รู้จัก Hybrid Food จากนักวิทยาศาสตร์ชาวเกาหลีใต้ คิดค้นเมล็ดข้าวที่เพาะกล้ามเนื้อและไขมันจากเนื้อสัตว์แทรกไว้ในเมล็ดข้าวแล้วเรียบร้อย
อาหาร Hybrid ชนิดใหม่นี้ถูกเผยแพร่ลงนิตยสาร Matter เมื่อวันวาเลนไทน์ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการคิดค้นดังกล่าวก็คือ การคิดค้นอาหารที่จะเป็นโปรตีนทางเลือก ราคาจับต้องได้ แถมปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาน้อยกว่าเพาะปลูกข้าวทั่วไป
Sohyeon Park ผู้ทำงานศึกษาชิ้นนี้ตามคำแนะนำของ Jinkee Hong จากมหาวิทยาลัย Yonsei เกาหลีใต้ กล่าวว่า ให้ลองจินตนาการดูว่า ถ้าได้รับสารอาหารทั้งหมดจากข้าวที่มีโปรตีนจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ไว้จะเป็นอย่างไร? ข้าวถือว่ามีสารอาหารสูงอยู่แล้ว แต่เพิ่มเซลล์จากเนื้อสัตว์เข้าไปอีก ก็ยิ่งทำให้ผู้คนได้รับสารอาหารมากกว่าเดิม
สำหรับในตัวของสัตว์ จะมีโครงสร้างทางชีวภาพที่ช่วยส่งเสริมให้เซลล์เติบโตได้สามมิติเพื่อสร้างเนื้อเยื่อและอวัยวะ การเพาะเลี้ยงเซลล์จากการเพาะเนื้อสัตว์ ทีมนักวิจัยต้องจำลองสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับเซลล์ด้วยการใช้ข้าว ซึ่งเมล็ดข้าวมีลักษณะที่เป็นรูพรุนและมีโครงสร้างที่เป็นระเบียบ สามารถเป็นโครงสร้างที่เป็นรากฐานในการเพาะเซลล์จากสัตว์ตามซอกมุมของเมล็ดข้าวได้ ทั้งยังพบอีกว่าโมเลกุลบางชนิดในเมล็ดข้าวนั้นยังส่งเสริมให้เซลล์เหล่านี้เจริญงอกงามได้ด้วย ทำให้ข้าวกลายเป็นแพลตฟอร์มตามอุดมคติ
ทีมวิจัยเริ่มใช้เจลาตินจากปลามาเคลือบเมล็ดข้าว ถือว่ามีความปลอดภัยและทำให้เซลล์ยึดติดกับเมล็ดข้าวได้ดีขึ้น หลังจากนั้นก็นำกล้ามเนื้อและสเต็มเซลล์จากวัวไปเพาะในเมล็ดข้าว เลี้ยงไว้ในจานเพาะเชื้อเป็นเวลา 9-11 วันเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย ก็คือข้าวที่มีการเพาะเลี้ยงเซลล์จากเนื้อวัว โดยให้ส่วนผสมเป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัย มีความเสี่ยงต่ำที่จะนำไปสู่การแพ้อาหาร
ปริมาณแตกต่าง กลิ่นก็ต่างตามไปด้วย
สำหรับเมล็ดข้าวที่มีการเพาะเลี้ยงเซลล์จากเนื้อวัวนี้ จากนี้จะเรียกย่อๆ ว่า Beef rice นักวิจัยได้พยายามวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ กลิ่น และเนื้อสัมผัส พบว่า ข้าวพันธุ์ผสมหรือ Hybrid rice นี้ มีโปรตีนมากกว่า 8% มีไขมันมากกว่าข้าวปกติ 7% เมื่อเปรียบเทียบเนื้อสัมผัสแล้วพบว่า มีความเหนียวและนุ่มกว่า มีความหนาแน่นกว่าและเปราะกว่า
Hybrid rice ที่มีเซลล์กล้ามเนื้อวัวในปริมาณที่มากกว่า จะมีกลิ่นคล้ายเนื้อวัวผสมกับกลิ่นอัลมอนต์ ขณะที่เมล็ดข้าวที่มีปริมาณไขมันมากกว่าจะมีกลิ่นที่มีส่วนผสมคล้ายครีม เนย และน้ำมันมะพร้าว
Park เล่าว่า โดยปกติเราต้องการโปรตีนจากการทำปศุสัตว์หรือการทำเกษตรกรรมจากการเลี้ยงสัตว์ แต่การทำปศุสัตว์ต้องอาศัยทรัพยากรและน้ำเป็นจำนวนมาก ซึ่งนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก ทางทีมนักวิจัยจึงคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในจำนวนที่น้อยลง ในราคาที่ถูกกว่า
อาหารแห่งอนาคต
การผลิตโปรตีนทุกๆ 100 กรัมจาก Hybrid rice หรือข้าวผสมที่คิดค้นขึ้นมานี้ จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า 6.27 กิโลกรัม ขณะที่ถ้าเป็นเนื้อวัว จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 49.89 กิโลกรัม ในเชิงพาณิชย์ ข้าวพันธุ์ผสมหรือ Hybrid rice จะมีราคา 2.23 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 80.40 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเป็นเนื้อวัว จะมีราคาถึง 14.88 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 536 บาทต่อกิโลกรัม
ทีมนักวิจัยระบุว่า การทำข้าวผสมเนื้อ (Hybrid meat rice) จะมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางอาหารต่ำ และยังง่ายต่อการผลิตด้วย กว่าเมล็ดข้าวจะตกถึงกระเพาะอาหาร ทีมนักวิจัยต้องวางแผนอย่างดีเพื่อจะสร้างสภาวะแวดล้อมให้เมล็ดข้าวที่สอดแทรกไปด้วยกล้ามเนื้อสัตว์และไขมันเติบโตได้ ซึ่งมันช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการอาหารด้วย
Park ระบุว่า เขาไม่ได้คาดหวังว่าเซลล์จะเติบโตได้ดีในเมล็ดข้าว แต่เห็นความเป็นไปได้ของเมล็ดพันธุ์ที่สามารถทำเป็น Hybrid food ได้ สักวันหนึ่งมันอาจจะกลายเป็นอาหารที่ช่วยบรรเทาความอดอยาก ความแร้นแค้น หรือเป็นอาหารฉุกเฉินในสมรภูมิรบ หรือใช้ทานในอวกาศได้
แนวคิดสำหรับการพัฒนาข้าวพันธุ์ผสม
เป็นแนวคิดที่ต้องการเน้นเรื่องการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน โดยเน้นการพัฒนาอาหารเพื่ออนาคต ซึ่งมีปัจจัยภายนอกหลายเรื่องประกอบกัน ทั้งเรื่องความกังวลด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงจากโรคระบาด สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และการขาดแคลนทรัพยากร ภายใต้ระบบของอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้มนุษย์พ้นจากวิกฤตทางอาหารที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Bio & Medical Technology Development Program จากสถาบันวิจัยแห่งชาติ (NRF) ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ, กองทุนพัฒนายาแห่งเกาหลี, กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน, กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ และมูลนิธิวิจัยแห่งชาติเกาหลีซึ่งได้รับทุนจากรัฐบาลเกาหลี
ที่มา – EurekAlert, Cell Matter
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา