แม้การส่งไฟล์ผ่านดิจิทัล และนโยบายลดกระดาษของหลายองค์กรจะกำลังเกิดขึ้น แต่เครื่องพิมพ์ หรือ Printer ยังเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการในตลาดอยู่ เนื่องจากการใช้งานกระดาษยังมีความจำเป็นในบางเรื่องของทุกคน
HP คือหนึ่งในแบรนด์ที่ทำตลาดเครื่องพิมพ์มาเป็นเวลานาน และมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชีย จึงน่าสนใจว่าแบรนด์เก่าแก่นี้จะมีกลยุทธ์ และแผนในการทำตลาดเพื่อรักษาตำแหน่งเบอร์ 1 เอาไว้ได้อย่างไร
Brand Inside มีโอกาสสัมภาษณ์ ซาเมียร์ ชาห์ รองประธาน และหัวหน้าฝ่ายธุรกิจการพิมพ์ HP เกรทเทอร์เอเชีย เพื่อฉายภาพถึงคำถามดังกล่าวดังนี้
HP กับการเป็นเบอร์ 1 ในประเทศไทย
ซาเมียร์ ชาห์ เล่าให้ฟังว่า ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของบริษัท ผ่านโอกาสทางธุรกิจจำนวนมาก และการเติบโตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วง 2 ปี ล่าสุด รวมถึงไตรมาส 1 ของปี 2023 ที่ HP ครองส่วนแบ่งเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทยเมื่ออ้างอิงข้อมูลจากบริษัทวิจัย IDC
“ในภาพรวมเราเป็นเบอร์ 1 ของเครื่องพิมพ์ในประเทศไทย และที่ทำได้เพราะเราให้สิ่งที่คุ้มค่าให้กับผู้บริโภค และศึกษาความต้องการของผู้บริโภคที่นี่ว่าต้องการอะไรเพื่อพัฒนาสินค้าให้ถูกต้องที่สุด เพื่อรักษาตำแหน่งเบอร์ 1 ในตลาดให้ได้อีกปี”
ส่วนในเอเชีย HP เป็นผู้นำในหลายตลาดเช่นกัน เนื่องจากมีการทำตลาดเครื่องพิมพ์ที่เหมาะกับแต่ละพื้นที่ เช่น เครื่องพิมพ์ราคาประหยัดมาพร้อมตลับหมึก, เครื่องพิมพ์อิงค์แท็งก์ และเครื่องพิมพ์สำหรับองค์กรแบบต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้มาพร้อมนวัตกรรม และการรองรับการทำงานยุคใหม่ที่เน้นเรื่อง Hybrid Workplace
เจาะ 3 เทรนด์การขับเคลื่อนตลาดเครื่องพิมพ์
สำหรับทิศทางของตลาดเครื่องพิมพ์ในปี 2023 HP มองว่าจะประกอบด้วย 3 เรื่องด้วยกันคือ ทิศทางการทำงานยุคใหม่ที่ทำงานจากที่ใดก็ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นเร็วขึ้น ทำให้เครื่องพิมพ์ต้องตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ และหากใครทำได้ย่อมเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
ต่อมาคือกระแส Subscription หรือการสมัครสมาชิกใช้งาน เพราะปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มคุ้นเคยกับเรื่องนี้ผ่านการสมัครสมาชิกรายเดือนเพื่อรับชมความบันเทิง หรือเช่าใช้บริการต่าง ๆ ซึ่งเครื่องพิมพ์ต้องรองรับเรื่องนี้เช่นกัน คล้ายกับกรณีของการเช่าใช้ในฝั่งลูกค้าองค์กร
สุดท้ายคือ การให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการเติบโตไปกับแบรนด์มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคต้องการมีความใกล้ชิดกับแบรนด์ และหากแบรนด์สามารถตอบโจทย์เรื่องดังกล่าวได้ เช่น การใช้งานเครื่องพิมพ์แบรนด์นี้แล้วรู้สึกรักโลกมากกว่าแบรนด์คู่แข่ง โอกาสที่ลูกค้าจะตัดสินใจมาใช้งานก็มีมากกว่าเดิม
เร่งตอบโจทย์ทั้ง 3 เทรนด์ครองตำแหน่งผู้นำ
จากเป้าหมายเบอร์ 1 ของตลาดเครื่องพิมพ์ ทำให้ HP เร่งตอบโจทย์ทั้ง 3 เทรนด์ข้างต้นด้วยการพัฒนาเครื่องพิมพ์ให้รองรับการทำงานในรูปแบบ Hybrid Workplace เช่น การควบคุมเครื่องพิมพ์จากศูนย์กลางกรณีที่ต้องใช้เครื่องพิมพ์ที่บ้าน โดยการควบคุมนี้จะมาพร้อมกับระบบความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อป้องกันการโจมตีต่าง ๆ
ส่วนการ Subscription ในต่างประเทศ HP มีการเปิดให้เช่าใช้หมึกพิมพ์ในชื่อบริการ Instant Ink เพื่อยกระดับงานพิมพ์สู่ Printing as a Services ในฝั่งผู้บริโภค ส่วนในประเทศไทยมีบริการ Easy Ink ที่จะแจ้งเตือนเมื่อหมึกใกล้หมด และเจ้าของเครื่องพิมพ์สามารถกดสั่งซื้อผ่านระบบได้ทันที ไม่มีค่าจัดส่ง และจัดส่งภายใน 1 วัน
สุดท้ายที่การให้ลูกค้ามีส่วนร่วมไปกับแบรนด์ HP มีการพัฒนาเรื่องความยั่งยืนเพื่อให้เจ้าของเครื่องพิมพ์ได้เติบโตไปภายใต้ความยั่งยืนร่วมกับแบรนด์ เช่น การพัฒนาตลับหมึกที่ลดการใช้งานพลาสติกใช้ครั้งเดียว และมีเป้าหมายระยะยาวในปี 2030 ที่ 75% ของผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์จะใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้งานใหม่ได้
กระแสไร้กระดาษไม่ทำให้เครื่องพิมพ์ไม่โต
ซาเมียร์ ชาห์ ยืนยันว่า กระแสลดใช้กระดาษที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่กระทบถึงภาพรวมตลาดเครื่องพิมพ์เหมือนอย่างที่หลายฝ่ายคาดคิด เนื่องจากกระแสการใช้ข้อมูลที่มากขึ้นทำให้จำนวนการพิมพ์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และหากเจาะไปที่ตลาดเครื่องพิมพ์ในประเทศไทยปี 2022 ยังมีการเติบโตถึง 11% จากปี 2021 อีกด้วย
“เมื่อตลาดเครื่องพิมพ์เติบโตก็แสดงให้เห็นว่าเครื่องพิมพ์ยังเป็นที่ต้องการในตลาด โดยเฉพาะกับกลุ่ม A3 ที่เติบโต 7% ผ่านการที่ทุกคนกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ และธุรกิจ SME เริ่มฟื้นตัว ซึ่งกระแสนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่ครอบคลุมไปทั่วเอเชีย”
สำหรับในประเทศไทย เครื่องพิมพ์ที่มีการเติบโตสูงที่สุดคือกลุ่มเครื่องพิมพ์อิงค์แท็งก์ เพราะปี 2022 เติบโตจากปี 2021 ถึง 15% แสดงให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคที่เน้นความคุ้มค่าในการใช้งาน และเป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าที่แข็งแกร่งของ HP
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา