EIC SCB ตัวอย่างแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเกาหลีใต้ ลดจาก 100%+ เหลือไม่ถึง 95% ภายใน 3 ปี

EIC SCB เผยบทความ ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในเกาหลีใต้

ช่วงสิ้นไตรมาส 1 ปี 2024 เศรษฐกิจไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 16.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.9% ของ GDP ส่วนหนึ่งมาจากการสะสมหนี้ครัวเรือนที่ขยายตัวสูงกว่าเศรฐกิจและวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้รายได้หดตัวอย่างรุนแรงและฟื้นตัวกลับมาช้า ทำให้การแก้ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนมีความท้าทายมาก

South Korea
Photo by Mos Sukjaroenkraisri on Unsplash

ทาง EIC SCB ได้ถอดบทเรียนหนี้ครัวเรือนจากเกาหลีใต้ ดังนี้

เกาหลีใต้มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงที่สุดในเอเชีย สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในไตรมาสที่ 1 ปี 2024 โดยมีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 1,885.3 ล้านล้านวอนหรือประมาณ 47 ล้านล้านบาท คิดเป็น 94.9% ของ GDP

เนื่องจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวเร็วตามราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกรุงโซลและปริมณฑล ซึ่งเป็นศูนย์รวมการจ้างงานและการศึกษาในเกาหลีใต้

ทำให้ครัวเรือนจำเป็นต้องกู้ยืมเป็นมูลค่าสูง เพื่อที่จะมีที่อยู่อาศัยของตัวเองได้ อีกทั้งราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เกิดการกู้ยืมมาเก็งกำไรที่อยู่อาศัยอีกด้วย สินเชื่อที่อยู่อาศัยในเกาหลีใต้ขยายตัวสูงต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิดระบาด ทำให้หนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นมาก

รัฐบาลเกาหลีให้ความสำคัญต่อหนี้ครัวเรือนไม่ต่างจากไทย โดยได้ให้ FSC หรือคณะกรรมการกำกับการบริการทางการเงินออกแผนการบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนหลังวิกฤตโควิด-19 ในปี 2021 เพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินของเกาหลีใต้ที่ยังคงเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง โดยได้ออกมาตรการทางการเงิน ดังนี้

ปรับปรุงกำกับดูแลหนี้ครัวเรือนในภาพรวม ควบคุมการขยายตัวหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับก่อนโควิดระบาดและยกระดับการกำกับดูแลความเสี่ยงของสถาบันการเงิน

ปรับปรุงเกณฑ์สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) ให้แตกต่างตามความพร้อมของแต่ละบุคคล คำนวณเกณฑ์ที่เหมาะสมผ่านฐานข้อมูลรายได้ เช่น ภาษี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เพิ่มความเข้มงวดของการกำกับดูแลในภาคส่วนที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะการกู้ยืมโดยใช้ที่อยู่อาศัยเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน ที่มีการกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันให้เข้มงวดขึ้น

ขยายช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อให้กลุ่มคนรายได้น้อยและกลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ขยายเวลาให้ผ่อนสินเชื่อที่อยู่อาศัยนานขึ้นเป็น 40 ปีเพื่อลดภาระหนี้ต่องวดที่ต้องจ่าย

เกาหลีใต้พยายามสร้างเสถียรภาพระบบการเงินเป็นหลัก และให้ความสำคัญกับการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่มเปราะบางมาก เช่น ยืดหยุ่นเกณฑ์ให้สินเชื่อกลุ่มรายได้น้อย สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้

เกาหลีใต้ยังมีกองทุน National Happiness Fund ตั้งขึ้นในปี 2013 เพื่อรับซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงิน โดยกองทุนจะดำเนินการเจรจาและให้ความช่วยเหลือลูกหนี้โดยตรง มีการปรับโครงสร้างหนี้ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งยกหนี้ให้กลุ่มเปราะบางที่ประเมินแล้วว่าไม่มีความสามารถชำระคืนหนี้ได้ในอนาคต

เกาหลีใต้สามารถปรับลดหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จากเกิน 100% เหลือไม่ถึง 95% ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี ถือว่าลงเร็วกว่าไทยมาก

หนี้ครัวเรือนเกาหลีใต้มาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก

หนี้ครัวเรือนไทยมีองค์ประกอบหลักเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่ออื่นๆ เพื่อการบริโภคในระยะสั้น แต่ภาครัฐไทยสามารถเรียนรู้แนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในต่างประเทศเพื่อปรับให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยได้

ที่มา – EIC SCB

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา