อยากเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลต้องทำยังไง? เปิดเคล็ดลับ 4 ข้อที่ผู้นำจำเป็นต้องมี

บทความจากซีอีโอ Garry Burnison จาก Korn Ferry หนึ่งในบริษัทที่ปรึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก เผยเคล็ดลับที่จะทำให้ผู้นำประสบความสำเร็จได้ เขาถอดประสบการณ์ที่ทำงานร่วมกับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญสถานที่ทำงานกว่า 14 ปีที่ทำให้สรุปได้ว่า ผู้นำที่จะประสบความสำเร็จได้ ไม่ใช่เป็นแค่เพียงแรงบันดาลใจให้แก่องค์กร หรือมีความสามารถในการบริหารบุคลากรในทีมได้เท่านั้น แต่ต้องมีทักษะที่สำคัญ 4 เรื่องด้วยกัน

4 ทักษะสำคัญที่ผู้นำจำเป็นต้องมี ดังนี้

หนึ่ง ความสามารถในการปรับตัว สามารถอยู่กับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดหวังได้ อยู่กับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ ปรับตัวเข้ากับข้อจำกัดที่มีอยู่และสามารถฟื้นตัวจากความทุกข์ยากและความลำบากได้

สอง ความสงสัยใคร่รู้ มีความอยากรู้อยากเห็น อยากแก้ปัญหาด้วยหนทางใหม่ๆ เข้าใจในสิ่งที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนได้ มีความปรารถนาที่จะบรรลุความเข้าใจสิ่งต่างๆ อย่างลึกซึ้งได้

สาม ละเอียดรอบคอบ มีความสามารถในการทำงานอย่างเป็นระบบตามที่กำหนดไว้ด้วยความเข้าใจในกระบวนการนั้นๆ และให้ความสำคัญกับความถูกต้อง แม่นยำ

สี่ อดทนต่อความกำกวม คลุมเครือ ไม่ชัดเจน สามารถอยู่กับความไม่แน่นอนได้ มีความเต็มใจที่ที่ตัดสินใจเช่นนั้นและวางแผนในการเผชิญหน้ากับข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์พร้อมได้

Burinson แบ่งระดับผู้นำในที่ทำงานออกเป็น 3 ระดับ คือระดับเริ่มต้น ระดับกลาง และระดับสูง โดยเริ่มที่ผู้จัดการระดับต้นก่อน (Entry level) เขาบอกว่า ผู้นำที่เป็นผู้จัดการในระดับต้นนั้น จะต้องใส่ใจในรายละเอียด ยิ่งใส่ใจรายละเอียดมากเท่าไร เพื่อนร่วมงานและบอสก็ยิ่งเชื่อมั่นได้ว่า งานเหล่านั้นจะเสร็จสมบูรณ์ ถูกต้อง ทักษะความละเอียดรอบคอบถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พนักงานระดับต้น แสดงศักยภาพได้สูงด้วย

ส่วนผู้นำระดับกลาง (Midlevel) ต้องสนใจในเรื่องการมอบหมายงาน สำหรับผู้นำระดับกลางนั้น แม้เรื่องการให้ความสำคัญในเรื่องรายละเอียดจะสำคัญน้อยลง แต่ก็ถือว่ายังสำคัญอยู่ สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการแจกจ่ายงานหรือมอบหมายงานเพื่อให้คนอื่นๆ มีศักยภาพสูงขึ้น นอกจากนั้นผู้นำระดับนี้จะต้องมีความสามารถในการปรับตัว มีความอดทนต่อความกำกวมไม่ชัดได้ ทั้งสองเรื่องนี้จะมาพร้อมกับประสบการณ์ ที่ทำให้สามารถตัดสินใจได้โดยที่ต้องมีความสามารถในการรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้นๆ เช่นกัน

ขณะที่ผู้นำระดับสูง (C Level) จะต้องเป็นผู้นำที่มีศักยภาพสูงและยังมีความสามารถในการปรับตัว มีความอดทนต่อความกำกวม ไม่ชัดเจนสูง พวกเขาไม่เพียงแต่ต้องทำหน้าที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง แต่ยังต้องริเริ่มสิ่งใหม่ด้วย

โดยสรุป ผู้นำทุกระดับที่ว่ามานี้ ทั้งระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง ปัจจัยที่ทำให้เห็นความแตกต่าง คือคุณสมบัติว่าด้วยเรื่อง “ความสงสัยใคร่รู้” ซึ่งจะมีบทบาทแตกต่างกันในแต่ละระดับ ดังนี้

ระดับต้น ความสงสัยใคร่รู้ในผู้นำระดับนี้จะทำให้ทิศทางแห่งการเรียนรู้ไปได้ไกลกว่าปกติและถ้ารวมเอาความริเริ่มสร้างสรรค์ที่ซึมซับประสบการณ์ใหม่ๆ แล้ว จะช่วยสร้างสรรค์ทักษะใหม่ๆ ได้

ระดับกลาง ความสงสัยใคร่รู้หรือความอยากรู้อยากเห็นนี้ จะนำไปสู่ความสามารถในพื้นที่ใหม่ๆ ขยายความสามารถให้ไปได้ไกลมากขึ้น หรือนำพาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคยได้ เช่นทำงานในประเทศอื่นๆ หรือภูมิภาคอื่นๆ ได้

ระดับสูง ความสงสัยใคร่รู้จะกระตุ้นให้รู้จักมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ถือเป็นความจำเป็นยิ่ง สำหรับผู้ที่ต้องการความยิ่งใหญ่มากขึ้น

ที่มา – CNBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา