หนึ่งในปัญหาสำคัญของคนที่มีอาชีพเป็น Content Creator หรือคนที่ทำหน้าที่คิดคอนเทนต์ออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้ง YouTube, Facebook, Instagram หรือ TikTok ต้องเจอ นั่นคือปัญหาหมดไฟในการทำงาน
การทำงานของอาชีพ Content Creator มีหน้าที่ต้องคิด ต้องเขียน สร้างสรรค์คอนเทนต์รูปแบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แม้จะดูเหมือนว่าเป็นอาชีพที่คนรุ่นใหม่ไฝ่ฝันอยากทำ เพราะฉากหน้าที่ดูมีความสุข คอยสร้างรอยยิ้มให้กับคนอื่นๆ
Content Creator อาชีพที่เครียดไม่ต่างจากอาชีพอื่น
แต่ความจริงแล้วการทำงานเป็น Content Creator ต้องรับมือกับความกดดันจากการทำงานหลายรูปแบบ รับมือกับความคาดหวังของผู้ชมตลอดเวลา ที่ต้องการคอนเทนต์รูปแบบใหม่ๆ ไม่ซ้ำใครอยู่เสมอ ผลตอบรับต้องดี ต้องสร้าง Engagement ใน Social ได้ ซึ่งจะนำไปสู่ค่าตอบแทนที่ได้ทั้งจากผู้สนับสนุน และโฆษณา นอกจากจะต้องรับมือกับความคาดหวังของคนดูแล้ว ยังต้องรับมือกับ Algorithm ของแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ ซึ่งจะกระทบกับวิธีการทำงานที่ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
ความกดดันที่เกิดขึ้นสร้างทั้งความเครียด และอาจทำให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงานในที่สุด YouTuber หลายๆ คน ก็ประสบกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน ทั้ง Elle Mills มีผู้ติดตามกว่า 1.8 ล้านคน เคยโพสต์คลิปวิดีโอประกาศว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในภาวะหมดไฟ การเปลี่ยนแปลงจากเด็กมัธยมสู่การเป็น YouTuber ที่มีผู้ติดตามจำนวนมากทำให้เธอเกิดความเครียด
Tyler Blevins นักแคสเกมชื่อดังก็เคยประสบกับปัญหาความเครียดเช่นกัน เขาเคยโพสต์ข้อความลงบน Twitter ส่วนตัวของเขาเพื่ออธิบายความเครียดของอาชีพนักแคสเกม ว่าในเวลาเพียง 2 วัน จำนวนผู้ติดตามของเขาลดลงกว่า 20,000 คน
YouTube มีเครื่องมือสอน YouTuber ไม่ให้เครียดกับการทำงาน
ในช่วงยุคแรกๆ ของอาชีพ Content Creator มีการทำงานแบบ User Generated Content คือ ใครๆ ก็สามารถคิด หรือทำคอนเทนต์ขึ้นมาเพื่อลงบน Social Media ช่องทางต่างๆ ได้ ดังนั้น การให้ความสนใจเรื่องสุขภาพจิตที่ดีของ Content Creator จึงยังไม่เกิดขึ้น แต่ในยุคถัดมา YouTube ได้มีการเปิด YouTube Creator Academy ขึ้นมา เพื่อทำงานร่วมกับ Content Creator โดยตรง
รวมถึงประเด็นด้านสุขภาพจิตใจที่ดีของ Content Creator เช่นกัน โดย YouTube Creator Academy ได้จัดทำคลิปวิดีโอสั้นๆ เพื่อช่วยเป็นแนวทางที่จะสร้างสุขภาพจิตที่ดีของ YouTuber ทั้งการป้องกันการหมดไฟจากการทำงาน การสร้างสมดุลระหว่างเวลางานกับเวลาส่วนตัว การสร้างเส้นแบ่งระหว่างคอนเทนต์สาธารณะกับชีวิตส่วนตัว รวมถึงเทคนิคที่จะทำให้ YouTuber มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นด้วย
แต่อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าความพยายามของ YouTube อาจยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ Content Creator มีความสุขกับการทำงานได้อย่างแท้จริง
6 คำแนะนำ คนคิดคอนเทนต์ออนไลน์ ทำงานอย่างไรไม่ให้เครียด
นักจิตวิทยาได้มีการแนะนำวิธีที่จะช่วยสร้างสุขภาพจิตที่ดีในกลุ่มคนที่ทำงานเป็น Content Creator แม้จะต้องเผชิญกับโลกออนไลน์ตลอดเวลา ก็ต้องรู้จักสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรับมือกับความกดดันที่เกิดขึ้นจากหลายๆ ด้าน
ควบคุมหน้าฟีด ด้วยการติดตามคนที่อยากติดตามเท่านั้น
การเป็น Content Creator จำเป็นต้องอยู่กับหน้าฟีดแทบจะตลอดเวลา แต่อย่างไรก็ตามนักจิตวิทยาก็แนะนำว่า “ควรติดตามคนที่อยากติดตามเท่านั้น” ถ้าไม่สบายใจก็สามารถเลิกติดตามคนๆ นั้นไปได้ เพราะบางครั้งการเห็นหน้าฟีดที่เต็มไปด้วยคอนเทนต์ที่ไม่ต้องการก็จะทำให้เกิดความเครียดได้
คิดไว้ก่อนว่าจะตอบคอมเมนต์แย่ๆ อย่างไร
การเป็น Content Creator ย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงคอมเมนต์แย่ๆ หรือดราม่าที่เกิดขึ้นได้ เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นควรคิดไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะจัดการกับคอมเมนต์แย่ๆ หรือดราม่าอย่างไร เพราะหากไม่ได้เตรียมการไว้คงไม่ดีแน่ที่จะไปตอบกลับคอมเมนต์เหล่านั้นด้วยอารมณ์โกรธ
คุยกับเพื่อนร่วมอาชีพ
การปรึกษากับเพื่อนร่วมอาชีพที่เป็น Content Creator เช่นเดียวกันก็สามารถช่วยเยียวยาจิตใจได้ เพราะการคุยกับคนที่ทำอาชีพเดียวกันจะทำให้เกิดการเรียนรู้ รวมถึงแลกเปลี่ยนสถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน
รู้จักข้อจำกัดของตัวเอง
แม้ว่าการเป็น Content Creator จะต้องรู้จักคิด และสร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่อย่างไรก็ตามที่ดีควรรู้จักข้อจำกัดของตัวเองด้วย รู้ว่าเวลาไหนที่พร้อมที่จะทำงาน พร้อมที่จะคิดคอนเทนต์ใหม่ๆ หากรู้สึกว่าไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมก็ควรหยุดพัก
ถามตัวเองอยู่เสมอ ว่าใจตอนนี้เป็นอย่างไร
นอกจากการรู้จักข้อจำกัดของตัวเองว่าควรจะทำงาน หรือหยุดพักตอนไหนแล้ว การสำรวจใจตัวเองว่าพร้อมรับมือกับสิ่งต่างๆ ได้ดีแค่ไหนก็สำคัญเช่นกัน เช่น ตอนนี้จิตใจรู้สึกอย่างไร ดีแค่ไหน ถ้าไม่ดี มันเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะกดดัน หรือทำงานหนักไปหรือเปล่า
ใช้ชีวิตให้สนุก ไม่ต้องห่วงเรื่องงาน
เมื่อถึงเวลาต้องพักผ่อน ควรตัดเรื่องงานออกไปจากตัวบ้าง โดยเฉพาะการเลือกคบเพื่อนที่มีสังคมที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดอยู่ในวงการเดียวกันเท่านั้น ยิ่งเป็นเพื่อนที่เราไม่ต้องทำงานด้วยกันยิ่งดี หรือหากิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับงานที่ทำอยู่ก็ได้เช่นกัน
นอกจากวิธีข้างต้นแล้ว รูปแบบการทำงานก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน การเป็น Content Creator ที่ต้องปล่อยผลงานอยู่ตลอด ต้องคิดสิ่งใหม่ๆ อยู่เป็นประจำ อาจทำให้ความคิดตัน และหมดไฟกับการทำงานในที่สุด
หนึ่งในคำแนะนำที่อาจใช้ได้ผลคือ การเลือกที่จะสร้างคอนเทนต์เป็นรายซีซัน เมื่อจบซีซันแล้วให้เว้นระยะห่างสักพัก ก่อนจะเริ่มทำงานในซีซันถัดๆ ไป ซึ่งในช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการพักผ่อน รวมถึงในระหว่างที่แฟนๆ รอคอยดูคอนเทนต์ใหม่ ก็จะเป็นการสร้างความน่าติดตาม และสร้างความคาดหวังจากตัวคอนเทนต์ใหม่ไปในตัวด้วย
ที่มา – hunterwalk, theguardian, limitbreaker
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา