- สถานการณ์ตลาดงานไทยยังไม่ดี ความเสี่ยงตกงานสูง ธุรกิจท่องเที่ยวหนักสุด อาจตกงาน 1.5-2 ล้านคน
- แนวโน้มลดการจ้างงาน เลิกจ้างงาน ลดวัน-เวลาการทำงาน และไม่จ้างพนักงานใหม่ ยังเข้มข้น
- เด็กจบใหม่ 5 แสนคน หางานยาก โอกาสว่างงานสูง ได้งานผลตอบแทนต่ำ ไม่ได้รับการสอนงานเท่าที่ควร
- สุดท้ายความสามารถในการปรับตัว เปลี่ยนแปลง เพิ่มทักษะ พร้อมทำสิ่งใหม่ คือหนทางในการอยู่รอด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตลาดงานประเทศไทยเป็นที่รู้กันว่าขาดแคลนแรงงานระดับล่าง โดยข้อมูลเดือน ธ.ค.2563 พึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน 2.5 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในงานก่อสร้างและบริการ และอาจมีจำนวนมากถึง 3-4 ล้านคน ขณะที่แรงงานระดับบนก็ขาดแคลนเช่นกัน
ผลการสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ พบว่าบริษัทที่ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยระบุว่ายังขาดแคลนวิศวกรถึง 26% อีกทั้งวิศวกรจบใหม่ที่ขึ้นทะเบียนวิชาชีพประมาณ 7,000 คนต่อปีจากผู้ที่สำเร็จศึกษาด้านวิศวกรรม 33,000 คน ส่วนหนึ่งเพราะคนนิยมศึกษาต่อสายสามัญมากกว่าสายอาชีวะ โดยลดลงจาก 39.8% ในปี 2550 มาอยู่ที่ 32.7% ในปี 2558
ขณะที่แนวโน้มของผู้ประกอบการยังขาดแคลนรายได้ ปิดกิจการ และอยู่อย่างยากลำบาก ต้องปรับลดคน ปรับลดการจ้าง หรือปรับลดชั่วโมงทำงาน ปี 63 พบว่า ก.ค. มีคนว่างงานสูงสุด 0.83 ล้านคน คิดเป็น 2.1% แต่เมื่อสถานการณ์ผ่อนคลาย การว่างงานปรับมาอยู่ที่ 0.65 ล้านคนคิดเป็น 1.69% แต่สถานการณ์ยังเปราะบางมาก เมื่อดูจากจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของประกันสังคม ณ ปี 2563 ที่อยู่ที่ 4.0 แสนคน แม้จะดีขึ้นจากช่วง ก.ย.-ต.ค. แต่ยังถือว่าสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 9 ปีที่อยู่ระดับ 1.2 แสนคน
ธุรกิจท่องเที่ยว ยังเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด แรงงานจำนวนมากที่อยู่ธุรกิจนี้จึงได้รับผลกระทบอย่างมาก เช่น นักบินที่มีแนวโน้มตกงาน 1,000 คนในปี 2563 (อ้างอิงจากสมาคมนักบินไทย) โดยสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคาดการณ์ว่าแรงงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวมีโอกาสตกงานประมาณ 1.5 – 2 ล้านคน เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะรักษาธุรกิจและการจ้างงานได้ ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เช่น พนักงานขับรถ พนักงานเสิร์ฟอาหารหรือพนักงานบริการทั่วไป
แรงงานจบใหม่แนวโน้มเตะฝุ่นเพียบ
แต่สิ่งที่น่ากังวลคือแรงงานจบใหม่ในปีการศึกษา 2564 หรือที่เรียกว่า first jobber ในปี 2563 ที่มีจำนวนถึง 500,000 คน กำลังต้องเจอภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการหางานทำ
ผลสำรวจของ Job Thai ระบุว่าอัตราการเปิดรับสมัครงานลดลงจากในปีก่อน (ก่อนเกิดโควิด-19 ในช่วงม.ค.2563 อัตราการเปิดรับอยู่ที่กว่า 1 แสนราย แต่ในเดือนมิ.ย. 2563 อยู่ที่ 9 หมื่นราย) ธุรกิจโรงแรมความต้องการแรงงานลดลงมากที่สุด ธุรกิจอื่นๆ แม้จะยังอยู่ได้ แต่ก็อยู่ในโหมดประคองตัว ลดรายจ่าย เพราะสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน การรับสมัครงานจะมีไม่มาก ดังนั้นโอกาสสำหรับนักศึกษาจบใหม่ จึงมีไม่มากนัก
นอกจากการหางานที่ยากกว่าในช่วงปกติ รายได้ที่ได้รับก็มีแนวโน้มลดลง โดยผลการศึกษาของ The Institute for Fiscal Studies ระบุว่าเด็กที่จบใหม่ในช่วงวิกฤตการเงิน รายได้หรือเงินเดือนที่ได้รับจะต่ำกว่าในระดับปกติ 7% ขาดโอกาสที่จะได้รับการสอนงานจากหัวหน้างานโดยตรง เนื่องจากต้องทำงานที่บ้าน โอกาสและทักษะต่างๆ จะไม่สามารถถูกฝึกฝนได้เต็มที่ ไม่สามารถเรียนรู้วัฒนธรรมในองค์กรเพื่อที่จะไปปรับใช้กับสถานการณ์การทำงานในอนาคต
ปัญหาการว่างงานของเด็กจบใหม่ไม่ใช่ปัญหาระยะสั้น แต่ในอีก 2-3 ปี คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงขาดประสบการณ์ ขาดทักษะ และรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตลาด หรืออาจทำให้ตลาดแรงงานขาดผู้มีความรู้ความสามารถไป เนื่องจากบางกลุ่มอาจหันไปทำธุรกิจของตัวเองหรือสนใจทำอาชีพใหม่ๆ เช่น Youtuber หรือขายของออนไลน์ ดังนั้นปัญหาการว่างงานของเด็กจบใหม่จึงเป็นปัญหาในระยะยาวที่ต้องรีบแก้ไข
นอกจากนี้ ความต้องการแรงาน วิธีการและระบบการทำงานก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น รูปแบบการทำงานที่มีการทำงานจากที่บ้าน (Work from home) เพิ่มมากขึ้น การเข้าประชุมออนไลน์ การสอนออนไลน์ มีการสัมภาษณ์งานผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงมีการลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็นออกไปได้มากขึ้น บางตำแหน่งงานจึงถูดลดออกไป ดังนั้นคนที่ปรับตัวได้ดี มีความยืดหยุ่นสูงจึงยังมีโอกาส
ในวิกฤตยังมีโอกาส กับตำแหน่งงานใหม่ๆ
อย่างไรก็ดี ในช่วงโควิด-19 เราได้เห็นอาชีพใหม่ๆ หรือตำแหน่งงานใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น Food delivery โดยแรงงานบางส่วนที่ถูกลดชั่วโมงการทำงาน หรือกำลังว่างงาน เช่น นักบิน หรือ มัคคุเทศก์ เริ่มขายของออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ผู้ที่สามารถปรับตัวและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้เร็วจะเป็นผู้ที่อยู่รอด
แม้ว่าในอนาคตสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติแต่ตำแหน่งงาน หรือ ความต้องการพนักงานของแต่ละองค์กรจะมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการจะกลับเข้าไปในตลาดแรงงานหรือความสามารถอยู่รอดได้นั้นจะต้องมีการปรับตัวในหลากหลายด้าน ดังนี้
- ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี: ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียังสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด อีกทั้งการทำงานต่างๆ ยังต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีจึงเป็นทักษะที่จำเป็นต้องมีเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในระยะข้างหน้า
- การนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้: Big data หรือ ข้อมูลจะมีความสำคัญต่อองค์กรมาก การเรียนรู้ที่ใช้ข้อมูลที่มีให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ความสามารถในการปรับตัว และความยืดหยุ่นในการทำงาน: ในสภาวะที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น การเกิดขึ้นของโรคระบาดโควิด-19 แรงงานที่สามารถปรับตัวได้รวดเร็วจะสามารถอยู่รอดได้
บทวิเคราะห์จาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา