ลูกก็ต้องเลี้ยง งานก็ต้องทำ จะ Work from home ยังไง ให้ลูกไม่กวนตัว คนรักไม่กวนใจ

สัปดาห์ที่ผ่านมาหลายๆ บริษัทเริ่มตัดสินใจให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ (Work From Home) เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ COVID-19 แต่ใช่ว่าบ้านของพนักงานทุกคนจะเป็นสถานที่ที่พร้อมสำหรับการทำงาน โดยเฉพาะช่วงนี้ที่เด็กๆ เริ่มปิดเทอม

ภาพจาก Getty Image

แม้ว่าคุณจะเตรียมพื้นที่ในบ้านให้กลายเป็นสถานที่นั่งทำงานแห่งใหม่ แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าในช่วงเวลานี้ลูกๆ ของคุณก็จำเป็นต้องอยู่บ้านกับคุณเช่นกัน ลูกเล่นกันเสียงดัง ลูกร้องเรียกหา จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

Work from home อย่างไร ถ้ามีลูกต้องดูแล

บอกเพื่อนร่วมงานให้เคลียร์

การสื่อสารถือเป็นเรื่องสำคัญไม่ว่าจะในที่ทำงาน หรือทำงานจากบ้านก็ต้องสื่อสารให้มากกว่าปกติเพื่อสร้างความเข้าใจ ทั้งกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ยิ่งถ้ามีเด็กๆ อยู่ในบ้านด้วยคุณควรบอกกับหัวหน้า และเพื่อนร่วมงานของคุณให้รับทราบว่า บางครั้งการคุยงานผ่านโทรศัพท์ หรือการประชุมผ่าน VDO Conference อาจมีเสียงของเด็กๆ รบกวนบ้าง แต่คุณจะพยายามอย่างดีที่สุด

คนที่ไว้ใจได้ โดยเฉพาะคนในครอบครัว สามารถช่วยดูแลเด็กๆ ได้ในขณะที่คุณทำงาน ภาพจาก pixabay.com

หาคนไว้ใจได้ช่วยดูลูก บางครั้งคุณอาจไม่สามารถทำงานไปด้วย พร้อมกับเลี้ยงลูกไปด้วยได้ การหาคนที่ไว้ใจได้เพื่อช่วยดูลูกให้ถือว่าเป็นทางออกที่ดี ไม่ว่าจะพ่อแม่ คนในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท หรือแม้แต่ลูกคนโต ที่สามารถช่วยดูแลน้องคนเล็กได้ อย่างน้อยที่สุดก็ให้พวกเขาช่วยหากิจกรรมทำกับลูกของคุณ เช่น การพูดคุย การเล่นเกม การอ่านหนังสือ เป็นต้น หากิจกรรมให้ลูกทำ กิจกรรมหลายๆ อย่างไม่จำเป็นต้องอาศัยการดูแลจากผู้ใหญ่ ซึ่งเด็กแต่ละช่วงวัยสามารถทำกิจกรรมตามที่กล่าวมาข้างต้นได้

สื่อสารกับทีมให้มากที่สุด เพื่อให้เขาเข้าใจสถานภาพเรา เด็กเล็กมักเป็นวัยที่มีพฤติกรรมเหนือการควบคุมของพ่อแม่ หากไม่มีพี่เลี้ยงหรือญาติผู้ใหญ่ ภาระการเลี้ยงลูกจะตกอยู่ที่ผู้เป็นพ่อแม่ที่ต้องรับไปเต็มๆ สิ่งที่ต้องทำคือ สื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน ฉันมีลูกต้องดูแล ขอให้เข้าใจ ขณะเดียวกันก็ต้องจัดสรรเวลามาทำงานด้วย เรื่องนี้เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือหัวหน้าเข้าใจได้ง่ายอยู่แล้ว ไม่มีใครอยากตกอยู่ในสถานะที่ไม่พร้อมหรือลำบากรอบด้านหรอก

จัดลำดับความสำคัญของงาน การจัดลำดับความสำคัญของงานเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้คุณสามารถแบ่งเวลาระหว่างการทำงาน และเวลาที่จะดูแลลูกได้ คุณสามารถใช้ช่วงเวลาที่เด็กๆ สามารถดูแลตัวเอง ไปใช้เป็นเวลาทำงานได้ หรือจะใช้วิธีสลับกันดูแลลูกก็ได้เช่นกัน เช่น พ่อดูแลลูกช่วงเช้า ส่วนแม่ดูแลลูกช่วงบ่าย ส่วนช่วงที่ลูกเข้านอนทั้งสองคนจะสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่

ภาพจาก pixabay.com

บอกลูกให้ชัดเจนว่าคุณต้องทำงาน เด็กในวัยประถมศึกษาขึ้นไปสามารถพูดคุย และเข้าใจได้ ดังนั้นคุณควรพูดคุยกับลูกให้ชัดเจนว่าการทำงานที่บ้านของคุณ คือการทำงาน ไม่สามารถเล่นด้วย หรือพาเขาออกไปข้างนอกได้ในช่วงเวลาทำงาน คุณมีงานที่ต้องทำให้เสร็จ และจะวางมือจากงานไปเพื่อดูแลเขาบ่อยๆไม่ได้ หรือไม่ลองตั้งกฎหากลูกต้องการเข้ามาหาคุณในห้องทำงาน ต้องเคาะประตูก่อน หรือจะติดป้ายห้ามรบกวน (Do not disturb) ไว้เพื่อบอกลูกๆ ก็ได้เช่นกัน

ชมลูกบ้างเมื่อทำได้ดี เมื่อคุยกับลูกให้เข้าใจแล้วว่าคุณต้องทำงาน ไม่สามารถดูแลเขาได้ หากคุณสามารถทำงานได้จนเสร็จ หรือถึงช่วงเวลาพักที่ได้ตกลงกันไว้ โดยไม่ถูกลูกรบกวน คุณอาจให้รางวัลกับเขาเป็นคำชมเล็กๆ น้อยๆ สำหรับการให้ความร่วมมือที่ช่วยให้คุณทำงานจนเสร็จ หรืออาจใช้เวลากับเขาสักพักเพื่อเล่นเกม อ่านหนังสือ หรือพูดคุยกับเขาก็ได้เช่นกัน

พักบ่อยๆ ไปดูลูกบ้าง ถ้าเป็นเด็กในช่วงวัยเรียนคุณสามารถปล่อยให้เขาทำแบบฝึกหัด หรือทำการบ้านที่ได้มาจากโรงเรียน ซึ่งต้องใช้เวลานาน ในระหว่างนี้คุณสามารถเอาเวลาไปทำงานได้ แต่ควรแบ่งเวลาพักอย่างสม่ำเสมอเพื่อเดินไปพูดคุยกับลูกบ้าง เช่นใน 1 ชั่วโมง คุณสามารถแบ่งเวลาทำงาน 50 นาที และพักไปอยู่กับลูกอีก 10 นาที

การปล่อยให้เด็กๆ ใช้โทรศัพท์และคอมพิวเตอร์บ้าง จะช่วยให้คุณทำงานได้สะดวกขึ้น ภาพจาก pixabay.com

ยอมให้ลูกเล่นโทรศัพท์มากกว่าเดิม ในช่วงเวลาปกติพ่อแม่หลายๆ คนคงไม่อยากให้ลูกใช้งานโทรศัพท์มือถือมากเกินไปในแต่ละวัน แต่อย่าลืมว่าบางครั้งการทำงานที่บ้านไม่ใช่เรื่องปกติที่หลายคนทำ ในช่วงเวลาที่คุณต้องทำงาน คุณอาจต้องยอมปล่อยให้เด็กๆ ใช้โทรศัพท์อย่างเต็มที่ ถึงแม้จะมากกว่าปกติ แต่เมื่อถึงเวลาที่คุณว่าง คุณสามารถหากิจกรรมอื่นๆทำร่วมกับลูกก็ได้ เช่น การเล่นบอร์ดเกม การใช้เวลาดูภาพยนตร์ หรือการ์ตูนด้วยกัน

ส่วนเรื่องการทำให้คนรักไม่กวนใจ เรื่องนี้ถือว่าเป็นปัญหาที่เบามาก สำหรับคนที่มีคนรักทำงานนอกบ้าน กว่าเขาหรือเธอจะกลับมาจากการทำงาน คุณอาจทำงานเสร็จแล้ว แต่ถ้างานไม่เสร็จแม้ว่าคนรักจะกลับบ้านแล้วก็ต้องคุยให้เข้าใจว่าช่วงนี้คือช่วงการทำงานไม่ใช่ช่วงพัก จากนั้น เมื่อถึงเวลาพักผ่อนก็ค่อยมาแบ่งเวลาให้กันอีกที แต่ถ้าต้องทำงานที่บ้านทั้งคู่ ก็ต้องทำความเข้าใจแบ่งภาระหน้าที่งาน งานบ้าน การดูแลลูก รวมไปถึงดูแลผู้สูงวัยให้ดีๆ เพื่อที่จะเข้าใจ ไม่มาขัดแย้งกันทีหลัง

ที่มา – Fast Company

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา