สรุปประเด็น แก้ปัญหาเบอร์โทรมิจฉาชีพ “เมืองนอกใช้ AI เมืองไทยใช้ยศขู่”
(1) หลายคนคงเคยเจอกับการที่เบอร์แปลกโทรเข้าหรือส่ง SMS มาหลอกลวง บ้างก็เข้ามาเสนอเงินกู้ บ้างก็ชวนเล่นพนัน ไปจนถึงหลอกมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยในปลายปีที่ผ่านมาพบว่ามีเบอร์โทรมิจฉาชีพกว่า 6.4 ล้านหมายเลข ถ้าเทียบกับช่วงต้นปี 2564 ถือว่าเติบโตกว่า 2.5 เท่า จากข้อมูลของมูลนิธิผู้บริโภค
(2) ปัญหาคือ ผู้เสียหายจำนวนมากถูกโทรเข้ามาหลอกลวงหรือข่มขู่ จนยอมกรอกประวัติส่วนตัว อนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ หรือโอนค่าธรรมเนียมก่อนจะได้รับเงินกู้ โดยในปีที่ผ่านมามีผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกว่า 1,800 คน และอย่าลืมว่ายังมีผู้เสียหายอีกมหาศาลที่ยังไม่ได้เข้าร้องเรียน
(3) เอาเข้าจริง ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นปัญหาที่หลายประเทศกำลังเจอ เช่น มาเลเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย หลักการแก้ปัญหานี้คร่าวๆ ก็คือการที่ผู้ให้บริการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้อง ‘ตรวจสอบ’ และ ‘บล็อกเบอร์’ เหล่านี้ทิ้งไปตั้งแต่ต้นทาง
(4) หลักการที่พูดถึงจะว่าง่ายแต่เอาจริงก็ยาก เพราะทุกวันนี้มิจฉาชีพมีเทคโนโลยีในมือ เบอร์แปลกจึงมีพฤติกรรมเหมือนเบอร์จริงๆ มากขึ้น เป็นเลขที่ลักษณะเหมือนเบอร์โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วไป มิหนำซ้ำยังมีจำนวนมากจนบล็อกกันไม่หวั่นไม่ไหว หลายๆ ประเทศเลยต้องงัดท่า ‘เทคโนโลยีชนเทคโนโลยี’ มาใช้
(5) เคสที่น่าสนใจในเมืองนอกเกี่ยวกับการจัดการปัญหาเบอร์โทรมิจฉาชีพคือออสเตรเลียที่ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือในประเทศใช้ AI จำแนกพฤติกรรมการส่งข้อความแปลกๆ และบล็อกเบอร์ทิ้งแบบเรียลไทม์ โดยทางบริษัทออกมาบอกว่านี่คือความร่วมมือความร่วมมือกับรัฐภายใต้ข้อบังคับใหม่ๆ ซึ่งช่วยให้สามารถบล็อกสายโทรเข้าจากมิจฉาชีพได้กว่า 15 ล้านครั้ง/เดือน
(6) ในสิงคโปร์ ตำรวจมีการร่วมมือกับ คณะกรรมการความมั่นคงทางไซเบอร์ หน่วยงานพัฒนาสื่อสารสนเทศ (IMDA) และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ในการนำ AI มาใช้เพื่อตรวจสอบและจัดการเว็บไซต์หลอกลวง (ซึ่งรวดเร็วและรุนแรงกว่าการหลอกลวงผ่านโทรศัพท์) โดยกระทรวงมหาดไทยของสิงคโปร์ชี้ว่าภายในเวลาแค่ปีเดียว ก็สามารถจัดการเว็บไซต์ที่เข้าข่ายหลอกลวงได้เพิ่มเป็น 12,000 เว็บไซต์ จากในปี 2020 ที่บล็อกไปได้แค่ 500 เว็บไซต์เท่านั้น
(7) กลับมายังประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุว่าเคยร้องไปยังกสทช. เพื่อให้ผู้ให้บริการเครือข่ายบล็อกเบอร์มิจฉาชีพแต่ดูเหมือนปัญหาจะยังคงอยู่ ประชาชนกลับต้องโหลดแอปแจ้งเตือนเบอร์มิจฉาชีพด้วยตนเอง จึงได้ยื่นเรื่องร้องให้กสทช. เอาผิดผู้ให้บริการที่ไม่สามารถกำจัดเบอร์เหล่านี้ได้ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
(8) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือหลายรายว่าตนเป็นผู้ให้บริการด้านระบบสาธารณูปโภคเท่านั้น (ไม่ได้มีความสามารถเพียงพอที่จะจัดการปัญหา) แต่เอาเข้าจริงหลายๆ ค่ายกลับออกมาประกาศว่าเริ่มเห็นทางตันของธุรกิจ และประกาศตัวเป็น Tech Company ดังนั้น ก็น่าจะมีขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสู้เทคโนโลยี
(9) น่าสนใจว่าล่าสุด เกิดกรณีที่มีเบอร์มิจฉาชีพที่อ้างตัวเป็น DHL โทรไปหา พล.ต.ท. กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.ไซเบอร์) และมีการตอบโตกลับไปว่า “คุณรู้ไหม ผมเป็นใคร ผมเป็นผู้บัญชาการที่ปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ คุณอย่ามาล้อเล่นกับผม นะ ไปล้อเล่นกับคนอื่น อย่าทะลึ่ง”
(10) แถมกองบัญชาการไซเบอร์เองก็เคยออกมารณรงค์หลักการ “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เรียกร้องให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลให้ชัดและชัวร์ หากการกู้ยืมเราต้องเป็นฝ่ายนำเงินให้ผู้ปล่อยกู้ก่อน ก็ขอให้คิดเสมอว่าอาจเป็นพวกมิจฉาชีพ
สรุป
เมื่อมองการจัดการปัญหาเบอร์มิจฉาชีพของไทยในบริบทโลก จะเห็นได้ว่าในขณะที่หลายประเทศใช้เทคโนโลยีชนเทคโนโลยี รัฐไทยกลับใช้พฤติกรรมเจ้ายศเจ้าอย่างของรัฐไทยผลักภาระให้ประชาชนจัดการเอาเอง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมหลังจากเกิดกรณีฉาวของ ผบช.ไซเบอร์ ขึ้นจึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก
ที่มา – The Straits Times, The West Australian
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา