HSBC ชี้แบงก์ชาติมีโอกาสเข็นมาตรการ QE ออกมาถ้าเศรษฐกิจไทยแย่ในครึ่งปีหลัง

เอชเอสบีซี สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อีกราย มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีโอกาสที่จะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ถ้าหากตัวเลขเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังแย่กว่าที่คาด

Thailand Royal Palace Bangkok กรุงเทพ พระบรมมหาราชวัง
ภาพจาก Shutterstock

HSBC สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ ได้ออกบทวิเคราะห์เศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 3 โดยให้มุมมองว่า สัญญาณของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 นี้อาจยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง ปัญหาหนี้ในครัวเรือนที่สูง ภาคการบริโภคที่ยังอ่อนแอ ขณะที่ภาคการลงทุนของทั้งรัฐและเอกชนยังไม่มีการส่งสัญญาณการฟื้นตัว ซึ่งปัจจัยทั้งหมดส่งผลไปยังเศรษฐกิจปีหน้า

ในบทวิเคราะห์ของ HSBC ยังชี้ให้เห็นถึงตัวเลขภาคการบริโภคในประเทศไทยที่ส่งสัญญาณอ่อนแอ โดยเฉพาะตัวเลขในเดือนเมษายน พฤษภาคม ที่เป็นตัวเลขต่ำสุดนับตั้งแต่ไทยพบกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากวิกฤติการเงินต้มยำกุ้ง ตัวเลขเงินเฟ้อลดลงจนกลายเป็นเงินฝืด ด้านการท่องเที่ยวก็ยังไม่เห็นสัญญาณของการฟื้นตัว เนื่องจากยังมีการแบนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอยู่ในขณะนี้

สำหรับภาคการเงิน ในบทวิเคราะห์ของ HSBC ยังมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 3 นี้ลงมาเหลือ 0.25% นอกจากนี้ HSBC ชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเข็นนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน (QE) เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ โดยให้เหตุผลว่านโยบายดังกล่าวจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี

อีกเหตุผลที่ HSBC เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเป็นไปได้ที่จะเข็นนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน คือ ปัจจุบันการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยของธนาคารแห่งประเทศไทยมีสัดส่วนแค่ 2.5% ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเคยถือครองมากที่สุดมีสัดส่วนถึง 12.9% ซึ่ง HSBC เชื่อว่าถ้าหากเข็นนโยบายนี้ออกมา ยังมีช่องว่างให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทำได้ แต่การเข็นนโยบายนี้ออกมานั้นตัวเลขเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะต้องแย่มากๆ

ประมาณการ GDP ของไทยปีนี้ HSBC ได้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะถดถอยที่ -8.2%  ขณะที่ในปีหน้าได้ปรับลดตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมาอยู่ที่ 3.3% เท่านั้น จากเดิมอยู่ที่ 5.4% จากสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ หนี้ครัวเรือนที่ยังถือว่าสูง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ