การค้ามนุษย์ ใช้แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานเด็ก ค้าประเวณี ปัญหากระทบเศรษฐกิจที่ไทยต้องเร่งแก้

ปัญหาความเท่าเทียมกันในสังคมและสิทธิมนุษยชน ถือเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของการค้ามนุษย์ (Human Trafficking) ที่มีการแสวงหาประโยชน์ที่ผิดกฎหมายผ่านการล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย การใช้แรงงานเด็ก หรือการค้าประเวณี ซึ่งยังคงพบเห็นการกระทำดังกล่าวในหลายประเทศ 

kbank

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) ระบุว่า สหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) เป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก โดยทุก ๆ ปี กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ จะมีการจัดทำรายงานการค้ามนุษย์ หรือ Trafficking in Persons Report (TIP Report) เผยแพร่ต่อสาธารณชนทั่วโลก ตามแนวทางของกฎหมาย Trafficking Victims Protection Act of 2000 (TVPA) ที่เน้นการให้ความสำคัญกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ อาทิ การล่อลวงทางเพศหรือการค้าประเวณีในเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 การบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ จะมีการประสานงานร่วมกับรัฐบาลของหลายประเทศในการเข้าประเมินการดำเนินการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ รวมถึงการให้คุ้มครองสิทธิของแรงงานอย่างเป็นธรรมว่ารัฐบาลแต่ละประเทศมีความจริงจังมากน้อยแค่ไหน และจะมีการประกาศการจัดระดับการแก้ไขปัญหาของแต่ละประเทศ ออกเป็น 4 ระดับด้วยกัน ได้แก่ 

  • Tier 1 คือ ประเทศที่รัฐบาลมีการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมาย TVPA
  • Tier 2 คือ ประเทศที่รัฐบาลมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่ยังไม่สอดคล้องตามมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมาย TVPA 
  • Tier 2 Watchlist คือ ประเทศที่รัฐบาลมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์แต่ยังไม่สอดคล้องตามมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมาย TVPA อีกทั้งมีเหยื่อจากการค้ามนุษย์เป็นจำนวนมาก และไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติเพื่อลดปัญหาการค้ามนุษย์ที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
  • Tier 3 คือ ประเทศที่รัฐบาลไม่มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเพียงพอ และไม่สอดคล้องตามมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมาย TVPA กำหนด 

human trafficking

หากประเทศใด ถูกจัดกลุ่มเข้าสู่ระดับ Tier 3 จะมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียความช่วยเหลือต่าง ๆ (ที่ไม่ใช่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและด้านการค้า) จากสหรัฐฯ รวมถึงอาจถูกคัดค้านการได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ธนาคารโลก ที่สหรัฐฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีกด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ เคยจัดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยอยูในระดับ Tier 3 ในช่วงปี 2557-2558 จากปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะในภาคประมง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่สหภาพยุโรป ได้ให้ใบเหลืองกับไทย จากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ที่มีการค้ามนุษย์ในภาคประมงรวมอยู่ด้วย (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) ทำให้เกิดกระแสการแบนหรือแอนตี้สินค้าประมงของไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ในช่วงปี 2558 และทำให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาในภาคประมงอย่างจริงจัง จนไทยสามารถได้รับการจัดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ให้กลับมาสู่ระดับ Tier 2 ได้ในปี 2561 และได้รับการปลดใบเหลือง IUU Fishing เมื่อต้นปี 2562

อุตสาหกรรมประมงของไทยนั้น ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา (2555 – 2564) มีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 2.17 ล้านล้านบาท และมีปริมาณการส่งออกเฉลี่ยต่อปีมากถึง 1.7 ล้านตัน ซึ่งตลาดส่งออกสินค้าประมงหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อาเซียน และจีน (ที่มา: การค้าสินค้าประมงไทยในรอบ 10 ปี (2555 – 2564) โดยกรมประมง) โดยเฉพาะตลาดส่งออกปลาทูน่ากระป๋องซึ่งไทยถือเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก (ที่มา: จาก Globefish Highlights International Markets on Fisheries and Aquaculture Products, Food and Agriculture Organization (FAO)) โดยในปีที่ผ่านมามีการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องถึง 4.45 แสนตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 5.6 หมื่นล้านบาท (ที่มา: ข้อมูลการค้าสินค้าประมงไทยในรอบ 10 ปี (2555 – 2564) โดยกรมประมง) โดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าอันดับที่ 1 ของไทย

human trafficking

ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศรายงาน TIP Report 2022 โดยได้ปรับเพิ่มระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยขึ้นสู่ระดับ Tier 2 จาก Tier 2 Watchlist โดยทางสหรัฐฯ ได้มองเห็นถึงความพยายามของรัฐบาลไทยในการแก้กฎหมายและกระบวนการเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ การให้ความสำคัญกับการสอบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดจากการค้ามนุษย์ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์  อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยยังควรต้องเฝ้าระวังการกระทำที่ผิดกฎหมายและเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้แรงงานผิดกฎหมายในภาคประมงที่มีการระบุในรายงานว่าอาจยังไม่เพียงพอ รวมไปถึงปัญหาการใช้แรงงานเด็ก และปัญหาการคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือลักลอบการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามชายแดน  ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็ต้องเร่งให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนและให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากกระแสการต่อต้านการซื้อสินค้าและนำมาซึ่งความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจขององค์กรได้อย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ หากพิจารณาการจัดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในกลุ่มประเทศอาเซียนในปี 2565 แล้วจะพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงระดับในหลายประเทศ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ได้ยกระดับดีขึ้นเป็น Tier 2 เทียบเท่ากับ ลาว  ส่วนอินโดนีเซีย ถูกลดระดับจาก Tier 2 ลงสู่ Tier 2 Watchlist และ บรูไน กัมพูชา เวียดนาม ถูกลดระดับลงจาก Tier 2 Watchlist มาอยู่ที่ Tier 3 เทียบเท่า มาเลเซีย เมียนมาร์ ขณะที่ ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ยังสามารถคงระดับ Tier 1 ได้อย่างต่อเนื่อง โดยประเทศที่ที่อยู่ในระดับ Tier 1 มีจำนวน 30 ประเทศ ระดับ Tier 2 มีจำนวน 99 ประเทศ ระดับ Tier 2 Watchlist มีจำนวน 34 ประเทศ และ ระดับ Tier 3 มีจำนวน 22 ประเทศ (https://www.state.gov/reports/2022-trafficking-in-persons-report/

ระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ภายใต้ TIP Report ของประเทศในกลุ่มอาเซียน

kbank

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา