สวัสดีเจ้านายใหม่! “หุ่นยนต์” จะเริ่มมีบทบาทในสายงาน HR มากขึ้น เพราะตัดสินใจด้วยข้อมูล ไร้อคติ

กระแสการนำเอาหุ่นยนต์มาใช้ในงานสาย HR เพิ่มมากขึ้น เพราะหลายครั้งมนุษย์ตัดสินใจด้วยอารมณ์ เลือกคนที่ชอบ ไม่เอาคนที่ใช่ หลายบริษัทจึงเริ่มหันมาใช้หุ่นยนต์ AI ที่แม่นยำในข้อมูลอันมหาศาล ประมวลผลรวดเร็วมาทำงานแทน

สายงาน HR และผู้จัดการ กำลังถูกแทนที่ด้วย หุ่นยนต์และอัลกอริธึ่ม

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่หลายบริษัทในโลกจะนำเอาหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในการทำงาน แต่ถ้าบอกว่าเอามาแทนที่งานในสายการจัดการทรัพยากรมนุษย์หรือ HR ในองค์กร ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ เพราะเราต่างเข้าใจกันมาตลอดว่า การตัดสินใจเป็นหน้าที่ของมนุษย์ หุ่นยนต์ไม่สามารถมาทำงานอะไรแบบนี้ได้ แต่ดูเหมือนว่าวันนี้ เราคงต้องมาลองคิดเรื่องนี้กันใหม่อีกสักที

  • งานสาย HR และงานระดับผู้จัดการ (Manager) ที่ต้องดูแลบริหารคนในองค์กร โดยเฉพาะเวลาที่มีโปรเจ็กต์ใหม่ๆ มาให้ทำ การตัดสินใจเพื่อเฟ้นหา คนที่ใช่ ในงานที่ใช่ ต้องมาจากการเก็บข้อมูลและสถิติจำนวนมาก เพื่อจะทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด และแน่นอน การตัดสินใจของมนุษย์ทุกครั้งไม่ได้มาจากฐานของสถิติและข้อมูล เพราะมนุษย์มีอารมณ์และอดคติส่วนตัว

จับคู่คนที่ใช่ กับงานที่ใช่ “หุ่นยนต์ทำได้ดีกว่า” 

ลองมาดูตัวอย่างแนวโน้มบริษัทที่เริ่มนำเอา หุ่นยนต์ เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ในการทำงาน

  • เริ่มต้นที่ บริษัทด้านพลังงานรายใหญ่อย่าง Shell ที่ได้นำเอาหุ่นยนต์และอัลกอริธึ่มไปใช้ในแผนธุรกิจส่วนซ่อมบำรุงรถยนต์ เพื่อค้นหาว่าพนักงานคนใดของบริษัทที่เหมาะสมกับแผนโปรเจ็กต์ใหม่ที่กำลังจะมาถึง โดยที่ไม่ต้องให้ฝ่าย HR หรือผู้จัดการโครงการมาช่วยเหลือแต่อย่างใด เพราะสถิติที่เก็บมาในฐานข้อมูลบอกความเชี่ยวชาญของพนักงานไว้อย่างครบครัน

Caroline Missen หนึ่งในผู้บริหารของ Shell บอกด้วยว่า “เราต้องการพนักงานที่มีความสามารถที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งที่จริงเรามีอยู่แล้ว เพียงแต่หาเราต้องใช้วิธีการที่จะให้เราได้สิ่งนั้นมา” แน่นอนว่า ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ลำพังเพียงมนุษย์คงไม่พอ แต่ถ้าเป็นหุ่นยนต์จะไม่ใช่แค่เก็บข้อมูลได้มหาศาล แต่จะคำนวณได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วอีกด้วย

  • B12 บริษัทสตาร์ทอัพออกแบบเว็บไซต์ใน New York ก็เริ่มนำเอาหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานในบริษัทเช่นกัน โดยเฉพาะการจ้างงานเหล่าบรรดาฟรีแลนซ์ที่ต้องการร่วมทีมทำงานในระยะเวลาอันสั้น เรียกว่า Flash Team โดยหุ่นยนต์ที่มาจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์นี้ชื่อว่า Orchestra โดยจะเก็บฐานข้อมูลพนักงานประจำเอาไว้แล้วจับคู่การทำงานกับฟรีแลนซ์แต่ละคน ผลออกมาปรากฎว่า ทำให้งานเดินได้ดีและประสบผลสำเร็จมาก เพราะหุ่นยนต์เลือกเอาผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาเจอกันได้อย่างเหมาะเจาะ ดีกว่าให้คนมานั่งเลือกกันเอง (ทั้งๆ ที่ทำได้ แต่ต้องใช้เวลามากกว่าอย่างแน่นอน)

ที่มากไปกว่านั้น เมื่อเปิดดูในงานวิจัยด้านจิตวิเคราะห์ของ University of New England ปี 2015 ระบุว่า “หลายครั้งมนุษย์มักตัดสินแย่ๆ โดยไม่รู้ตัว และที่สำคัญก็ประเมินให้การตัดสินใจนั้นของตัวเองกลับกลายเป็นดีเสียอีก (rate their performance more highly)”

Tomas Chamorro-Premuzic ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาธุรกิจจาก University College London ถึงกับบอกว่า “สิ่งที่ผู้จัดการ (และสายงาน HR ทั้งหลาย) ต้องทำเป็นหน้าที่คือ ประเมินพนักงานจากศักยภาพของพนักงานคนนั้นๆ ดูจากทีมที่ร่วมมือกัน ดูจากลักษณะงานที่ต้องทำ หลังจากนั้นก็ประเมินผลงาน และส่งฟีดแบ็คกลับมายังต้นสังกัด”

ประเด็นคือ ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ หุ่นยนต์ทำได้ดีกว่าคน เพราะหุ่นยนต์ใช้ข้อเท็จจริงในการตัดสินใจ ไม่ใช่อคติ อารมณ์ และสัญชาตญาณแบบมนุษย์

หุ่นยนต์มีข้อดี แต่ก็มีข้อเสีย เฉกเช่นเดียวกันกับมนุษย์

แม้ว่าหุ่นยนต์จะมีข้อได้เปรียบมากกว่าคนในแง่การตัดสินใจด้วยข้อเท็จจริง สถิติ และไม่นำเอาอารมณ์ อคติมาใช้ (เพราะไม่มี) แต่ข้อเสียคือ หุ่นยนต์ไม่มีความสามารถในการคาดการณ์หรือทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้น นักวิจัยด้าน Machine Learning จาก University College London บอกว่า ข้อจำกัดของหุ่นยนต์คืออาจจะไม่รับรู้ทักษะที่แท้จริงของพนักงานคนนั้นเลยก็ได้ เพราะเอาเข้าจริงไม่ใช่ว่าพนักงานทุกคนจะรู้ว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง และหากตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลอย่างเดียวอาจเกิดความผิดพลาดได้เพราะเอาง่ายๆ คือ พนักงานขายที่ขายเก่งมากในปีนี้ ปีหน้าอาจจะขายไม่เก่งแล้วก็ได้

  • แต่จากแนวโน้มที่เกิดขึ้นในหลายบริษัททั่วโลก Gartner บริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยี เปิดเผยข้อมูลว่า ตลาดซอฟต์แวร์ที่จัดการด้าน HR ได้รับความนิยมมากขึ้นและตลาดยังโตได้อีกมาก อย่างในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้นี้โตถึง 23% คิดเป็นมูลค่าถึง 1.15 หมื่นล้านเหรียญ และในปี 2020 ตลาดนี้จะโตเพิ่มขึ้นอีก 25%

Sue Siegel ผู้บริหารของบริษัทสายนวัตกรรมรายหนึ่งบอกว่า แล้วถ้าวันหนึ่งหุ่นยนต์เรียนรู้ข้อมูลอันมหาศาลจนมีบุคลิกภาพ (personality) มีอารมณ์ขัน (sense of humor) และสามารถเข้าใจเงื่อนไขต่างๆ ของมนุษย์ได้ มันก็อาจเป็นไปได้ แต่ใครจจะรู้?

  • อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ว่า ในอนาคตอันใกล้ การพิจารณาผลงานรอบปีเพื่อพิจารณาโบนัสประจำปี อาจใช้หุ่นยนต์มาทำหน้าที่แทน เพราะตัดสินได้ตรง แม่นยำ และรวดเร็วกว่า
  • ฤๅว่าต่อไปนี้ อัตราการได้โบนัสของพนักงานอาจมาจากการตัดสินใจของหุ่นยนต์?

ว่าแล้วก็เตรียมยกมือสวัสดีเจ้านายใหม่ที่ชื่อว่า หุ่นยนต์ กันได้เลย

ที่มา – THE WALL STREET JOURNAL

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา