เปิดต้นทุนโรงพยาบาลไทยทำไมถึงแพง เผยกำไรสุทธิแค่ปีละ 7-10%

วันที่เจ็บป่วยนอกจากเจ็บกาย ยังเจ็บไปถึงกระเป๋าเงินเพราะเข้าโรงพยาบาลแต่ละครั้งค่าหมอค่ายาแพงหูฉี่

ว่าแต่ต้นทุนของโรงพยาบาลมาจากอะไร ทำไมค่ายา ค่ารักษาถึงแพงขึ้นทุกปี?

ภาพจาก shutterstock

เปิดต้นทุนโรงพยาบาลมาจากค่าแรง 70% กำไรสุทธิที่ 7-10% ต่อปี

นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ รองประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG บอกว่า 20 ปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะมีกำไรสุทธิประมาณ 7-10% ต่อปี และบางโรงพยาบาลที่ทำ medical tourism จะมีกำไรสุทธิ ประมาณ 12-13% ต่อปี กำไรของโรงพยาบาลมาจากหลายด้านรวมกัน เช่น ค่ายา ค่าเครื่องมือแพทย์ ค่าบริการ ค่าห้อง ค่า Lab ค่า x-ray ฯลฯ

ทั้งนี้ต้นทุนโรงพยาบาล ส่วนใหญ่กว่า 70% มาจากค่าแรง เช่น ค่าแพทย์ ค่าพยาบาล ค่าใช้จ่ายพนักงาน  นอกจากนี้มีต้นทุนจากการลงทุน (Capex-Capital Expenditure) เช่น หากต้องการสร้างโรงพยาบาลมาตรฐานสูง  500 เตียงใช้เงินประมาณ 10,000 ล้านบาท (ไม่รวมมูลค่าที่ดิน) ดังนั้นต้นทุน Capex เฉลี่ยเตียงละ 20 ล้านบาท ในขณะที่โรงพยาบาล มาตรฐานระดับรองลงมา Capex เฉลี่ยเตียงละ 7-10 ล้านบาท ส่วนโรงพยาบาลแบบ Mass หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่อย่างที่ภาครัฐทำ Capex เฉลี่ยเตียงละ 3 ล้านบาท เมื่อโรงพยาบาลลงทุนแล้วจะใช้เวลาประมาณ 7-8 ปีจึงจะถึงจุดคุ้มทุน

ในขณะต้นทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน (Opex-Operating Expenditure) กรณีโรงพยาบาลมาตรฐานสูงจะมีพนักงานดูแล ( แพทย์พยาบาล ฯลฯ) 5-7 คนต่อ 1 เตียง ในขณะที่โรงพยาบาลแบบ Mass จะมีพนักงานดูแล 3 คนต่อ 1 เตียง สาเหตุที่โรงพยาบาลไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานได้ ก็เพื่อคงมาตรฐาน การรักษาผู้ป่วย ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในไทยต้นทุนค่าหมออยู่ที่ประมาณ 20% ของ ต้นทุนทั้งหมด ถ้าเทียบกับประเทศอื่นค่าหมอไทยก็ถูกกว่า ต่างประเทศอย่าง เช่น ไต้หวัน ฮ่องกงค่าแพทย์คือ 40 %ของระบบ”

ภาพจาก Unsplash

หมอย้ำยาไม่เคยขึ้นราคาแต่ยาใหม่ที่ดีขึ้นราคาก็แพงขึ้น

นพ.ธนาธิป บอกว่าราคายาไม่เคยปรับขึ้น  โดยธรรมชาติราคายาจะแพงที่สุดหลังออกจากการวิจัย และขายสู่ตลาดในครั้งแรก ซึ่งราคายาจะค่อยๆ ปรับลดลงภายใน 7 ปีตามการแข่งขันในตลาด ที่มียาชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้น

จริงๆ แล้วราคายาไม่เคยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยาตัวใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ  ซึ่งยาแต่ละตัวก็มีนวัตกรรมมากขึ้น เช่น ปัจจุบันยาเม็ดนี้โอกาสรักษาหายให้ได้  70%  แต่ยาตัวใหม่ที่ออกมามีโอกาสรักษาโรคหายได้ 90% คนก็เลือกยาตัวใหม่ แม้ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น 3 เท่าก็ตาม ปัจจุบันยามะเร็งเม็ดละ 10,000 บาทยังมี ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมะเร็งอาจไปถึงหลักล้านบาท”

ดังนั้นจากที่หลายคนเคยพูดว่าค่ารักษาพยาบาลที่แพงขึ้นเฉลี่ยปีละ 8-10 % ก็มาจากมาตรฐานการรักษาที่สูงขึ้น

ภาพจาก shutterstock

ชี้เทรนด์ 2 รูปแบบโรงพยาบาลเกิดใหม่ เฉพาะทาง-ดูแลผู้ป่วยพักฟื้น

จากสังคมสูงวัยและสภาพแวดล้อมในปัจจุบันหลังจากนี้โรงพยาบาลขนาดใหญ่จะไม่มีเพิ่มขึ้น (ยกเว้นโรงพยาบาลที่มีอยู่ขยายสาขา) แต่จะเห็นการขยายตัวในรูปแบบโรงพยาบาลเฉพาะทาง เช่น ศูนย์รักษาแผลเบาหวาน ทันตกรรม ศูนย์ส่องกล้อง ฯลฯ และโรงพยาบาลพักฟื้นผู้ป่วย

“คนไทยอายุยืนมากขึ้น  ปัจจุบันคนไทยอายุขัยเฉลี่ย 75-77 ปี ภายใน 20 ปีข้างหน้าอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 85-90 ปี นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าเด็กที่เกิดหลังปี 2000 อาจมีอายุขัยเฉลี่ยถึง 100 ปี ดังนั้นผู้ป่วยที่สูงอายุจะมีเยอะขึ้น นอกจากการรักษาตัวในโรงพยาบาล ต้องมีสถานที่ฟื้นฟูร่างกาย เช่น เมื่อผู้ป่วยอัมพาต ออกจากโรงพยาบาลต้องมีกายภาพบําบัดยาว 1 เดือนต้องมาใช้โรงพยาบาลพักฟื้นผู้ป่วยที่ค่าใช้บริการจะถูกกว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพราะใช้ผู้ดูแลประมาณ 2-3 คน เท่านั้น นอกจากนี้ยังสามารถรองรับผู้ป่วยติดเตียงได้ด้วย”

สรุป

ไม่ว่ารวยหรือจนทุกคนต้องใช้บริการโรงพยาบาล แต่ค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่าหมอก็แพงขึ้นทุกปี จนล่าสุดภาครัฐ เริ่มจะเข้ามาควบคุมราคายาและค่าบริการทางการแพทย์ แต่จะช่วยให้คนเข้าถึงการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานได้มากขึ้นหรือไม่ คงต้องรอดู. . .

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง