ใครๆ ก็ว่า “เล่นหุ้น” ไม่ใช่เรื่องยาก และมีข้อดีหลายอย่าง ตั้งแต่การสร้าง Passive income, การมีหุ้นก็เหมือนเป็นเจ้าของธุรกิจ ไปจนถึงการเล่นหุ้นคือการลงทุนที่ดีที่สุด
แต่โลกความเป็นจริงไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะโลกของการลงทุนมีทั้งกำไรและขาดทุน หรือหากจะลงทุนเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ก็มีหุ้นให้เลือกมากกว่า 600 บริษัทฯ
แล้วถ้าจะเริ่มต้นเล่นหุ้น ลงทุนในหุ้น ต้องเริ่มตรงไหน Brand Inside ชวนคุณมาเตรียมตัวลงทุนด้วย 5 สิ่งที่ต้องรู้ก่อนลงทุนกัน
1.สำรวจตนเองว่า ทำไมถึงอยากลงทุน
ก่อนจะกระโดดเข้าสนามการลงทุน เราอาจต้องสำรวจพื้นฐานของตัวเอง รวมถึงเป้าหมายของตัวเราก่อน เพื่อที่เราจะสามารถหารูปแบบ และวิธีการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง เช่น
- ต้องการลงทุนและสร้างเงินเก็บ 100,000 บาทภายใน 5 ปี
- ลงทุนเพื่อสร้าง Passive income (รายได้ที่ไม่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรง) ระหว่างที่ยังทำงานประจำ
- ลงทุนเพื่อมีเงินปันผล
- ลงทุนเพื่อเก็บเงินก้อนให้ลูก
- ลงทุนเพื่อเก็บออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณ
- และอีกหลากหลายเป้าหมาย (หรือเราอาจจะแบ่งการลงทุนตามแต่ละเป้าหมายก็ย่อมได้)
เมื่อเจอเป้าหมายที่ใช่แล้ว จึงมาสำรวจ “เงื่อนไข” และ “การรับความเสี่ยง” ของตัวเองกันต่อ เช่น เงินที่สามารถลงทุนได้ , เมื่อลงทุนแล้วหากขาดทุนจะรับได้แค่ไหน, ผลตอบแทนที่อยากได้อยู่ที่เท่าไร? สามารถเช็คสถานะการเงินเพื่อการลงทุนของตนเองได้ ที่นี่
เมื่อได้ทั้งเป้าหมาย และเงื่อนไขของตัวเองแล้ว เราจะมาสู่ขั้นตอนที่ 2 กัน
2. สไตล์การลงทุน เล่นหุ้นแบบไหนดี?
การเล่นหุ้น อาจจะมีหลายแบบ แต่สามารถแบ่งประเภทนักลงทุนได้ 2 สไตล์หลัก ๆ คือ
2.1 สายลงทุนพื้นฐาน (บ้างก็เรียกลงทุนสายคุณค่าหรือ Value Investing)
เป็นกลุ่มนักลงทุนที่มองระยะยาว (มากกว่า 1 ปีขึ้นไป) เมื่อจะถือหุ้นระยะยาวก็ทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้ต้องดูที่พื้นฐานของหุ้นเป็นหลัก (Fundamental) และบางคนก็เลือกที่จะทยอยเข้าซื้อหุ้นแบบ DCA หรือ Dollar Cost Average หรือการเข้าซื้อหุ้นจำนวนเท่ากันทุกเดือนเพื่อให้ได้ราคาหุ้นที่ถัวเฉลี่ยกันไป
หากจะมองย่อยลงไปในนักลงทุนสายนี้อาจจะเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มที่มีการจ่ายเงินปันผล หรือ หุ้นที่จะเติบโตในระยะยาว
ตัวอย่างของนักลงทุนสายพื้นฐาน เช่น
- Warren Buffett
- John Neff
- ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
2.2 สายเก็งกำไร
เป็นกลุ่มนักลงทุนที่อาจเชื่อว่า ตลาดหุ้น มีจังหวะที่ต้องเข้าซื้อ และขายออกเพื่อทำกำไร ดังนั้นจะเน้นการลงทุนระยะสั้น (น้อยกว่า 1 ปีลงมา) และจะเน้นที่การวิเคราะห์เชิงเทคนิค (Technical Analysis) โดยสายนี้จะมักให้ความสำคัญกับราคา
ทำให้ผลตอบแทนที่นักลงทุนกลุ่มได้มักจะเป็น “ส่วนต่าง” ในการซื้อหุ้นที่ราคาถูก และขายในช่วงที่ราคาแพงกว่าที่ซื้อมา จุดนี้เรียกว่า Capital Gain
สายนี้เองที่แตกแขนงย่อยได้อีกหลาย “สไตล์” เช่น
- Day Trade การซื้อ-ขายหุ้น หรือการเทรดหุ้นใน 1 วัน
- Technical เมื่อต้องมองเรื่องราคาหุ้น ก็จะมีเทคนิคมากมายเพื่อดู “พฤติกรรมของราคาหุ้น” สะท้อนออกมาหลายรูปแบบ เช่น การเล่นหุ้นตามกราฟแท่งเทียน
- สาย Hybrid ที่ผสมผสานทั้งการลงทุนจากพื้นฐาน และเทคนิค
นอกจากนี้บางตำรายังมีสายที่ 3 คือ ลงทุนตามกระแส หรือลงทุนตามเทรนด์ขาขึ้นลงของตลาด
พอได้รูปสไตล์ การลงทุนคร่าวๆ แล้ว เราอาจจะยกตัวอย่างการลงทุนตามเงื่อนไขส่วนตัว เช่น
A อายุ 22 ปี เพิ่งเริ่มต้นทำงาน เงื่อนไขคือ
- ตั้งเป้าหมายมีเงินออม 300,000 บาทภายใน 5 ปี
- มีเงินออมที่สามารถลงทุนได้เดือนละ 3,000 บาท
- อยากได้ผลตอบแทน 5-15% ต่อปีสามารถรับความเสี่ยงว่าหากลงทุนแล้วเงินลดลง 10-30% ของเงินต้นก็รับได้
- ในบางกรณีอาจกระจายการลงทุนในหุ้นที่มีปันผลดี และแบ่งเงินบางส่วนเพื่อเทรดหุ้นเพื่อเก็งกำไร
หากเลือกได้แล้วว่าเราจะลงทุนในหุ้นแน่นอน ก็ต้องมาเปิด “พอร์ตหุ้น” กัน
3. เลือกโบรกเกอร์ (และวิธีการเปิดบัญชี)
การเปิดบัญชีหุ้น เราสามารถเปิดกับ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ได้เลย
ยิ่งปัจจุบันสามารถเปิดพอร์ตหุ้นออนไลน์ได้ในบางบล.แล้ว สามารถเช็ครายชื่อได้ ที่นี่
แต่จะมีรายละเอียดที่นักลงทุนต้องรู้คือ สามารถเลือกประเภทบัญชีหุ้น ได้ 3 แบบ
3.1 Cash Balance บัญชีแคชบาลานซ์ หรือ Pre-Paid (เหมาะกับนักลงทุนเริ่มต้น)
คือ การฝากเงินสดไว้กับโบรกเกอร์ สามารถซื้อขายตามเงินที่ฝากไว้ ซึ่งเงินในบัญชีหากไม่มีการซื้อขายก็ยังได้รับดอกเบี้ย แต่ค่อนข้างน้อยกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก
3.2 Cash Account บัญชีเงินสด
คือ บัญชีที่นักลงทุนวางเงินไว้กับโบรกเกอร์ 20% ของวงเงินที่จะซื้อขาย (เช่นเราวางเงินกับโบรกเกอร์ 2,000 บาท จะลงทุนได้ไม่เกิน 10,000 บาท) และหลังจากซื้อหุ้นแล้วต้องโอนเงินชำระเต็มจำนวน ภายใน 2 วันทำการ (T+2)
3.3 Credit Balance Account บัญชีมาร์จิน
คือ การกู้ยืมเงินจากโบรกเกอร์เพื่อซื้อหุ้น โดยวางหลักประกันในอัตราส่วนที่โบรกเกอร์กำหนด และมีการคิดดอกเบี้ย ซึ่งวงเงินการเทรดจะขยับเพิ่ม-ลดตามมูลค่าของหลักประกันด้วย
ส่วนเอกสารเบื้องต้นในการขอเปิดพอร์ตหุ้นมี 3 อย่าง ได้แก่
- บัตรประชาชน
- สมุดบัญชีธนาคาร (ไว้ตัดเงินเข้าพอร์ต หรือรับปันผล)
- ทะเบียนบ้าน
4. ศึกษาข้อมูลพื้นฐานหุ้น
ข้อ 4 เป็นหัวข้อที่สั้นที่สุด แต่ต้องเรียนรู้มากที่สุด เพราะก่อนจะเข้าซื้อหุ้นสักตัว ต้องทำการบ้าน ทั้งข้อมูลของบริษัทฯ ที่จะเข้าไปซื้อหุ้น เช่น ประเภทธุรกิจ, ภาวะตลาด, โมเดลธุรกิจ, ผลประกอบการย้อนหลัง ฯลฯ
รวมถึงติดตามข่าวสารของที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของหุ้นนั้นๆ ว่ามีทิศทาง หรือปัจจัยที่อาจได้รับผลบวก หรือผลกระทบอย่างไร
- เบื้องต้นสามารถอ่านข้อมูลของหุ้นแต่ละตัวได้ที่ SET (ที่นี่)
- เตรียมตัวให้พร้อม ก่อนซื้อขายหุ้น
5. ถ้ายังไม่มั่นใจ “ทดลองเล่นหุ้น” ก่อนได้
สุดท้ายแล้ว หากยังไม่แน่ใจว่า ข้อมูล เทคนิค และรูปแบบการลงทุนที่เลือกจะ “ใช่” แบบที่คิดไหม และยังไม่มั่นใจ
เราสามารถ “ทดลองเล่นหุ้น” ผ่านการเปิดพอร์ตในเว็บไซด์ Click2win ซึ่งเป็นโครงการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จุดเด่นคือ
- ทดลองซื้อ ขายหุ้น และอนุพันธ์บนมือถือคล้ายกับ Steaming ที่หลายคนใช้เทรดหุ้นจริง
- มีเงินทุนจำลองให้พอร์ตละ 5 ล้านบาท (แต่ระบบจะลบข้อมูลพอร์ตทุก 3 เดือน)
Brand inside รวบรวม 5 สิ่งที่นักลงทุนหุ้นมือใหม่ควรรู้มาไว้ที่นี่แล้ว
สุดท้ายนี้ขอปิดด้วยคำว่า
“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน”
อ่านเพิ่มเติม
อ้างอิง – ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET), ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท).
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา