9 เทคนิค ขายของออนไลน์ ปี 2022 เริ่มต้นยังไงให้ไม่เจ๊ง

ขายของออนไลน์ นับวันยิ่งเติบโตมากขึ้น บางร้านจากที่ทำออฟไลน์อย่างเดียวก็ได้การขายของออนไลน์เข้ามาเสริมทำให้ยอดขายปังมากขึ้น บางคนเริ่มต้นจากขายของออนไลน์ก็สามารถเปิดหน้าร้านได้ บางคนขายของออนไลน์เป็นอาชีพเสริมก็ยิ่งทำให้เงินในกระเป๋าเพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่การเริ่มต้นขายของออนไลน์ไม่ได้ง่ายเสมอไป แม้จะมีต้นทุนที่ต่ำถ้าเทียบกับการที่ต้องมีหน้าร้าน การเช่าพื้นที่ขายของ หรือการลงทุนเปิดร้านด้วยตัวเอง ใครที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่แล้วกำลังตัดสินใจเริ่มต้นการขายของออนไลน์ มาเช็คกันดูดีกว่าว่าตัวเองพร้อมมากแค่ไหน 

ขายของออนไลน์

ขายของออนไลน์ เริ่มต้นอย่างไรให้ไม่เจ๊ง

เงินทุนมีเพียงพอที่จะหมุนเวียนร้านหรือไม่

ก่อนจะขายของก็ต้องมีทุนก่อนเพราะงบลงทุนถือว่าเป็นหัวใจหลักในช่วงแรกของการเริ่มต้นทุกธุรกิจเลย สำรวจตัวเองก่อนว่าทุนตั้งตัวมีเท่าไหร่ หมุนเวียนร้านพอหรือไม่ ต้นทุนสินค้าเท่าไหร่ การทำแบบนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้รายจ่ายสูงเกินไปและพาให้ร้านเราไปถึงจุดไม่คุ้มทุนของการทำธุรกิจ หากเงินเริ่มต้นลงทุนมีไม่มาก อาจจะมีการกู้ยืมจากธนาคารด้วยสินเชื่อสำหรับ SME ไปก่อนเพื่อนำมาทำธุรกิจในช่วงแรก เพราะหากเงินทุนมีน้อย โอกาสเติบโตก็จะยิ่งน้อยลงไปด้วย 

แหล่งที่มาของสินค้าพร้อมแล้วหรือไม่

หลายคนอยากเริ่มต้นขายของออนไลน์จากการไปรับของมาขาย ตรงจุดนี้ต้องสำรวจราคากันก่อนว่าที่ไหน แหล่งไหนถูกที่สุด อาจจะเป็นตลาดโรงเกลือ ตลาดโบ๊เบ๊ ประตูน้ำ จตุจักร หรือแหล่งที่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว รวมทั้งมีการวางแผนเรื่องของกลไกราคาด้วย อย่าลืมว่าคนขายของออนไลน์เดี๋ยวนี้ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้บริโภคเองก็ตัดสินใจจากราคาเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นตรงจุดนี้สำคัญมาก

ชื่อร้านจำง่ายและสื่อถึงสินค้าที่เราจะขาย

อาจจะเป็นเรื่องที่ยากหน่อยในส่วนของการตั้งชื่อ แต่ถ้าร้านของคุณมีชื่อที่เรียกยาก ไม่ติดหู อาจจะทำให้ร้านไม่เป็นที่จดจำ ลูกค้าซื้อไปแล้วอาจจะลืมชื่อและบอกต่อได้ยาก เพราะฉะนั้นควรตั้งชื่อให้สื่อถึงสินค้าและจำง่าย คุ้นหู คุ้นปาก อาจจะมีการเล่นคำภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เพื่อทำให้ชื่อร้านดูมีกิมมิค

ไม่ลืมที่จะวางแผนการตลาด

หลายคนอาจจะงงว่าเอ๊ะ เราไม่ได้จะไปแข่ง SME ตีแตก ทำไมต้องวางแผนล่ะ การวางแผนก็ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ เพราะคุณจะได้รู้ว่าต้องขายของยังไง คู่แข่งทำอะไรไปบ้าง ต้องขายของกี่ชิ้นต่อสัปดาห์ ต่อเดือน เพื่อให้ได้กำไรมากพอที่จะดำเนินธุรกิจต่อ อาจจะวางแผนล่วงหน้าไปเลยว่าหากขายสินค้ากลุ่มนี้แล้วสามารถต่อยอดทำอะไรได้อีกบ้าง ช่วงไหนจะขายดี ขายไม่ดี ต้องนำสินค้าอะไรมาขายแทนในช่วงที่สินค้าอื่นๆ เข้าสู่ช่วงขาลง 

ที่ขายออนไลน์ก็เยอะแยะเหลือเกิน ขายที่ไหนดีน้า

คำถามโลกแตกอีกแน่นอนสำหรับการขายของออนไลน์ว่าจะขายที่ไหน เพราะแต่ละที่ก็มีคาแรกเตอร์รวมถึงคนใช้บริการต่างกันยกตัวอย่างเช่น 

Facebook : ตัวเฟซบุ๊กเองก็มีหลากหลายฟีเจอร์ให้เลือกใช้เช่นกัน อย่างเช่นใน Marketplace คุณสามารถตั้งขายของได้ กำหนดราคา เพิ่มข้อมูลสินค้าได้ แต่อาจจะเหมาะกับการขายของเป็นครั้งไป ส่วนการเปิดเพจขายของเองต้องคิดถึงเรื่องของการการมองเห็นด้วย เพราะช่วงหลังๆ การมองเห็นบนเฟซบุ๊กค่อนข้างเปลี่ยนไปมาก อาจจะต้องใช้เวลานิดนึง มีงบสำหรับลองยิงโฆษณาด้วยก็ได้

Twitter : ผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นแม้ตัว platform ไม่ได้ทำมาเพื่อการขายของ แต่หลายคนก็เริ่มต้นที่ Twitter เพราะมันติดกระแสได้ง่าย และมีคนที่ค้นหาสินค้าและรีวิวใน Twitter ค่อนข้างเยอะ ทำให้มีโอกาสในการเปิดตัวสินค้าและธุรกิจได้ง่ายมากกว่าช่องทางอื่นๆ 

Instagram : ไอจีเป็นช่องทางแรกๆ ที่ทุกคนที่อยากเปิดร้านขายของออนไลน์นึกถึง ด้วยความที่เป็นช่องทางที่เน้นการลงรูปและวิดีโอเป็นหลัก และคนใช้งานก็ค่อนข้างเยอะ แมสง่าย รวมถึงตัวไอจีก็มีฟีเจอร์ที่เป็น shop ด้วย ยิ่งทำให้การขายของนั้นง่ายมากขึ้น คนเห็นสินค้ามากขึ้น รวมถึงสามารถจ้าง influencer โปรโมทสินค้าได้อีกด้วย 

เว็บตัวเอง : เหมาะกับคนที่อยากขายสินค้าเฉพาะที่อาจจะไม่ได้เหมาะกับช่องทางอื่น หรือเพียงแค่อยากจัดการทุกอย่างทั้งตัว content บนเว็บ รวมถึงออกแบบระบบการซื้อ-ขายด้วยตัวเอง 

Marketplace : ณ ปี 2022 มี platform marketplace มากมายทั้ง Lazada Shopee LINE OA สำหรับคนที่อยากทำทุกอย่างจบในแอพเดียว เพราะระบบ marketplace จะจัดการทุกอย่างให้คุณเลย คุณอาจจะดูแลเพียงแค่การตอบลูกค้า บริหาร stock สินค้าก็พอ 

อย่าลืมนึกถึงช่องทางการชำระเงิน

ขาดไม่ได้ในยุคออนไลน์นั่นก็คือช่องทางการชำระเงิน ควรมีให้ลูกค้าเลือกมากกว่า 1 ช่องทาง เช่นมีพร้อมเพย์/เลขบัญชีให้โอน ร้านไหนขายของราคาสูงหน่อยก็มีช่องทางชำระผ่านบัตรเครดิตให้เลือกก็จะดีไม่น้อย หรือแม้กระทั่งเก็บเงินปลายทางจากบริษัทขนส่งก็เป็นหนึ่งช่องทางการชำระเงินที่มาแรง

พร้อมตอบลูกค้าให้รวดเร็ว ฉับไว 

ลองคิดดูว่าระหว่าร้านที่มีฐานแฟนคลับเยอะแค่ไหน แต่ถ้าตอบลูกค้าช้าเป็นวัน ก็อาจจะทำให้เสียลูกค้าใหม่ไปแน่ๆ เพราะฉะนั้นความพร้อมในการตอบลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ หากแชทเริ่มเยอะ ลูกค้าเข้ารัวๆ ก็อาจจะมีการจ้างแอดมินมาช่วยตอบให้ก็ได้ 

จัดส่งสินค้าตรงเวลา ไม่เลท ไม่ชักช้า

ใครๆ ที่สั่งของก็อยากได้ของที่รวดเร็ว ทันที ยิ่งธุรกิจโลจิสติกส์ในไทยพัฒนาไปค่อนข้างไว ส่งของถึงวันพรุ่งนี้ในพื้นที่ได้เลย ก็ยิ่งทให้ลูกค้ามีความคาดหวังจากร้านเรามากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นการแพลนว่าจะส่งของวันไหน ตัดรอบกี่โมงจึงเป็นเรื่องสำคัญ หลายร้านมีการบอกลูกค้าล่วงหน้าว่าจัดส่งสินค้ากี่โมง ส่งของทุกวันหรือเฉพาะวันไหนบ้าง เพื่อให้ลูกค้าได้เข้าใจและแพลนช่วงหน้าในการรับสินค้า รวมทั้งค่าส่งต้องไม่แพงจนเกินไปด้วยนะ

เริ่มต้นเร็ว ได้เปรียบทุกคนบนโลก

การเปิดร้านขายของออนไลน์ก็เหมือนกับการทำธุรกิจ Startup หากไอเดียของเราพร้อมและมีเงินทุนพร้อม เราแนะนำว่าให้เริ่มต้นเลย เพราะในขณะที่คุณกำลังคิดหาไอเดียทำร้านออนไลน์อยู่ อาจจะมีคนเริ่มต้นธุรกิจไปแล้วก็ได้

 

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงประเมินความพร้อมคร่าวๆ ได้แล้วว่าตัวเองพร้อมหรือยัง หากยังไม่พร้อมก็รอเวลาสักเล็กน้อยและวางแผนทุกอย่างให้เต็มที่ เพื่อถึงวันที่เราจะเริ่มต้นขายของออนไลน์จะได้ไม่มีอะไรติดขัด เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังเริ่มต้นขายขายออนไลน์นะ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา