เมื่อมนุษย์มีความใส่ใจต่ำกว่าปลาทอง แล้วคนในธุรกิจสื่อจะอยู่อย่างไร

หลายคนคงเห็นการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสื่อในประเทศไทยปีนี้ว่าวิกฤติขนาดไหน เพราะตั้งแต่ต้นปีก็มีข่าวร้ายในวงการนี้นับไม่ถ้วน ทั้งเลิกกิจการ, ถูกควบรวม รวมถึงกรณีไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ซึ่งหลายคนในธุรกิจสื่อก็คงโทษการมาของ New Media จนรายเก่าๆ ปรับตัวไม่ทัน แต่จะจริงแท้แค่ไหน ลองมาศึกษาไปด้วยกัน

ภาพ Microsoft
ภาพ Microsoft

ความสนใจของมนุษย์เหลือแค่ 8 วินาที

ข้อมูลของ Microsoft Consumer Study รายงานว่า ในปี 2543 ความสนใจของคนเราในแต่ละเรื่องจะมีค่าเฉลี่ยที่ 12 วินาที แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 8 วินาทีเท่านั้น ซึ่งค่าเฉลี่ยนี้น้อยกว่าความสนใจของปลาทองที่อยู่ราว 9 วินาทีเสียอีก อาจเพราะเมื่อเทียบการรับข้อมูลจากสื่อต่างๆ มีมากกว่าเดิม ผ่านทั้งสื่อดั้งเดิม หรือ New Media และสื่อใหม่ หรือ Social Media จนทำให้ผู้คนมีสิทธิ์เลือกรับสื่อ และสามารถข้ามสิ่งที่ไม่น่าสนใจได้อย่างรวดเร็ว เพื่อไปเสพอะไรที่เข้ากับตนเองมากกว่า

และคงไม่แปลกที่จะเห็น New Media พยายามปรับตัวเองจากสื่อดั้งเดิม สู่โลกออนไลน์ เพื่อรักษายอดโฆษณาที่ถือเป็นรายได้หลักของธุรกิจเอาไว้ เนื่องจากปัจจุบันเม็ดเงินโฆษณาเริ่มไหลไปทางออนไลน์มากขึ้น แต่ด้วยความคุ้นชินในการทำงานแบบเดิม ทำให้กลุ่ม New Media ยังจับทางในการไปสู่โลกออนไลน์ได้ไม่เต็มที่ และจากจุดนี้จึงเกิดสื่อออนไลน์หน้าใหม่กันมากขึ้น เช่น BuzzFeed กับ Business Insider หรือถ้าในไทยตอนนี้ที่เห็นกันชัดๆ ก็ The Matter กับ The Momentum

ภาพ pixabay.com
ภาพ pixabay.com

โอกาสที่ความสนใจจะลดลงอีกยังมีสูง

จากความเร่งรีบ, การเสพข้อมูลได้หลากหลาย และการทำหลายๆ สิ่งพร้อมกัน (Multitask) จึงมีโอกาสสูงที่ค่าเฉลี่ยความสนใจจะลดลงไปเหลือ 5 วินาทีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้นถ้าสื่อดั้งเดิม ทั้งสิ่งพิมพ์ และโทรทัศน์ไม่ยอมปรับตัว การจะอยู่รอดในอุตสาหกรรมนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ถ้าไม่มีฐานการขายโฆษณาที่แข็งแกร่ง และถึงจะอยู่ได้ก็คงรวดเร็วเท่ากับ Social Media ที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอด และพร้อมถาโถมข้อมูลจำนวนมากไปให้กับผู้บริโภคให้ได้เลือกเสพกันได้อย่างหลากหลาย

แต่ด้วยความหลากหลายนั้น เจ้าของ Content ใดที่สามารถทำออกมาได้ตรงใจผู้บริโภค การจะถูกใส่ใจมากกว่าค่าเฉลี่ยก็มีสูง ตัวอย่างที่ดีคือ หากเป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ การขายโฆษณาในช่วงเวลาที่ออกอากาศก็จำเป็น แต่จะขายโฆษณาได้ ก็ต้องสร้างคุณค่าให้กับรายการที่ผลิต เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกที่จะมารับชมตามเวลาที่กำหนด ซึ่งจะใช้วิธีใดก็ได้ อย่าง Workpoint ก็เริ่มใช้กลยุทธ์แพร่ภาพพร้อมกันทุก Platform หรือช่องทีวีดิจิทัล, Facebook และ Youtube โดยมองสื่อ Social Media เป็นเครื่องมือในการเตือนให้ผู้บริโภคมารับชมบนจอโทรทัศน์

ภาพ pixabay.com
ภาพ pixabay.com

สั้น – ยาวอย่างมีคุณภาพ และสร้างอารมณ์ร่วมช่วยได้

ทั้งนี้เว็บไซต์ Venturebeat ได้แนะนำทางออกของ News Media ไว้ 3 เรื่องประกอบด้วย

1.บทความต้องสั้น และต้องมีอะไรมากกว่าแค่อ่าน เพื่อให้สอดคล้องกับความใส่ใจของผู้บริโภคที่น้อยลงทุกวัน และปัจจุบันการเสพ Content ผ่านโทรศัพท์มือถือที่มีหน้าจอขนาดเล็กก็มากกว่าผ่านคอมพิวเตอร์แล้ว เช่นสำนักข่าว AP ก็ให้ผู้สื่อข่าวส่งบทความมาแค่ 300 – 500 คำเพื่อความกระชับของข่าว และเหมาะสมกับหน้าจอเล็กๆ แต่แค่เล็กก็ไม่ได้ เพราะต้องมีอะไรให้ผู้บริโภคทำร่วมไปกับการอ่านด้วย เช่นการใช้ VR รวมถึงการใช้ Chatbot เพื่อสร้างความแปลกใหม่ในการเสพสื่อ

2.ถ้าชินกับยาวๆ ต้องมาแบบ Premium เพราะ New Media ยังชินกับการเขียนบทความยาวกว่า 1,000 คำอยู่ และอาจเปลี่ยนแปลงตัวเองยาก ดังนั้นการเขียนแบบยาวๆ ก็ต้องมีคุณภาพมากขึ้น โดย เควิน เดลานีย์ บรรณาธิการบริหาร ของเว็บไซต์ Quartz อธิบายว่า ทางเว็บไซต์จะเลือกเผยแพร่บทความที่มีความยาวตั้งแต่ 500 – 1,200 คำ เพราะต้องการสื่อสารได้ชัดเจนขึ้น แต่ที่เหมาะสมจริงๆ ก็คงอยู่ที่ 700 คำแบบคุณภาพ

3.หัวต้องโดน ไม่งั้นก็โดนเลื่อนผ่าน เนื่องจากข้อมูลของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาถึง 60% เลือกที่จะอ่านเรื่องใดเรื่องหนึ่งผ่านพาดหัวที่โดนใจ ดังนั้นการสร้างอารมณ์ร่วมผ่านพาดหัวจึงเป็นเรื่องจำเป็นในการทำ Content ในยุคนี้ แต่ต้องไม่ใช่แบบ Clickbait จนเกินไป ถ้าเป็นเช่นนั้นอาจถูกมองเป็นข่าวลวง และเสี่ยงที่จะถูกลบจาก Social Media ต่างๆ ด้วย

สรุป

เมื่อทุกอย่างเร็ว ขนาดผู้บริโภคยังมีความใส่ใจในเนื้อหาน้อยกว่าปลาทองเสียอีก ดังนั้นจะทำ Content อะไรตอนนี้ต้องโดนใจภายในระยะเวลาอันสั้น และต้องมีคุณภาพเมื่อผู้บริโภคเข้าไปอ่าน หรือรับชม มิฉะนั้นก็จะเข้าไปชมเพียงผิวเผิน และไม่เกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น

ส่วนเรื่อง New Media ในประเทศจะเป็นอย่างไรนั้น เชื่อว่าทุกรายน่าจะปรับตัวกันอย่างแข็งขัน เพราะถ้าอยู่แบบเดิม ก็คงรอวันปิดตัว และหายไปจากอุตสาหกรรมนี้ในที่สุด

อ้างอิง // Our 8 second attention span and the future of news media

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา