ไม่มีประเทศไหนล่มจม เพราะดูแลเด็กและคนแก่: ต้องคุยกันเรื่องรัฐสวัสดิการ อย่าปล่อยให้อภิสิทธิ์ชนคิดแทน

ยุคนี้ คำว่ารัฐสวัสดิการไม่ใช่เรื่องเกินเอื้อม ไม่ใช่เรื่องไกลเกินความเข้าใจอีกต่อไป ยิ่งช่วงวิกฤตโควิดระบาดอย่างหนักหน่วงที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เราได้เห็นคุณค่าของสวัสดิการที่รัฐควรจะเป็น ควรจะมีมากขึ้น

วันนี้ เรามาทำความเข้าใจรัฐสวัสดิการผ่านมุมมองผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเรื่องรัฐสวัสดิการมาอย่างยาวนานและยังเคยได้ใช้ชีวิตในประเทศนอร์ดิกที่มีความรุ่งเรืองเฟื่องฟูเรื่องรัฐสวัสดิการอย่างมาก ชนิดที่ชาติตะวันตกก็เทียบไม่ได้ คุยกับ รองศาสตราจารย์ ดร. ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเฉพาะทางสหวิทยาการด้านรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา

Welfare-State

รัฐสวัสดิการสำหรับประเทศไทยนั้น ที่จริงแล้วเริ่มมาตั้งตั้งแต่สมัยอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หรือสมัย 2475 (สำหรับคนที่สนใจแนวคิดรัฐสวัสดิการของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยอาจารย์ปรีดีฯ หาอ่านได้ที่นี่) ถ้านับจากตอนนั้นจนถึงตอนนี้ อาจารย์ษัษฐรัมย์มองว่าเวลาที่เราพูดถึงรัฐสวัสดิการมันคือการพูดถึงเรื่องคอนเซ็ปต์ความเท่ากันของคน ซึ่งก็ถูกพูดมาทุกยุคทุกสมัยที่มีการพยายามพูดเรื่องนี้ ช่วง 2475 ก็เป็นหมุดหมายหนึ่งที่ทำให้การพูดถึงเรื่องนี้มันเข้มข้นมากขึ้น จนกระทั่งถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อที่จะทำให้คนเท่ากัน

แต่ว่าพัฒนาการทางการเมืองในสังคมไทยก็คือการต่อสู้ระหว่างความคิดว่าคนเท่ากันกับคนไม่เท่ากัน การรัฐประหารแต่ละครั้งมันก็อาจจะทำให้ความคิดเรื่องคนเท่ากันมันหายไป หรือว่าทำให้แนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการมันก็จะถูกแทนที่ด้วยความคิดแบบสังคมสงเคราะห์หรือว่ากลไกตลาดรับผิดชอบตัวเอง มันก็จะถูกแทนที่ด้วยเรื่องราวแบบนี้ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าที่ผ่านมามันสูญเปล่า มันมีการสะสมความก้าวหน้าของมัน

หลายครั้งมันก็ไม่สามารถที่จะหมุนกลับไปได้ ทุกวันนี้แม้จะมีรัฐประหาร มีอะไรเกิดขึ้น แต่ว่า มันไม่สามารถเอาคอนเซ็ปต์ที่ว่าหนึ่งคนหนึ่งเสียงไม่เท่ากันกลับมาได้ ไม่มีใครสามารถที่จะพูดแบบนี้ได้ แม้กระทั่งเรื่องประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มันเกิดขึ้นมา 20 กว่าปีก่อนก็ยังไม่มีใครที่จะสามารถยกเลิกหรือปรับแต่งมันให้ย้อนกลับไปสู่สังคมสงเคราะห์แบบเดิม สิ่งหนึ่งที่ผมอยากย้ำก็คือ มันอาจจะไม่ได้ก้าวหน้าเท่าที่ควรอย่างที่มันควรจะเป็น แต่ว่าแน่นอนที่สุด มันมีหน่ออ่อนของการต่อสู้ มีพัฒนาการของมันค้ำยันอยู่

Thai
ภาพจาก Shutterstock

สวัสดิการตามช่วงอายุเป็นเรื่องสำคัญ: เงินเลี้ยงดูเด็ก การศึกษาและบำนาญ

สิ่งที่อาจารย์ษัษฐรัมย์ย้ำมาตลอดก็คือ สวัสดิการตามช่วงชีวิตเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จริงๆ แล้วเขาไม่อยากจัดอันดับว่าอะไรสำคัญกว่ากันด้วยซ้ำ แต่ถ้ามันเป็นเรื่องที่สามารถสื่อสารและทำให้คนสัมผัสและเข้าใจง่ายขึ้น อาจารย์ก็จะย้ำสามเรื่องนี้เพราะว่ามันเป็นสามเรื่องที่เรายังทำได้ค่อนข้างแย่และเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตของคน

การรักษาพยาบาลถึงแม้ว่าจะยังทำได้ไม่ดีนักแต่อย่างน้อยที่สุดเรามีประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว สวัสดิการสามเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งและสามารถทำได้เลยก็คือ เงินเลี้ยงดูเด็ก การศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมหาวิทยาลัยและเงินบำนาญ มันเป็นค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่สูงมาก มันสูงมากจนน่าตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมคนไทยทำงานทั้งชีวิต พอแก่แล้วเขาไม่สามารถมีหลักประกันที่เขาสามารถมีชีวิตอยู่ได้เลย

ในขณะเดียวกันเด็กที่เกิดมา อาจารย์ก็ย้ำอยู่เสมอว่า ในครัวเรือนไทยนั้น มีเด็กที่เกิดมาแล้วแม่ต้องติดลบตัวแดงตั้งแต่ day 1 ของชีวิต จนกระทั่งถึงอายุ 18 ปี พออายุ 20 ปีก็รับมรดกหนี้จากพ่อแม่ อันนี้คือประมาณ 60% ของประเทศนี้ที่ตกอยู่ในสภาวะแบบนี้ คือพ่อแม่ตัวแดงตลอด นี่ไม่ใช่เรื่องปกตินะครับ ถ้าเห็นภาพว่ามันมีเด็กกลุ่มหนึ่ง ถ้าเกิดมาอยู่ในครอบครัวที่เป็นคนชนชั้นสูง เขาสามารถคิดฝัน จินตนาการอะไรได้เยอะเลย แต่ว่าสำหรับเด็กในครอบครัวคนส่วนใหญ่ที่มีปัญหาแบบนี้ มันจะไปจำกัดจินตนาการ ความฝัน ชีวิต และโอกาสต่างๆ อีกมากมายเลย

มันจะไปพ่วงกับเรื่องที่อาจารย์เคยย้ำอยู่เสมอว่า เรื่องการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในระดับสูง ระดับอุดมศึกษาสาเหตุของการเป็นหนี้ทั้งของกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มคนวัยทำงาน มันมาจากการที่เขาเชื่อว่า การศึกษาคือการลงทุน คุณต้องจ่ายให้มากเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นการผูกกับความคิดว่ามันเป็นค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายและมันก็มีราคาแพงมากเลย

ถ้าจะให้วัดกันตอนนี้ มันไม่ใช่แค่กลุ่มคนยากจนนะ กลุ่มคนชั้นกลางหรือแม้กระทั่งระดับ upper middle class เองก็ลำบากเหมือนกัน เมื่อประเมินค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษาของเด็ก พบว่าค่อนข้างแพง น่าจะแพงมากกว่าค่าผ่อนบ้านด้วยซ้ำ มองไป 20-30 ปีก่อน ค่าใช้จ่ายหลักของครัวเรือนคือที่พักอาศัยหรือการผ่อนบ้าน แต่ตอนนี้เมื่อถามเพื่อนที่เป็นหมอหรือว่าคนที่มีรายได้สูงมากๆ ก็พบว่า fix cost เรื่องการศึกษาประมาณ 60% ของรายได้ มันไม่ใช่แค่คนจนเท่านั้นที่ suffer แต่กลายเป็นว่าทุกคนทั้งระบบ suffer กับเรื่องนี้มากๆ เลย อาจารย์ยังย้ำสามอย่างที่มันจับต้องได้นี้และเป็นบาดแผลในชีวิตของคนไทยทุกคนด้วย (ดูแลเด็ก การศึกษา และเงินบำนาญ)

Thai, Bangkok, Traffic

ความเชื่อแบบผิดๆ: รัฐสวัสดิการทำให้คนขี้เกียจ ไม่รักษาสุขภาพ ขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต

ประเด็นเรื่องรัฐสวัสดิการ มักจะมีแนวคิดของคนในกลุ่ม conservative ที่มักจะมีมุมมองแปลกๆ เช่น เรามีสามสิบบาทรักษาทุกโรค คนเลยไม่รักษาสุขภาพ เพราะว่าค่าใช้จ่ายในการรักษามันถูก หรือเมื่อมีนโยบายดูแลคนจนก็เลยทำให้คนจนขี้เกียจ แนวคิดพวกนี้เป็นปัญหาในการขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการหรือไม่ แนวคิดดังกล่าวปะปนอยู่ในกลุ่มผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายด้วย เราควรจะมองเรื่องนี้อย่างไร?

อาจารย์ษัษฐรัมย์ระบุว่า ประการแรก สิ่งที่ผมต้องย้ำคือ ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้น แต่เป็นกันทั้งโลกเลย นี่คือ Totally false เรื่องเหล่านี้ไม่จริงเลย แม้คำอธิบายที่ว่า พอมีรัฐสวัสดิการแล้วชีวิตของผู้คนจะขาดแรงจูงใจต่างๆ แนวคิดเหล่านี้มันเคย pop ในอเมริกายุค 60 ที่พยายามจะบอกว่า คนนอร์ดิกฆ่าตัวตายเพราะประเทศเป็นรัฐสวัสดิการ ประมาณนี้ ซึ่งเป็น pseudo science (คำกล่าวอ้างที่ไม่อิงวิทยาศาสตร์) ก็คือไม่จริง

แม้ในไทยเราก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มันไม่ได้ทำให้คนไปกินเหล้าหรือใช้ชีวิตเสี่ยงมากขึ้นเหมือนโฆษณาประกันชีวิต ไม่เลยครับ มันทำให้คนใส่ใจสุขภาพได้ดีมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะว่าเวลาเราเจ็บป่วย เราก็สามารถไปหาหมอได้โดยที่เราไม่ต้องกังวล

ก่อนหน้านี้มันเป็นระบบอนาถา ลองนึกถึงว่าคนแก่เมื่อมีอาการไอ เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาเป็นมะเร็งหรือว่าเป็นอะไร เขาไม่มีทางทราบเลย แต่เขากลัวว่าจะต้องขายบ้าน ขายนา เพื่อมารักษาตัว ก็เลยไม่ไปหาหมอ สุดท้ายเมื่อไปหาหมอระยะสาม ระยะสี่ รักษาไม่ได้ก็เสียชีวิต นี่คือก่อนหน้าที่จะมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะฉะนั้นมันตรงกันข้ามเลย เอาเข้าจริงแล้วรัฐสวัสดิการมันไม่ได้ทำให้คนขี้เกียจหรือใช้พฤติกรรมที่เสี่ยงแบบนั้น หรือแม้กระทั่ง มีบัตรคนจนแล้วคนอยากเป็นคนจน อันนี้ก็ตลก ไม่ใช่

Thailand Bangkok People wear face masks คนใส่หน้ากาก ช่วงโควิด
ภาพจาก Shutterstock

คนอาจจะพยายามไปลงทะเบียนเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์อะไรบางอย่าง แต่ถ้าเลือกได้ เขาก็อยากเป็นคนรวยหรือมีฐานะ โดยที่ไม่ต้องมาลงทะเบียนแบบนี้ไหม? ผมคิดว่า ไม่มีใครอยากถือบัตรคนจน เขาจะอธิบายกับลูกได้อย่างไร อันนี้บัตรคนจนนะ ต่อไปลูกก็จะได้บัตรนี้เหมือนแม่นะ เนี่ยมันประหลาดมาก แต่ว่าแน่นอนที่สุดเลย เท่าที่ผมได้สัมผัสมา มีชนชั้นนำที่มีความคิดแบบนี้อยู่เยอะทีเดียวเลย

เรียกว่ามีสองอย่าง ถ้าไม่ conservatie ก็เป็นพวกกลไกตลาดสุดโต่ง ก็คือรับผิดชอบตัวเอง ขยันให้มากพอ รัฐส่งเสริมให้นิดหน่อย หรือไม่ก็เป็นพวกที่ชอบสงเคราะห์ แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็คือ มันก็เปลี่ยนแปลงนะ ผมนึกย้อนไป ถ้าเป็นเมื่อ 5 ปีก่อน ถ้าคุยเรื่องรัฐสวัสดิการคนก็จะหัวเราะเยาะ บ้างก็ว่าเป็นพวกหัวรุนแรง แต่ทุกวันนี้ก็จะเห็นว่า พรรคการเมือง พรรคไหนที่ไม่พูดเรื่องรัฐสวัสดิการ มันเริ่มจะ out เริ่มจะตามกระแสความก้าวหน้าของประชาชนไม่ทัน มันมีการเปลี่ยน ชนชั้นนำก็จะไม่กล้าพูดว่า รัฐสวัสดิการทำให้คนขี้เกียจหรือว่าถ้ามีเยอะ คนจะไม่ดูแลสุขภาพ จะไม่มีใครกล้าพูดประโยคนี้ในที่สาธารณะ อาจจะพูดเงียบๆ ในกรุปไลน์ แต่ว่า เชื่อผมเถอะ ณ ตอนนี้ วินาทีนี้ คนไม่กล้าพูดแบบนี้ในที่สาธารณะ

ผมลองเทียบในทางประวัติศาสตร์สังคม มันมีคำพูดของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลอยู่เรื่องหนึ่ง ที่มีความคล้ายคลึงกันอาจารย์ธงชัยทำเรื่อง 6 ตุลา 19 แน่นอนมันมีปัญหาเรื่อง มันไม่ถูกจดจำในพื้นที่สาธารณะต่างๆ แต่พอถึงจุดหนึ่ง อาจารย์ธงชัยเขาบอกว่าเขาพอใจนะ อย่างน้อยที่สุด มันไม่มีใครบอกว่าการฆ่านักศึกษาใน 6 ตุลา 19 เป็นวีรกรรม เป็นการทำเพื่อแผ่นดิน ไม่มีใครเคลมเอาความดีความชอบ ทุกคนจะบอกว่าตัวเองไม่เกี่ยว

แต่เรื่องนี้ ผมมองว่ารัฐสวัสดิการมีความคล้ายกัน ผมว่า ณ จุดวันนี้ ถึงแม้จะมีคนที่พยายามกีดขวางแต่จะไม่มีใครกล้าพูดประโยคเหล่านี้ในที่สาธารณะหรือเป็น public speech ของเขาอีกต่อไป มันน้อยมาก แต่ว่าเขาจะขวางแบบเงียบๆ ขวางแบบไม่เปิดเผย เพราะฉะนั้นจุดเปลี่ยนที่จะทำให้พวกเขาไม่กล้าที่จะพูดก็คือ การต่อสู้ของประชาชน เมื่อประชาชนยืนยันสิทธิในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มันเปลี่ยนกันได้จริงๆ ครับ

ประชาชนสามารถร่วมผลักดัน เปลี่ยนประเทศให้เป็นรัฐสวัสดิการได้

ผมคิดว่ามีสองระดับที่ผู้คนจะสามารถร่วมกันผลักดัน เพื่อนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ นั่นคือระดับที่สามารถ contribute ได้ ในช่วงที่ผ่านมา คลื่นกระแสเรื่องนี้ขยับไปเยอะมากพอสมควร ก่อนหน้านี้คนที่สนใจเรื่องนี้อาจจะเป็นนักเรียนเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์เป็นคนเล็กๆ ในกลุ่มคนเล็กๆ เท่าที่สังเกตตอนนี้ เทียบจากประสบการณ์ผมเอง นิสิต นักศึกษาคณะนิเทศน์ฯ สถาปัตยกรรม สนใจและชวนผมคุยเรื่องนี้มากขึ้น ผมรู้สึกว่ามีสาขาอาชีพที่อาจจะไม่ได้ถูกเทรนให้สนใจเรื่องนี้ แต่รู้สึกว่าสามารถเอาเรื่องนี้ไปปรับใช้ในสาขาตัวเองได้มากขึ้น

เราจะเห็นกลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มวาดการ์ตูนพูดถึงการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงาน พูดถึงรัฐสวัสดิการในแง่มุมต่างๆ ซึ่งเป็นกระบอกเสียงที่ดีมาก มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจเมตาเวิร์ส เคยมาคุยกับผมว่า อยากทำเมตาเวิร์สที่มันเป็น simulation เรื่องรัฐสวัสดิการ ผมคิดว่าในกลุ่มอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเราทำงานด้านการสื่อสาร การสร้างสรรค์ หรือว่าเป็นเรื่องของงานที่ต้องใช้ hard skill มากๆ เช่น หมอก็สนใจเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นในสเต็ปแรก ผมคิดว่า เราสามารถผลักเรื่องนี้ในกลุ่มอาชีพของเราได้

ก่อนหน้านี้ คุณหมอส่วนมากยังไม่ค่อยสนใจเรื่องรัฐสวัสดิการมากเพราะรู้สึกว่าถ้าสวัสดิการดีขึ้น ฉันต้องทำงานหนักเพิ่มมากขึ้นรึเปล่าประมาณนี้ แต่ mindset ของกลุ่มคุณหมอรุ่นถัดมาคือ ไม่ใช่นะ เราสามารถมีคุณภาพชีวิตของหมอที่ดีกับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้นได้พร้อมกัน

Thailand Bangkok

ผมรู้สึกว่านักธุรกิจก็เริ่มสนใจเรื่องนี้ เขารู้สึกว่ากำแพงชนชั้นที่มันเตี้ย มันดีกับเขามากกว่า ดีกว่าการสร้างกำแพงชนชั้นสูงๆ แล้วเขารู้สึกว่าเขาต้องเอาลูกเขาไว้อยู่หลังกำแพง เงินหมื่นล้านของเขาซื้อกำแพงที่เตี้ยในประเทศนี้ไม่ได้ นักธุรกิจหมื่นล้านเขาบอกเลยว่าเขาซื้อแนวคิดพวกนี้ เขารู้สึกว่า เงินที่เขามีเท่าไร เขาซื้อโรงพยาบาล ซื้อโรงเรียนอินเตอร์ให้ลูกก็ทำได้ แต่เขาซื้อกำแพงที่เตี้ยไม่ได้ อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่า กลุ่มอาชีพต่างๆ สามารถผลักดันเรื่องนี้ได้ ทั้งฝ่ายบุคคล บัญชี สื่อสาร ฯลฯ ในส่วนที่เราทำงานตามสาขาอาชีพต่างๆ ที่สามารถผลักดันเรื่องนี้

สำหรับกลุ่มคนทั่วไป จะให้ไปทำงานผลักดันตามอาชีพก็อาจจะไม่ได้มีพื้นที่มากขนาดนั้น จะให้ไปมีส่วนเร่วมกับภาคประชาสังคมหรือพรรคการเมือง ก็อาจจะไม่มีพื้นที่ขนาดนั้น แม้พรรคการเมืองจะเริ่มเปิดมากขึ้นเพื่อให้คนธรรมดาเข้าไปได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากย้ำว่าทุกคนทำได้ คือการคุยกันเรื่องนี้ คุยกันว่าเราอยากได้อะไร คุยกันว่าทำไมเราต้องมาร้องเพลงเพื่อให้ได้ทุนการศึกษา ทำไมเด็กถึงต้องทำแบบนี้ คุยกันว่าทำไมคนแก่อายุ 70 กว่ายังต้องทำงานเลี้ยงคนแก่ติดเตียง ศักดิ์ศรี คุณภาพชีวิตมนุษย์มันอยู่ที่ไหน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มันอยู่ที่ไหน ทำไมคนรวยในประเทศนี้ถึงไม่มี shame

คนรวยไทยมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งที่มันต่างจากหลายที่คือ คนรวยไทย ไม่ shame ไม่ guilt ไม่ละอายใจ ไม่มีความรู้สึกผิด คนรวยต่างประเทศถ้าเราสังเกตนะ เขาก็ไม่ได้มาโชว์อะไรมาก ใช้ชีวิตหวือหวาในส่วนของเขา แต่ว่าคนรวยไทยไม่รู้สึกว่าสิ่งที่เขามีอยู่มันเป็นเรื่องที่น่าละอาย ไม่ได้เป็นความผิดบาปที่เขาสูบทรัพยากรไป เราสามารถคุยกันได้ว่า คุณช่วยรวยให้น้อยลงและกระจายสิ่งเหล่านี้กลับสู่สังคมให้มากขึ้นได้ไหม หรือว่าเราอยากได้อะไร เราอยากได้มหาวิทยาลัยฟรี เราอยากได้การศึกษาที่มันดี

ศูนย์เลี้ยงเด็กที่มันอยู่ข้างบ้านเรา ศูนย์เลี้ยงเด็กในคลองเตยกับศูนย์เลี้ยงเด็กในสุขุมวิท ในโรงเรียนอินเตอร์ห่างกันแค่ระยะ 800 เมตร ทำไมโรงเรียนอินเตอร์แถวสุขุมวิทมีหญ้าสีเขียว แต่ทำไมคลองเตยเป็นทรายทั้งที่ห่างกันแค่ 800 เมตร หรือเราเชื่อจริงๆ ว่าพอจ่ายแพงแล้วต้องได้ของดี ซึ่งความจริงแล้วเราสามารถได้ของดีที่สุดและฟรีได้ ประเทศนี้มีทรัพยากรมากพอ

สถานีกลางบางซื่อ

นี่แหละ เราคุยกัน คุยกันในกลุ่มเพื่อน ส่งเสียงออกมา คุยกันในวงกินข้าว คุยกับแฟน คุยกับเพื่อนเก่า คุยกันเรื่องนี้ ถ้าเราส่งเสียงกันมาก มันจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง เพราะถ้าเราไม่คุยกัน อภิสิทธิ์ชนก็จะคิดแทนเรา เช่น เขาคิดว่าโอเค เอาศูนย์เลี้ยงเด็กแค่นี้แหละ เอาแค่นี้เอากันตายแค่นี้พอ แต่ว่า เลขาสภาพัฒน์ฯ หรือว่าข้าราชการ อธิบดีที่ออกแบบศูนย์นี้มา กำหนดงบมาให้ ลูกหลานเขาไม่ได้ใช้เหมือนกับศูนย์เด็กเล็กที่ร้อยเอ็ด ที่มหาสารคราม

เราอยู่กับพื้นที่ตรงนี้เราส่งเสียงได้ แต่ถ้าเราไม่พูดพวกอภิสิทธิ์ชนก็จะคิดแทนเราว่า เอาแค่นี้ มีเงิน อยากได้ของดีก็ไปจ่ายเพื่ออย่างอื่นสิ เราสามารถส่งเสียงได้ในระดับประชาชนทั่วไป คุยกัน หรือใช้เสียงของเราตามคอมเมนท์ข่าว ในการบอกว่า เราอยากได้อย่างนี้ เราอยากได้รัฐสวัสดิการ เราอยากได้เรื่องเหล่านี้ซึ่งเป็นเรื่องที่ง่าย ทุกคนพูดได้ และเป็นเรื่องที่ผมพยายามย้ำมาโดยตลอด

บทบาททุนผูกขาด ช่วยทำให้สวัสดิการไทยดีขึ้นได้ด้วยการรู้จักสละออก

ผมคิดว่าทุนของไทยใหญ่มากและยังแนบชิดกับอำนาจรัฐ หลายครั้งที่นโยบายก้าวหน้าเมื่อเข้าไปอยู่ในระดับสภา เราก็จะพบว่ามันก็มีกลไกที่กลุ่มทุนพยายามจะทำให้เรื่องบางอย่างมันล่าช้าออกไป ไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนได้ มันมีปัญหาอย่างหนึ่ง

ยกตัวอย่าง รายได้คนแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม มีคนรายได้ 300,000 บาท คนรายได้ 30,000 บาท และคนรายได้ 13,000 บาท ถ้าแบ่งคนเป็นสามกลุ่มในประเทศนี้ เวลาเกิดปัญหากับคนที่รายได้ 13,000 บาท คนรายได้ 30,000 บาทจะพยายามทำความเข้าใจคนรายได้ 300,000 บาท เช่น สงสารเจ้าสัวฯ เห็นใจจังเลย เขาทำงานอย่างหนัก เลี้ยงพวกเราอย่างดี ทั้งที่คนรายได้ 30,000 บาทกับคนรายได้ 13,000 บาท มันใกล้กันมาก และ 30,000 บาทจะกลายเป็น 13,000 บาทได้ทุกเมื่อ แต่คนรายได้ 30,000 บาทจะกลายเป็น 300,000 บาทเมื่อไรไม่มีใครทราบ แต่มีแค่จินตนาการว่าวันหนึ่งเราก็จะได้ใช้ชีวิตแบบเขา

ผมคิดว่าคนที่จะเปลี่ยนได้คือคนจำนวน 99% ต้องรวมตัวกัน ผมคิดว่าสิ่งที่มันจะดีขึ้นสำหรับกลุ่มทุนหรือคน top 1% ไม่ได้เป็น zero sum game ขนาดที่ว่าถ้าเป็นรัฐสวัสดิการแล้วพวกคุณจะถูกปล้น ความมั่งคั่งของคุณก็จะหายไปหมด ผมคิดว่ามันดีกว่านั้นถ้าเราจะอยู่ในสังคมที่มีความเสมอภาคมากขึ้น ผมว่ามันก็น่าจะดีกว่าที่เราอยู่ในสังคมที่อาชญากรรมมันจะน้อยลง คุณภาพชีวิต อากาศ น้ำ และคนที่อยู่ในสังคมเดียวกับลูกหลานของเรา เขาไม่ต้องกังวลว่าจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าเทอม วันหนึ่งถ้าเขาตกงาน เพื่อนของลูกเราจะหายไปเพียงแค่ว่าพ่อแม่ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม

ผมคิดว่าจริงๆ แล้ว สังคมที่มันเสมอภาคกันมันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น แนวคิดเช่นนั้นมันถูกสร้างเกินจริงตั้งแต่ยุคสงครามเย็นว่า ความเสมอภาคจะนำไปสู่ความน่ากลัว ขาดอิสระ เสรีภาพ แต่ว่าสวีเดนก็มีความเสมอภาคที่เยอะ ฟินแลนด์และเดนมาร์กก็มีเยอะ แต่ว่าเศรษฐกิจเขาก็เติบโตสร้างสรรค์ คนก็สามารถเป็น SMEs ได้ คนสามารถเปลี่ยนสายงาน พัฒนาทักษะของตัวเองได้ นี่แหละ ผมคิดว่ามันเป็นประโยชน์ ถ้าคนในกลุ่ม top 1% จะสละอะไรบ้าง เพื่อให้คน 99% ได้ใช้ชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรี มันชัดเจนว่า ความมั่งคั่งของคน 1% มันไม่ได้ได้มาจากสุญญากาศ มันได้มาจากเลือด เหงื่อ น้ำตาของคนทำงานทั้งนั้น อันนี้คิดว่าแฟร์ที่สุดแล้ว คุณแค่สละอะไรบ้าง เพื่อให้คนที่ทำงานให้คุณได้เติบโตขึ้นมา

จริงๆ แล้วหลายคนอาจจะไปกลัวเรื่องภาษีต่างๆ แต่สิ่งที่ผมพยายามย้ำอยู่เสมอก็คือ ณ ขั้นแรกที่เราสามารถ kickoff ได้ตั้งแต่แรกคือเราทำได้เลยคือปรับโครงสร้างภาษี ด้วยการปรับฐานของกลุ่มคนที่มั่งคั่งมากๆ คนที่มีทรัพย์สินเกิน 100 ล้านบาท เกิน 200 ล้านบาท ไม่ต้องกลัวเขาย้ายฐานการผลิตขนาดนั้น ภาษีเป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง โครงสร้างพื้นฐานและคุณภาพของแรงงาน กำลังซื้อของคนในประเทศต่างหากที่เป็นปัจจัยใหญ่มากกว่าในการที่จะดึงดูดกลุ่มทุนไว้ ภาษีเป็นแค่ 1 ใน 8 ปัจจัยเท่านั้น ผมว่ารัฐสวัสดิการมันไม่ได้เป็นศัตรูกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเลย มันส่งเสริมกันด้วยซ้ำ

wealth rich
shutterstock

ทำไมคนเงินเดือน 30,000 บาท ชอบเถียงแทนคนเงินเดือน 300,000 บาท? ผมเคยถามคำถามนี้แก่นักศึกษา ซึ่งมีคำตอบหลากหลายแต่ก็มีคำตอบอันนึงน่าสนใจมากว่า เพราะคนรายได้สามแสน เขาดูใจดี ดูเป็นมิตร ดูสุภาพ ดูมีการศึกษา ดูเข้าอกเข้าใจ มันจึงไม่แปลกที่คนสามหมื่นจะรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนรายได้สามแสน

มันก็เหมือนหนังเรื่องปรสิต คือถ้ารวยขนาดนั้นก็จะใจดีแบบนั้นก็ได้ มันอาจจะเป็นเหตุผลนึงที่มันดูเป๊ะ ดูเป็นฟอร์มอะไรบางอย่างที่เราอยากมีชีวิตแบบนั้น มันเลยไม่แปลกที่เรารู้สึกว่า คนสามแสนเขากินอาหารมื้อละสองพันได้ทุกมื้อ แต่เรากินได้เพียงแค่เดือนละมื้อเราก็รู้สึกว่าเราใกล้ชิดกับเขาแล้ว ประมาณนี้ แต่ว่าไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะในสังคมจริงๆ ที่ไม่ใช่แค่สังคมไทย ทั่วโลกที่มีความเหลื่อมล้ำมาก ๆ จะเกิดปรากฏการณ์แบบนี้

เมื่อใดก็แล้วแต่ที่มันเกิดการต่อสู้กัน ประชาชนชนะ เกิดรัฐสวัสดิการขึ้นมา มันก็จะกลับตาลปัตร ยกตัวอย่างที่ผมเคยคุยกับเพื่อนอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย เป็นชาวเดนมาร์ก เขาเงินเดือนประมาณ 200,000 บาท ผมถามว่าเขานิยามชนชั้นเขายังไง เขาบอกว่าเขาเป็นผู้ใช้แรงงาน เขามีสหภาพ เวลาสหภาพแรงงานพยาบาลหรือว่าสหภาพนักการภารโรงนัดหยุดงาน อาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างเขาก็ไปร่วมด้วย ไปนัดหยุดงานด้วยกัน เขารู้สึกว่าเขาเป็นชนชั้นแรงงาน

เขาถามผมบ้าง ผมรายได้น้อยกว่าเขาหลายเท่าเลย เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในไทย แต่ผมนิยามตัวเองว่าเป็นชนชั้นกลางนะ ทั้งๆที่จริงแล้ว รายได้ผมน้อยกว่าอาจารย์ที่เดนมาร์กหลายเท่ามากเลย สถานะชีวิตของผมก็ปากกัดตีนถีบเหมือนชนชั้นกลางไทยทั่วไป แต่ว่าน่าแปลกมากเลยในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการ เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันผ่านสังคมที่มันโอบอุ้มกันมา มันก็จะไม่เกิดภาวะเงินเดือน 30,000 บาทปกป้องคนเงินเดือน 300,000 บาท แต่จะเป็นการรวมตัวกันต่อสู้

Finland
Finland, Photo by Tapio Haaja on Unsplash

ฟินแลนด์คือหนึ่งในกลุ่มของประเทศรัฐสวัสดิการก้าวหน้า ที่น่าสนใจมากที่สุด

อาจารย์ษัษฐรัมย์เคยไปทำงานเป็นนักวิจัยระยะสั้นทั้งที่สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์และเดนมาร์ก ประเทศเหล่านี้เป็นรัฐสวัสดิการมากกว่าไทย โดยมาตรฐานแล้วประเทศเหล่านี้เป็นรัฐสวัสดิการที่มีความก้าวหน้ากว่าไทยและยังก้าวหน้ากว่าตะวันตกมาก มากกว่าอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส

มีความก้าวหน้ามากในแง่ของการดูแล ไม่ว่าผู้คนจะมีที่มาอย่างไร จะเป็นผู้อพยพก็ได้รับการดูแลที่ดี ถ้าให้เทียบความแตกต่างคิดว่าประเทศที่น่าสนใจก็คือฟินแลนด์ สวีเดนอาจจะเป็นประเทศใหญ่  เสรีนิยมใหม่ก็เข้าไปเยอะมากขึ้นและยังมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่เยอะ ส่วนนอร์เวย์ที่หลายคนอาจจะแย้งว่าเขามีน้ำมัน แต่จริงๆ แล้วการมีน้ำมันไม่เกี่ยวกับการมีรัฐสวัสดิการ หลายประเทศมีน้ำมันคนก็ยังจนอยู่

ฟินแลนด์น่าสนใจเพราะเคยเป็นประเทศยากจน เคยมีสงครามการเมือง มีอาณาเขตติดกับรัสเซีย ซึ่งเรื่องควาามมั่นคงเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเค้า แต่ว่าเขาสามารถสร้างรัฐสวัสดิการได้ ขณะที่ประเทศไทยติดแค่พม่า ทหารไทยยังอยากซื้ออาวุธตลอดเวลาเลย ฟินแลนด์เขามีพื้นที่ติดกับรัสเซีย เขายังเอางบประมาณที่สำคัญมาพัฒนาชีวิตของคนก่อนที่จะมาทำเรื่องความความั่นคงของรัฐหรือด้านกลาโหมต่างๆ เขาใช้เวลาไม่นาน ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ก้าวสู่การเป็นรัฐสวัสดิการช้ากว่าประเทศอื่นก็เพราะว่าปัญหาสงครามการเมืองและปัญหาความขัดแย้งกับรัสเซียนี่แหละ เพิ่งจะทศวรรษ 80 นี้เองที่เริ่มเป็นรัฐสวัสดิการเต็มขั้น

นอกจากนี้ ฟินแลนด์ยังเป็น republic ซึ่งแตกต่างจากหลายประเทศในสแกนดิเนเวีย เป็นความน่าสนใจที่พูดเรื่อง egalitarian แบบเต็มที่ (ความเท่าเทียม) ในสังคมที่มีรัฐสวัสดิการที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เคยมีคนถามว่าให้ยกตัวอย่างสวัสดิการเจ๋งๆในฟินแลนด์ให้หน่อย ซึ่งมันมีเยอะมาก เช่น ถ้าคุณเกิดมาเป็นเด็กดาวน์ซินโดรม รัฐบาลเขาจ่ายเงินเดือนให้ตลอดชีวิต มีค่าที่อยู่อาศัย จัดพื้นที่ จัดนิคม มี social care ต่างๆ ให้ เพราะบางคนก็อยู่กับพ่อแม่มาและอยู่จนอายุ 40 ปี ไม่สามารถดูแลได้ ซึ่งรัฐเขามีการดูแลให้

ผมประทับใจมากเพราะว่าบ่อยครั้งเราจะคิดเรื่องสวัสดิการคือการลงทุน เช่น ต้องลงทุนเรื่องการศึกษา เรื่องรถไฟฟ้า ฯลฯ ถึงจะได้ผลประโยชน์อะไรตอบกลับมา แต่ว่าเรื่องเหล่านี้คุณจะไม่ได้กำไรอะไรกลับมาเลย แค่เพียงเพราะว่าคุณเป็นคน คุณเป็นมนุษย์ มันไม่ได้รับกำไรตอบกลับมาแต่ว่ามันคือการค้ำยันความเป็นมุษย์โดยที่คุณจะไม่ได้อะไรตอบแทนกลับมา ในสิ่งนี้ผมคิดว่ามันน่าสนใจ

Sanna Marin
Sanna Marin

ที่คิดว่าพีคสุดก็คือ ยกตัวอย่างนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของฟินแลนด์ Sanna Marin ได้เป็นนายกฯ ตอนอายุ 34 ปี มาจากครอบครัว LGBT มีแม่เลี้ยงเดี่ยวที่พ่อติดเหล้าและแต่งงานกับคู่สมรสใหม่ที่เป็น LGBT เธอเป็นคนแรกในตระกูลที่เรียนจบมหาวิทยาลัย ทำงานแรกก็ทำงานที่ร้านสะดวกซื้อ เคยมีคนตั้งคำถามว่า คนที่ทำงานเป็นผู้จัดการร้านสะดวกซื้อจะสามารถบริหารประเทศได้เหรอ?

Sanna Marin บอกว่า สำหรับประเทศคุณมันอาจจะแปลกนะ แต่ว่าที่นี่ฟินแลนด์ไง คุณเป็นใครก็ได้ คุณเป็นเด็กผู้หญิงในครอบครัว LGBT ของ Single mom คุณก็สามารถที่จะมีชีวิตที่ดีได้ สามารถเป็นนายกฯ ได้ และมันไม่ได้จับฉลากมาถึงเป็นได้นะ Sanna Marin เป็นนายกเทศมนตรีตอนอายุ 28 ปี พออายุ 30 ปีเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม อายุ 34 ปีเป็นนายกรัฐมนตรี เส้นทางแบบนี้ถ้าในไทยต้องเป็นเฉพาะชนชั้น elite แต่นี่เด็กทั่วไปในฟินแลนด์สามารถฝันถึงเรื่องพวกนี้ได้

คุณสามารถฝันถึงการเป็นนายกฯ ได้ ความรวย ความจน โชคชะตาของคนรุ่นพ่อแม่ไม่ถูกส่งต่อ ฟินแลนด์ก็เป็นประเทศที่น่าสนใจ เป็นกรณีศึกษาที่น่าคิด การเปลี่ยนประเทศที่ยากจน มีความขัดแย้ง และใช้เวลาไม่กี่ทศวรรษ แค่ยุคเดียวก็นำสู่ประเทศที่มีความเสมอภาคและเคารพความเป็นมนุษย์ขนาดนี้

นโยบายรัฐสวัสดิการที่สามารถทำในไทยได้เลยทันทีคือเรื่องบำนาญ, เรียนมหาลัยฟรีมีเงินเดือนและเงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้าให้ทุกคนเดือนละ 3,000 บาท ทั้งหมดนี้คือทุกคนมีเงินเดือนนะ เอาตามข้อเสนอภาคประชาชนคือ 3,000 บาท เด็กเกิดมาทุกคนได้เดือนละ 3,000 บาท เรียนมหาวิทยาลัยฟรีได้เดือนละ 3,000 บาท เลี้ยงคนแก่ก็เดือนละประมาณ 3,000 บาท

เอาเข้าจริงแล้วมันไม่น่าจะมีใครคัดค้าน เช่น เรื่องเรียนมหาวิทยาลัยฟรี มันจะมีนักการเมืองหรือชนชั้นนำคนไหนจะมาคัดค้านและบอกว่าเงินจะหมดประเทศจากการให้เด็กเรียนหนังสือ มันไม่มีประเทศไหนหรอกที่ล่มจมเพราะดูแลเด็กและดูแลคนแก่แบบนี้ ผมคิดว่า 3 นโยบายนี้เป็นนโยบายที่สามารถเอามาใช้ได้เลย เรื่องงบประมาณการสร้างบำนาญประชาชนใช้ประมาณ 4 แสนล้านบาทต่อปีซึ่งถ้าคิดเป็นเงินก็ประมาณ 11% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือว่าการทำให้มหาวิทยาลัยเรียนฟรีพร้อมเงินเดือนใช้งบประมาณราว 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งผมคิดว่าน้อยมากสำหรับ 2 แสนล้านบาทต่อปี มันใกล้เคียงกับกระทรวงกลาโหม แต่มันหมายความว่าคุณลงทุนกับเรื่องนั้นได้ คุณก็ลงทุนกับเรื่องนี้ได้เหมือนกัน

children

เรื่องเด็กผมคิดว่ามันสำคัญมาก เพราะเวลาของเด็กมันเป็น expotential curve คือหนึ่งวันของเด็กกับหนึ่งวันของผู้ใหญ่ไม่เท่ากัน หนึ่งวันของเด็กที่ต้องพบกับความยากจน หนึ่งวันของเด็กที่แม่ไม่มีเงินจะจ่ายค่านม หนึ่งวันของเด็กที่เด็กไม่สามารถไปโรงเรียนได้ มันเป็นกราฟทวีคูณรุนแรงมากเลย ถามว่าประเทศเรามีเงินไหม ปี 2566 พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีหมวดยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลตั้งไว้ 7 แสนล้านบาท

ประเทศนี้ตั้งงบ 700,000 ล้านบาทไว้ในกระทรวงต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่มันไปอยู่กับโปรเจคต์ราชการ ฝึกอบรม สร้างอาชีพ แต่ไม่ส่งตรงถึงคน ผมคิดว่าถ้าเราปรับใหม่ให้งบประมาณนี้ส่งตรงสู่คนแบบถ้วนหน้าให้ทุกคน ผมคิดว่าสามนโยบายนี้เป็นไปได้ มันจับต้องได้ มันเปลี่ยนชีวิตของคนจริงๆ

สุดท้าย สิ่งที่อาจารย์ษัษฐรัมย์อยากฝากไว้คือ ด้านหนึ่งเราต้องช่วยกันทลายมายาคติที่ว่ารัฐสวัสดิการซับซ้อน ยาก เราไม่มีข้อมูล เราไม่สามารถที่จะพูดได้ หรือมองว่าเมื่อพูดไปแล้วทำไม่ได้ มองว่าเป็นเรื่องอุดมคติ ผมอยากย้ำว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ practical มากเลย ไม่ใช่เรื่องอุดมคติ ไม่ได้เป็นเรื่องเพ้อฝัน ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถส่งเสียงได้

เราเป็นพ่อ เราเป็นแม่ เราเป็นลุง เราเป็นป้า เราอยากให้ลูกหลานของเราเติบโตในสังคมเสมอภาคใช่ไหม มีเงินกินข้าว ได้เรียนหนังสือที่ดีๆ ไม่ต้องแข่งขันกันมาก เช่นเดียวกัน เราก็อยากให้คนที่อยู่ในสังคมเดียวกับเรามีชีวิตที่ปลอดภัยยามแก่ชรา ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องยากซับซ้อน

อันนี้คือเครื่องประทับตราสำคัญว่าเรายังเป็นมนุษย์ แม้นว่าเราจะไม่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้โดยตรง เหมือนกับเรื่องสมรสเท่าเทียม แม้ว่า เราจะเป็น straight เราจะรักชอบเพศตรงข้าม เราก็สามารถรู้สึกเจ็บปวดและสามารถสนับสนุนสมรสเท่าเทียมได้ รู้สึกเจ็บปวดได้ว่าทำไมเขายังไม่ได้ เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่า แม้พ่อแม่เราจะเสียไปหมดแล้ว หรือว่าเราจะกู้ กยศ. และเราใช้หมดแล้ว เรายังรู้สึกเจ็บปวดด้วยว่าทำไมเด็กรุ่นใหม่ต้องมากู้ ทำไมเด็กรุ่นใหม่ยังต้องมีชะตากรรมแบบนี้ ทำไมคนแก่แม้เราจะไม่รู้จักจึงมีชะตากรรมแบบนี้

เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันเป็นการยืนยันความเป็นมนุษย์ในตัวเรา บางครั้งเราอาจจะไม่ได้ประโยชน์โดยตรงทุกเรื่อง แต่ว่ามันเป็นการยืนยันว่าเรายังเป็นมนุษย์อยู่ เราจึงสามารถเจ็บปวดกับเรื่องเหล่านี้ได้

Thai COVID-19
(Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

สรุป

รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าคือกลไกสำคัญที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนในประเทศให้ดีขึ้น เราต้องส่งเสียงพูดคุยกันถึงเรื่องนี้ให้กลายเป็นเรื่องปกติ ให้เหมือนกับทุกๆ เรื่องที่เราพูดคุยหรือถกเถียงกันในสังคมจนสุดท้ายมันนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น

รัฐสวัสดิการเป็นเรื่องที่ต้องพูดถึง ต้องคุยกัน อย่าปล่อยให้อภิสิทธิ์ชนคิดแทนเรา ทำแทนเรา ไม่เช่นนั้น คุณก็จะได้สวัสดิการแบบที่คนคิดไม่ได้ใช้ คนได้ใช้ไม่มีความสุข ไม่รู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่รัฐหยิบยื่นให้ เพราะเขาไม่ได้มองมันเป็นสิทธิ แต่กลายเป็นการสงเคราะห์ที่ต้องมอบความช่วยเหลือให้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา