ในปี 2015 (พ.ศ. 2558) เราเห็นการประมูลคลื่น 900MHz และ 1800MHz กันอย่างน่าตื่นเต้นเร้าใจ ก่อนที่สุดท้าย True และ AIS จะได้คลื่นไปครองกันทั้งสองย่าน ในกรณีของ AIS ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของบริษัท ที่ยอมจ่ายเงินหลักแสนล้านเพื่อการันตีการมีคลื่นความถี่ใช้งานไปอีก 15 ปี
งานหลักของ AIS ตลอดทั้งปี 2016 (พ.ศ. 2559) จึงเป็นการเร่งขยายโครงข่าย 4G จากคลื่นที่ประมูลได้ให้ครอบคลุมทั่วไทย ไล่กวดคู่แข่งที่นำหน้าไปก่อนแล้วหลายช่วงตัวในเกมนี้
ช่วงปลายปี 2016 AIS ประกาศว่าสามารถขยาย 4G ได้ครอบคลุมทั้งประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว งานสำคัญในแง่การสร้างโครงข่ายดูจะจบสิ้นลง คำถามสำคัญที่ AIS จะต้องเจอในปี 2017 นี้คือ “คลื่นมีแล้ว โครงข่ายมีแล้ว แล้วไงต่อ?”
Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับคุณฮุย เว็ง ชอง กรรมการผู้อำนวยการ (president) ผู้บริหารระดับสูงชาวสิงคโปร์ของ AIS เพื่อสอบถามมุมมองว่าพี่ใหญ่แห่งวงการโทรคมนาคมไทยรายนี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมยุคใหม่
ถาม: AIS มีคลื่นความถี่แล้ว วางโครงข่าย 4G ครอบคลุมทั่วไทยแล้ว ขั้นต่อไปจะทำอะไร
ตอนนี้ในแง่ของพื้นที่บริการ (coverage) ถือว่าครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว ขั้นต่อไปคือปรับปรุงเรื่องขีดความสามารถในการให้บริการ (capacity) เพื่อให้ลูกค้าใช้งานอินเทอร์เน็ต 4G ได้ราบรื่น ไม่มีปัญหาความเร็วตกบ่อยๆ
เป้าหมายของปี 2017 จึงเป็นการปรับปรุงเรื่องขีดความสามารถ ให้รองรับผู้ใช้บริการได้มากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีอัตราการเติบโตของการใช้งานสูง เช่น ห้างสรรพสินค้า ชุมชน พื้นที่เหล่านี้เกิดใหม่ขึ้นทุกวัน AIS ก็ต้องตามให้ทัน
ถาม: เครือข่ายของ AIS ในปัจจุบันก็ถือว่าดีในระดับหนึ่งแล้ว อยากถามว่าพอใจหรือยัง
ต้องบอกว่าความต้องการของผู้ใช้ไม่มีวันมีที่สิ้นสุด เพราะเมื่อเครือข่ายพัฒนาขึ้น ก็มีคนคิดแอพพลิเคชันและรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ เสมอ ก่อนหน้านี้เราพูดถึงการดูวิดีโอ ขั้นต่อไปก็จะก้าวสู่วิดีโอความละเอียดสูงแบบ 4K และในอนาคตก็จะมีรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ ตามออกมา
แต่ปริมาณคลื่นความถี่มีจำกัด ทางออกก็ตรงไปตรงมาคือ เราต้องหาความถี่มาเพิ่ม และใช้งานความถี่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม
ในแง่ของการหาความถี่ใหม่ๆ อันนี้คงขึ้นกับองค์กรกำกับดูแลคลื่นความถี่ด้วย แต่ในส่วนของการใช้งานความถี่ให้มีประสิทธิภาพ ทีมวิศวกรของ AIS สามารถคิดค้นเทคนิคใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา ล่าสุดคือเราร่วมมือกับ Huawei พัฒนาการส่งข้อมูลแบบ Massive MIMO 32T 32R ช่วยให้สถานีฐานหนึ่งแห่ง สามารถรองรับปริมาณผู้ใช้งานได้เพิ่มขึ้น 5-8 เท่า
เทคโนโลยีนี้อยู่ระหว่างการทดสอบ ผู้ใช้อาจยังไม่ได้ความเร็วเพิ่มขึ้นเพราะตัวเครื่องมือถือต้องรองรับด้วย แต่ในแง่การใช้งานก็จะราบรื่นขึ้น ปัญหาใช้ๆ ไปแล้วความเร็วตก เพราะคนแย่งกันใช้ก็จะลดลงไป เพราะตัวสถานีมีขีดความสามารถรองรับผู้ใช้ได้มากขึ้น (อ่านรายละเอียดทางเทคนิคได้จากบทความ รู้จักหน้าตาของเครือข่ายยุคหน้า – AIS กับการส่งข้อมูล LTE แบบ Massive MIMO 32T 32R)
ตอนนี้โลกเรายังอยู่ในยุคเทคโนโลยี 4G ย่างเข้าสู่ 5G ซึ่งคาดกันว่าน่าจะพร้อมในปี 2020 ระหว่างนี้ทีมวิศวกรของเราเองก็ต้องเตรียมความพร้อมไว้ให้มากที่สุด
ถาม: นอกจากเรื่องอินเทอร์เน็ต 4G แล้ว บริการแบบเดิมๆ อย่างการคุยด้วยเสียง ยังต้องสนใจอยู่อีกหรือไม่
เป้าหมายของ AIS คือต้องการสร้าง Best Network Experience เครือข่ายที่ดีที่สุด อีกเรื่องที่เราอยากปรับปรุงคือคุณภาพของการโทรด้วยเสียง
ในแง่ของอัตราการโทรติด (call success rate) เราทำได้ดีมานานแล้ว เป้าหมายถัดไปคือระยะเวลาที่ใช้ตอนเริ่มโทร (call setup time) ปัจจุบัน นับจากกดปุ่มโทรออกจนเริ่มได้ยินเสียงสัญญาณครั้งแรก แต่เดิมใช้เวลาประมาณ 5-6 วินาที เรามองว่ายังไม่ดีพอ ตั้งเป้าว่าต้องทำได้ 3 วินาที ตอนนี้ลดลงมาเหลือ 4 วินาทีบนเครือข่าย 3G ก็ต้องพัฒนากันต่อไป
ถ้าเป็นเครือข่าย 4G ในทางทฤษฎีควรใช้เวลาน้อยกว่า 1 วินาที ตอนนี้ของเราอยู่ที่ประมาณ 2 วินาที เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายทางวิศวกรรม ในการออกแบบการส่งข้อมูลของสถานีฐาน (cell site) ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
ถาม: ปัจจุบัน AIS หันมาทำโครงข่ายแบบมีสาย (fixed broadband) ด้วย อะไรคือเหตุผลเบื้องหลังของการทำธุรกิจนี้
ที่ผ่านมา AIS ต้องลากสายไฟเบอร์เชื่อมโยงสถานีกระจายสัญญาณมือถือไปทั่วประเทศอยู่แล้ว แต่การลงทุนลากสายเพื่อใช้งานกับมือถือเพียงอย่างเดียวก็อาจไม่ค่อยคุ้มค่านัก เราจึงขยับขยายมาทำธุรกิจ fixed broadband ด้วย เพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของบริษัท
ตอนนี้เรามีลูกค้า 3 แสนราย ปีนี้ตั้งเป้าขยายเป็น 6 แสนราย
ช่วง 2 ปีแรกของ AIS Fibre ยอมรับว่าเรายังใหม่ในตลาดนี้ เป้าหมายคือเน้นขยายพื้นที่ให้บริการให้มากที่สุด การวางแผนขยายจึงดูกระจัดกระจายอยู่บ้าง ตอนนี้เครือข่ายเริ่มอยู่ตัวในระดับหนึ่ง ก็จะเน้นโฟกัสขยายฐานลูกค้าตามพื้นที่ที่วางโครงข่ายไปแล้ว เน้นการใช้งานโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ถาม: ในตลาดมีผู้เล่นในธุรกิจบรอดแบนด์หลายราย บริการของทุกรายก็คล้ายๆ กันหมด AIS Fibre มีกลยุทธ์ในการสร้างความแตกต่างได้อย่างไร
บริการ AIS Fibre แตกต่างไปจากคู่แข่งรายอื่นๆ ตรงที่เราเป็นไฟเบอร์อย่างเดียวมาตั้งแต่ต้น ส่วนเรื่องราคาก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรามองว่าการแข่งขันเรื่องราคาจะเป็นผลดีกับผู้บริโภคในระยะยาว ให้ได้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในราคาที่ถูกลง
บริการอีกตัวที่เราเพิ่มเข้ามาคือ AIS Playbox อันนี้ต้องบอกว่าคลอดออกมาเร็วกว่าแผน เพราะเราต้องการสร้างความแตกต่างให้กับ AIS Fibre ให้เห็นชัดเจนขึ้น
อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกของ Playbox มีคอนเทนต์ไม่เยอะนัก ยังเป็นคอนเทนต์จากรายการฟรีทีวีเป็นหลัก อันนี้เรารู้ว่ายังไม่พอ ต้องซื้อคอนเทนต์มาเพิ่มอีก ซึ่งในแง่กลยุทธ์ก็ถือว่าคุ้ม เพราะซื้อคอนเทนต์ครั้งเดียว ใช้ได้กับทั้ง AIS Play บนมือถือ และ Playbox ที่เป็นกล่องเซ็ตท็อปต่อกับทีวี
อย่างไรก็ตาม การหาคอนเทนต์ที่ลูกค้ายอมจ่ายเงินไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคอนเทนต์จำนวนมากก็หาได้บนอินเทอร์เน็ต เป้าหมายของปี 2017 จึงเป็นการแสวงหาคอนเทนต์ดีที่คนต้องการ
ถาม: โอเปอเรเตอร์ทั่วโลกเริ่มต้องขยายออกจากธุรกิจเครือข่าย มาสู่ธุรกิจคอนเทนต์และบริการมากขึ้น AIS ปรับตัวอย่างไร
ธุรกิจอีกด้านที่อยากกล่าวถึงคือ ตลาดลูกค้าองค์กร ปีที่แล้วเราเปิดตัวบริการ AIS Business Cloud ที่เป็นโซลูชันไอทีสำหรับองค์กร ปีนี้ก็ต้องเน้นการทำตลาดมากขึ้น อันนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของบริษัท
นอกจากนี้ก็ยังมีบริการอย่าง Enterprise Data Services (EDS) และบริการไฟเบอร์สำหรับตลาดองค์กรด้วย
ถาม: ในฐานะที่คุณฮุย เคยผ่านงานระดับนานาชาติมาแล้วที่ SingTel (ดำรงตำแหน่งเป็น CEO International) อยากให้มองตลาดโทรคมนาคมไทย เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและตลาดอื่นๆ ของ SingTel ด้วย
ตลาดไทยเป็นตลาดที่ต่อสู้กันดุเดือดที่สุด ค่าโทรค่าแพ็กเกจถือว่าถูกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ในแง่การแข่งขัน การทำโปรโมชั่นก็ถือว่ายาก อย่างในต่างประเทศจะมีเรื่องส่วนลดค่าเครื่อง (handset subsidy) แต่อยู่ในระดับของลูกค้าโพสต์เพดเท่านั้น โอเปอเรเตอร์สามารถใช้กลยุทธ์นี้ช่วยดึงให้ลูกค้าอยู่กับตัวเองได้ แต่ในเมืองไทย การทำ handset subsidy เกิดขึ้นกับทั้งโพสต์เพดและพรีเพด เมื่อทุกรายใช้กลยุทธ์นี้กับลูกค้าทุกกลุ่มเหมือนกันหมด การแข่งขันที่ตัวบริการของมือถือจึงรุนแรงมาก
เมื่อบวกกับราคาค่าประมูลคลื่นที่แพงขึ้นมากๆ ในช่วงหลัง ก็ต้องบอกว่าตลาดไทยไม่ง่ายเลย
ถาม: AIS ก็มีการปรับโครงสร้างองค์กรเช่นกัน อย่างคุณฮุยก็ได้มารับตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการ (president) การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีผลอะไรบ้าง
ตำแหน่งและหน้าที่การงานส่วนตัวคงไม่ต่างอะไรจากเดิม แต่ที่เปลี่ยนแปลงคงเป็นโครงสร้างของคนทำงานมากกว่า อย่าง CTO เดิมเคยรับผิดชอบเฉพาะงานด้านเทคนิค แต่ตอนนี้ก็ต้องมาดูเรื่องการปฏิบัติงาน (operation) ด้วย เพื่อให้เข้าใจความต้องการของฝั่งธุรกิจ
การปรับโครงสร้างองค์กรครั้งนี้ยังมีตำแหน่งใหม่คือ Chief Strategy Officer (CSO) ที่มารับผิดชอบเรื่องการวางยุทธศาสตร์ของบริษัทโดยเฉพาะ ตอนนี้กำลังสรรหาบุคคลมาทำตำแหน่งนี้ โดยมีคุณสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ CEO รักษาการณ์ไปก่อน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา