How to รอด: ทำธุรกิจร้านอาหารในปี 2020 อย่างไรให้ไม่เจ๊ง ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด

ร้านอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีผู้เล่นเพิ่มมากขึ้นทุกปี แถมยุคนี้แค่ “รสชาติอาหาร” ไม่ได้เป็นตัวตัดสินชะตาว่าธุรกิจร้านอาหารจะรอดหรือเจ๊ง เพราะต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ทั้งคู่แข่ง การบริหารจัดการร้านอย่างเป็นระบบ และอีกหลากหลายปัจจัยจึงจะทำให้ธุรกิจร้านอาหารประสบความสำเร็จได้ในปี 2020

ธุรกิจร้านอาหารเปิดใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี … แต่มีแค่ 10% ที่รอด

คำพูดที่ว่า “ร้านอาหารมีเพียงแค่ 10% เท่านั้นที่ทำแล้วไม่เจ๊ง ยังคงเป็นความจริง”

ข้อมูลสถิติจากฐานข้อมูลของ wongnai เว็บไซต์และแอปพลิเคชันรีวิวร้านอาหารที่รวมร้านอาหารทั่วฟ้าเมืองไทยเอาไว้ พบว่าจำนวน

  • ร้านอาหารทั่วประเทศไทย ปี 2019 มีทั้งหมด 70,149 ร้าน
  • จำนวนร้านเปิดใหม่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าสูงถึง 97%
  • แต่จำนวนร้านอาหารที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับสถิติการเติบโตของธุรกิจร้านอาหาร ในปี 2018-2019 มีร้านอาหารเพียงแค่ 40% เท่านั้นที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นแค่ 40%
  • ซ้ำร้ายหากย้อนดูสถิติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีร้านเปิดใหม่เพียง 10% เท่านั้นที่อยู่รอด!

แน่นอนว่าใครๆ ก็อยากทำธุรกิจให้สำเร็จ และร้านอาหารเองก็เป็นหนึ่งในธุรกิจเบอร์ต้นๆ ที่ใครๆ ต่างนึกถึง เมื่อต้องการจะทำธุรกิจอะไรสักอย่าง

คำถามคือ จะทำอย่างไรให้อยู่รอด โดยเฉพาะในยุคนี้ ยุคที่เรียกว่า O2O ยุคที่ต้องเชื่อมต่อลูกค้าแบบออนไลน์ ออฟไลน์ ยุคแห่งการเดลิเวอรี่ ยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ฯลฯ

หนึ่งในกลยุทธ์ที่น่าสนใจ Brand Inside เก็บตกมาจาก Panel Discussion สุดท้ายของงาน Wongnai for Business: Restaurant 2020 งานสัมมนาที่เผยเทรนด์และเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจร้านอาหารแห่งอนาคต

งานนี้นอกจากจะมีข้อมูลเชิงประชากรศาสตร์ของกลุ่มผู้บริโภค เมนูอาหารยอดนิยม และข้อมูลเชิงพฤติกรรมการกินที่เป็นประโยชน์ช่วยให้ผู้ประกอบการร้านอาหารเอาไปใช้ต่อยอดแล้ว ยังมีช่วงไฮไลท์ที่น่าติดตามอย่างการพูดคุยกับคนทำร้านอาหารตัวจริงทั้ง 3 ท่าน ได้แก่

  • คุณธนพงศ์ วงศ์ชินศรี เจ้าของร้านอาหาร Penguin Eat Shabu
  • คุณปรมินทร์ ตันวัฒนะ เจ้าของร้านอาหาร KINZA GYOZA
  • คุณกิตติเดช วิมลรัตน์ เจ้าของร้านอาหาร Mihara Tofuten Bangkok และเผ็ดมาร์ค
(ซ้าย-ขวา) คุณธนพงศ์ วงศ์ชินศรี เจ้าของร้านอาหาร Penguin Eat Shabu, คุณปรมินทร์ ตันวัฒนะ เจ้าของร้านอาหาร KINZA GYOZA, คุณกิตติเดช วิมลรัตน์ เจ้าของร้านอาหาร Mihara Tofuten Bangkok เผ็ดมาร์ค, คุณธงชัย ชลศิริพงษ์ ผู้ดำเนินรายการและพิธีกรของ Brand Inside
(ซ้าย-ขวา) คุณธนพงศ์ วงศ์ชินศรี เจ้าของร้านอาหาร Penguin Eat Shabu, คุณปรมินทร์ ตันวัฒนะ เจ้าของร้านอาหาร KINZA GYOZA, คุณกิตติเดช วิมลรัตน์ เจ้าของร้านอาหาร Mihara Tofuten Bangkok เผ็ดมาร์ค, คุณธงชัย ชลศิริพงษ์ ผู้ดำเนินรายการและพิธีกรของ Brand Inside

หลักการ “3 ต.” กุญแจความสำเร็จของการทำร้านอาหารในปี 2020

ข้อสรุปการทำร้านอาหารในปี 2020 ให้ปัง ยืนหนึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร 10% ที่ยังอยู่รอด จากการพูดคุยของทั้ง 3 ท่านนี้คือ หลักการ 3 ต. ซึ่งเป็นสิ่งที่ร้านอาหารยุคใหม่จะต้องเผชิญหน้าและสร้างจุดแข็งเหล่านี้ขึ้นมา ได้แก่

  1. แตกแบรนด์: ในปี 2020 แบรนด์ใหญ่จะแตกแบรนด์ให้มีขนาดเล็กลง พร้อมทั้งดึงเอาอาหารสายสตรีทฟู้ดมาสู้อย่างดุเดือด
  2. ต้นทุน: ในปี 2020 ต้นทุนสูงขึ้น แต่กำไรต่ำลง แต่จะขึ้นราคาก็ไม่ได้ เพราะจะกระทบต่อยอดขายโดยตรง (ลูกค้าเมิน) ดังนั้น ต้องมีวิธีการบริหารจัดการอย่างฉลาด เนื่องจากหากลดต้นทุนลงได้ ก็หมายความว่าได้กำไร
  3. ตัวตน: ในปี 2020 ตัวตนของร้านอาหารต้องชัดเจน ใครที่ไม่มีเอกลักษณ์ ทั้งรสชาติ การจัดจาน แบรนด์ดิ้ง สุดท้ายลูกค้าจำไม่ได้ ทำให้ร้านให้ดีแค่ไหนก็รอดยากในยุคนี้

เชนใหญ่ในห้างพร้อม “แตกแบรนด์” ทำไซส์เล็กลง พร้อมแข่งมากขึ้น

ในปี 2020 สิ่งที่จะได้เห็นมากขึ้นคือการลงมาเล่นตลาดสตรีทฟู้ดของแบรนด์ใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น เขียง ร้านอาหารตามสั่งจากเครือใหญ่ ZEN ที่มีร้านอาหารญี่ปุ่นอยู่ตามห้างสรรพสินค้า นี่คือการทำให้การแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารดุเดือดยิ่งขึ้น เพราะตัวใหญ่ลงมาเล่น แถมตอบโจทย์พฤติกรรมเดลิเวอรี่ของลูกค้าในยุคนี้โดยตรง

ดังนั้น สิ่งที่ร้านอาหารรายเล็กหรือ SME ต้องทำ คือหาช่องทางในการแข่งขันด้วย ‘การเจาะกลุ่มเป้าหมายให้ชัด’ นี่จะเป็นทางออกหนึ่งของการทำร้านอาหารในปี 2020 เพราะคนซื้ออาหารทานนอกบ้านมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มครอบครัวใหญ่, กลุ่มพนักงานออฟฟิศ, กลุ่มแม่บ้าน, กลุ่มคุณแม่ลูกอ่อน ฯลฯ ถ้าจับพฤติกรรมลูกค้าได้ ก็จะมองเห็นโอกาสในการขายที่แตกต่างจากคู่แข่ง

Untitled-9-01-e1551631208936.jpg (800×516)

“ต้นทุน” สูง กำไรต่ำ เคล็ดลับคือการบริหารจัดการร้านที่ดี

ธุรกิจร้านอาหารต้องเผชิญกับรายจ่ายค่าวัตถุดิบ และค่าจ้างพนักงานที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี เมื่อต้นทุนสูงขึ้น แต่ร้านไม่สามารถขายอาหารแพงขึ้นได้ ก็ต้องไปจัดการที่ต้นทุน

ในยุคดิจิทัลเช่นนี้ย่อมต้องมีเทคโนโลยีที่ช่วยในการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเครื่องมือที่เข้ามาช่วยในการจัดการได้ดีคือ Wongnai POS ระบบบริหารจัดการร้านอาหารแบบครบวงจร ทั้งการจัดการเมนู รับออเดอร์ การคิดเงิน และสรุปและวิเคราะห์ยอดขาย ทำให้เจ้าของกิจการสามารถเช็คสต็อก, ราคาวัตถุดิบที่จ่ายออกไป, รู้ยอดขาย, กำไรที่ทำได้จริง, คนนิยมเข้าร้านช่วงไหนมาก ช่วงไหนน้อย เจ้าของร้านจะมี Data ตรงนี้ทั้งหมด

เมื่อรู้ข้อมูลแล้ว จะทำให้หาวิธีลดต้นทุนได้ เช่น ลดพนักงานในช่วงเวลาที่ไม่ค่อยมีลูกค้า หรือลดสต็อกวัตถุดิบในช่วงที่ขายของไม่คล่อง สิ่งเหล่านี้จะสามารถช่วยประหยัดเงินในการลงทุนไปส่วนหนึ่ง สมมุติเป็นตัวเลขให้เข้าใจง่ายคือ

“ระหว่างการลดต้นทุน 10,000 บาท กับการทำกำไร 10,000 บาท แน่นอนว่าการจัดการกับต้นทุนเป็นสิ่งที่ทำง่ายกว่ามาก”

ดังนั้น แม้ร้านอาหารจะทำกำไรได้ไม่มากในช่วงที่เศรษฐกิจฝืด แต่ถ้าลดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพก็ช่วยให้ธุรกิจเติบโตเหมือนกัน

(ซ้าย-ขวา) คุณธนพงศ์ วงศ์ชินศรี เจ้าของร้านอาหาร Penguin Eat Shabu, คุณปรมินทร์ ตันวัฒนะ เจ้าของร้านอาหาร KINZA GYOZA, คุณกิตติเดช วิมลรัตน์ เจ้าของร้านอาหาร Mihara Tofuten Bangkok เผ็ดมาร์ค, คุณธงชัย ชลศิริพงษ์ ผู้ดำเนินรายการและพิธีกรของ Brand Inside
(ซ้าย-ขวา) คุณธนพงศ์ วงศ์ชินศรี เจ้าของร้านอาหาร Penguin Eat Shabu, คุณปรมินทร์ ตันวัฒนะ เจ้าของร้านอาหาร KINZA GYOZA, คุณกิตติเดช วิมลรัตน์ เจ้าของร้านอาหาร Mihara Tofuten Bangkok เผ็ดมาร์ค, คุณธงชัย ชลศิริพงษ์ ผู้ดำเนินรายการและพิธีกรของ Brand Inside

ต้องสร้าง “ตัวตน” ของแบรนด์ให้ชัด

การทำธุรกิจแบบ O2O (online to offline) เทรนด์ธุรกิจที่ทุกคนหนีไม่พ้น โจทย์ใหญ่คือ จะทำอย่างไรให้สินค้าที่อยู่ในออนไลน์เข้าไปสู่คนที่อยู่ในโลกออฟไลน์

แต่สำหรับกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร โลกหมุนไปไกลจนเราต้องมองกลับด้านแล้ว เนื่องจากคำว่า “O2O” สำหรับร้านอาหารคือ “offline to online” หรือพูดง่ายๆ คือ จะนำร้านอาหารในโลกออฟไลน์ เข้าไปหาคนในโลกออนไลน์ได้อย่างไรนั่นเอง

ในยุคนี้ ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกร้านอาหารมาตั้งแต่ที่บ้าน เกิดขึ้นจากการค้นหาในระบบออนไลน์ ดังนั้นต้องวางตัวตนของร้านอาหารต้องชัดเจนเพื่อดึงดูดคนลูกค้า ซึ่งถ้าพูดกันให้ถึงที่สุดแล้ว ตัวตนของร้านอาหารในยุค O2O จะต้องมีทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์

  • ออนไลน์: เมื่อลูกค้าเห็นภาพการจัดจานหรือหน้าตาอาหารในอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งมุมใดมุมหนึ่งของร้านอาหารบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มใดๆ ก็ตาม จะต้อง “จำ” ได้ทันที่ว่านี่เป็นร้านหรือแบรนด์ของเรา
  • ออฟไลน์: นอกจากการสร้างความจำให้กับผู้บริโภค เรื่องของ “รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์” และ “การบริการที่โดดเด่น” ก็เป็นสิ่งสำคัญญ ลองดูตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการสร้างตัวตน/คาแรกเตอร์ เช่น Hai Di Lao ชาบูหมาล่าจากประเทศจีน ที่ทำให้ทุกคนจดจำร้านนี้ได้จากการบริการที่เป็นเลิศ

สรุป

การทำธุรกิจร้านอาหารในปี 2020 ถึงเศรษฐกิจจะอยู่ในสภาวะการที่ไม่สู้ดีนัก แต่ถ้ามีการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีเพื่อลดต้นทุน ในขณะเดียวกันอาหารยังมีคุณภาพดีและรวมถึงสร้างตัวตนหรือคาแรกเตอร์แบรนด์ให้ชัดเจน นอกจากนั้นก็พร้อมที่จะมองหาโอกาสในการทำธุรกิจจากช่องว่างของตลาดอยู่เสมอ

การทำธุรกิจอาหารให้ประสบความสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

Disclaimer: Brand Inside เป็นบริษัทลูกในเครือของ Wongnai 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา