.8% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ยังคงทำงานจากที่บ้านทั้งหมดหรือบางส่วน 

ขณะที่ หากเทียบกับช่วงเดือนเมษายน 2563 ที่เป็นช่วงของการเริ่มระบาดของไวรัสรอบแรก พบว่า

  • 68% รู้สึกว่าการทำงานระยะไกล มีความราบรื่น มากกว่ารอบแรก ซึ่งสะท้อนความกังวลต่อประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลง
  • ประโยชน์ของการทำงานระยะไกล 3 อันดับแรก คือ การลดการประชุมที่ไม่จำเป็นลง ทำให้ตารางการทำงานยืดหยุ่นมากขึ้น และไม่ต้องเดินทาง
  • ใน 5 ปีข้างหน้า ผู้ตอบคาดว่า สัดส่วนการทำงานระยะไกลแบบ Fully Remote จะมีสัดส่วนประมาณ 22.9% ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดที่ประมาณ 12.3% ขณะที่แบบ Partially Remote จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาที่ 14.6% ของพนักงานทั้งหมด เทียบกับช่วงก่อนโควิดที่ประมาณ 8.9%
  • ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ ธุรกิจเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จ้าง Freelancer มากขึ้นจาก 12.3% ในช่วงก่อนโควิด มาเป็น 41.8% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 
ภาพจาก Unsplash โดย Mimi Thian

ผลสำรวจข้างต้น สอดคล้องกับทิศทางของหลายบริษัทในต่างประเทศที่ทยอยปรับนโยบายการทำงาน โดยข้อมูลจาก EFMA ได้ชี้ถึงตัวอย่างในภาคธนาคาร ได้แก่

  • DBS ในสิงคโปร์ที่อนุญาตให้พนักงานทำงานระยะไกลได้ 40% ของเวลาการทำงานทั้งหมด
  • ธนาคาร Danske ในเดนมาร์ค ที่อนุญาตให้พนักงานเลือกว่าอยากเข้าทำงานกี่วันในออฟฟิส หลังสำรวจแล้วพบว่า 92% ของพนักงานต้องการทำงานจากที่บ้านเฉลี่ยประมาณ 2 วันต่อสัปดาห์
  • ธนาคาร Standard Chartered สำรวจแล้วพบว่า 80% ของฟังก์ชั่นการทำงาน สามารถมีลักษณะการทำงานที่ยืดหยุ่น จึงทำให้เตรียมเสนอนโยบายการทำงานในลักษณะดังกล่าวทั้งในปีนี้และปีหน้า โดยให้พนักงานเลือกเวลาและสถานที่ทำงานได้เอง ก่อนที่จะเพิ่มความครอบคลุมพนักงานในประเทศต่างๆ มากขึ้นในอนาคต
  • Citigroup ที่มองว่าพนักงานสามารถทำงานที่บ้านภายใต้ Hybrid Work Model หากสามารถสื่อสารกับหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานได้อย่างราบรื่น
  • ธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่สายการเงิน ก็มีนโยบายไปในทิศทางที่คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Microsoft, Ford, Google เป็นต้น

ขณะที่ คาดว่าสำหรับไทยนั้น บริษัทต่างๆ คงทยอยขบคิดในประเด็นเหล่านี้ เพื่อพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาวะการณ์ทางธุรกิจและเงื่อนไขการทำงานของพนักงานที่เหมาะสมเป็นการเฉพาะต่อไป

ภาพจาก Shutterstock

Hybrid Work Model ก็มีสิ่งที่ต้องแลกและขบคิดเพิ่ม…

การทำงานจากที่บ้าน ก็ทำให้พนักงานบางกลุ่มรู้สึกลบกับชีวิตได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิตที่ลดลง รู้สึกว่าปริมาณงานมากไปหรือ Burn Out  บริษัทนายจ้างมีความต้องการในงานมากขึ้น รวมถึงปัญหาในการไม่สามารถ Balance ระหว่างชีวิตส่วนตัวและงานได้ 

แน่นอนว่า การทำงานระยะไกลนี้ ไม่ได้เหมาะสมกับทุกฟังก์ชั่นของงานและทุกธุรกิจ อาทิ งานบริการ หรืองานที่ต้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดด้าน IT ยังคงต้องประจำอยู่เป็นหลักแหล่ง

สำหรับเจ้าของกิจการหรือบริษัท สิ่งที่ต้องคิดต่อคือ ความจำเป็นในการปรับขนาดลดขนาดสถานที่ทำงานเดิม หรือเพิ่มเติม Working Space แห่งอื่นๆ รวมถึงความพร้อมด้านอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของวิถีการทำงานแบบใหม่นี้ โดยเฉพาะหลังจากเราสามารถเดินหน้าการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องของการสื่อสารภายในองค์กร วัฒนธรรมองค์กร และระบบการบริหารการปฏิบัติงานของพนักงานต่างๆ ด้วย

ภาวะหมดไฟ burnout ภาพจาก Shutterstock

สำหรับพนักงานแล้ว แม้รูปแบบการทำงานใหม่นี้ จะตอบโจทย์ชีวิตของหลายคน แต่ก็อาจหมายถึงนโยบายการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไป มาสู่การจ้างในรูปแบบสัญญาจ้างแทนที่จะเป็นพนักงานประจำ หรือการปรับอัตราค่าจ้างที่ให้เหมาะสมกับสภาพชีวิตที่มีความจำเป็นลดลง ทั้งสำหรับการเดินทาง หรือใช้ชีวิตในเมืองหลวงที่มีค่าครองชีพแสนแพงแบบเดิม

สำหรับไทยแล้ว ผู้มีงานทำในรูปแบบ Freelancer หรือทำงานส่วนตัว อยู่ที่ประมาณ 12.7 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 32.3% ของกำลังแรงงานรวมทั้งประเทศ (ข้อมูลปี 2563) และคงจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

ขณะที่หากเทรนด์ดังกล่าวชัดเจนขึ้นจริง ก็คงจะกระทบต่อการวางแผนอนาคตที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ ควรเลือกทำงานที่บ้านหรือที่ทำงานวันไหน หากแต่รวมไปถึงการวางแผนชีวิตและวางแผนการเงินใหม่ด้วย เพราะอาชีพและรายได้อาจมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขการจ้างงานที่อาจเปลี่ยนแปลงไปได้

ขอบคุณข้อมูลจาก EFMA, Upwork, YMCA WorkWell, Harvard Business Review, กรมสุขภาพจิต

Disclaimer

รายงานวิจัยนี้จัดทำโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (“KResearch”) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว 

ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา