4 เทคนิคเพิ่ม Productivity สร้างสภาพแวดล้อมดีๆ พร้อมทำงานที่บ้านฉบับ Marie Kondo

Marie Kondo แนะนำเทคนิคเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม ในขณะทำงานที่บ้าน มีสมาธิ ช่วยสร้างประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มเติม

ช่วงนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยกลับมามีความรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง จนต้องใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ บางบริษัทเริ่มประกาศให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work From Home) อีกครั้ง

Marie Kondo ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดบ้าน ที่มีวลีเด็ดติดหู คือคำว่า “Spark Joy” ได้แนะนำ 4 เทคนิคในการจัดเตรียมบ้านให้พร้อมสำหรับการทำงานที่บ้าน ผ่านการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงไม่ทำให้การทำงานที่บ้านกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ

Marie Kondo
ภาพโดย Designnn.co จาก Unsplash

4 คำแนะนำจัดบ้านเพิ่ม Productivity ของ Marie Kondo

สร้าง “Zen Zone” จุดที่สบายใจเมื่อทำงาน

คำแนะนำแรก Marie Kondo แนะนำว่าควรสร้าง Zen Zone ของตัวเองขึ้นมา ซึ่ง Zen Zone ก็คือบริเวณที่รู้สึกสบายใจเมื่อทำงาน ไม่ว่าเราจะนั่งทำงานที่ไหนก็ตาม ทั้งห้องนั่งเล่น โต๊ะกินข้าว หรือในห้องอ่านหนังสือที่บ้าน ต่างจำเป็นที่จะต้องสร้าง Zen Zone ขึ้นมาก่อน

การสร้าง Zen Zone ของ Marie Kondo คือการเก็บข้าวข้อง เคลียร์พื้นที่ให้เหมาะกับการทำงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเกิดความรู้สึกที่ Spark joy ได้ โดยเริ่มจากการกำหนดว่าสิ่งของชิ้นไหนที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานบ้าง หากของชิ้นไหนที่ไม่จำเป็นก็ให้เก็บใส่กล่องให้เรียบร้อย

เพราะของที่วางอยู่ในพื้นที่ที่เรานั่งทำงานด้วยความไม่เป็นระเบียบ จะรบกวนการทำงาน และลดความสามารถในการคิดริเริ่มของเรา

นอกจากนี้ Marie Kondo ยังแนะนำให้หาสิ่งของที่ทำให้เรารู้สึก Spark Joy ในขณะทำงานนำมาวางไว้ใกล้ๆ ตัว ในระยะที่เรามองเห็นได้ ซึ่ง Marie Kondo ได้ให้ความหมายของ Spark Joy ไว้ว่า สิ่งของ หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้เรามีความสุขนั่นเอง ซึ่งสำหรับเธอแล้วเธอจะเลือกวางแจกันดอกไม้สดไว้ใกล้ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เธอรู้สึก Spark Joy นั่นเอง

สร้างสัญญาณการเริ่มทำงานให้ตัวเอง

คำแนะนำที่สอง Marie Kondo แนะนำว่าควรสร้างสัญญาณที่เป็นตัวบ่งบอกการเริ่มต้นทำงานในแต่ละวัน ซึ่งตัว Marie Kondo เอง เธอจะใช้การตีให้ ส้อมเสียง (Tuning Fork) เริ่มทำงาน หรือหยดน้ำมันหอมระเหยใส่ตัว เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายรู้ว่าขณะนี้อยู่ในช่วงเวลาการทำงานแล้ว

นอกจากการสร้างสัญญาณที่เป็นจุดเริ่มต้นการทำงานให้ตัวเองรับรู้แล้ว เธอยังแนะนำด้วยว่า เมื่อถึงเวลาเลิกงาน ก็ควรสร้างสัญญาณเช่นกัน อาจจะเป็นการเปิดเพลง หรือการปิดการแจ้งเตือนแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการทำงานก็ได้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านในแต่ละช่วงเวลาของวันอย่างราบรื่น

เก็บอุปกรณ์การทำงานเมื่อเลิกงานแล้ว

หากงานที่ทำเป็นงานที่ต้องใช้อุปกรณ์หลายอย่างพร้อมๆ กัน Marie Kondo แนะนำว่าให้เก็บอุปกรณ์การทำงานที่เลิกใช้แล้วเข้าที่ หรือเมื่อเลิกงานแล้วก็ให้เก็บอุปกรณ์เหล่านั้นเข้าที่เช่นเดียวกัน เพราะหากไม่เก็บอุปกรณ์การทำงานอาจรบกวนเวลาพักผ่อนของเราหลังช่วงเวลาเลิกงานแล้ว

เหนื่อยก็ต้องพัก อย่าทำงานแบบหักโหม

คำแนะนำข้อสุดท้ายอาจไม่ได้เกี่ยวกับการจัดบ้านเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสมมากเท่าไหร่นัก แต่ Marie Kondo แนะนำว่า ในแต่ละวันควรมีการกำหนดขอบเขตการทำงานเพื่อพักผ่อน และทำสิ่งอื่นๆ บ้าง

โดยเฉพาะในช่วงเวลาการทำงานที่กินเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน เต็มไปด้วยงานทั้งสำคัญ และไม่สำคัญ เช่น งานที่ต้องรีบทำให้เสร็จ งานเอกสาร และการประชุม Marie Kondo แนะนำว่าเราควรแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือ งานที่เร่งด่วน และงานที่ไม่เร่งด่วน

นอกจากการทำงานแล้วการพักผ่อนก็สำคัญเช่นกัน Marie Kondo แนะนำว่าเราควรกำหนดช่วงเวลาพักผ่อนในแต่ละสัปดาห์ และบันทึกลงไปในปฎิทินของเราเอง โดยในช่วงเวลานั้นให้อยู่กับตัวเองให้มากที่สุด ปิดการแจ้งเตือนเรื่องเกี่ยวกับงานให้หมด เพราะช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายของเราได้ซ่อมแซมตัวเอง เหมือนได้ความคิดใหม่ๆ กลับมาอีกครั้งหนึ่ง

ที่มา – cnbc

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา