กลัว กังวลจนเป็นทุกข์ เรียนรู้วิธีจัดการกับความทุกข์ในวันที่โควิด-19 คุกคามชีวิต

ความทุกข์ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่สร้างความกังวลให้กับเราเป็นอย่างมาก วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่ทันตั้งตัว เราออกไปทานอาหารนอกบ้านไม่ได้ ไปเดินเล่นในห้างสรพพสินค้าไม่ได้ ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เราเกิดความทุกข์โดยไม่รู้ตัว

ความทุกข์ ความเศร้าโศกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ภาพจาก pixabay.com

Devid Kessler หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านความทุกข์ และเจ้าของเว็บไซต์ grief.com เล่าว่า ความจริงแล้วความทุกข์เป็นสิ่งที่ไม่ได้น่ากลัวเสมอไปหากเรารู้สาเหตุ และสามารถจัดการกับมันได้อย่างถูกวิธี สิ่งแรกที่ควรทำคือ เข้าใจก่อนว่าความทุกข์คืออะไร

Devid Kessler เล่าว่า ความรู้สึกที่มีมากมายภายในจิตใจคน อาจเรียกได้ว่าเป็นความทุกข์เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ความกังวลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ การสูญเสียปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่นในช่วงกักตัว สิ่งเหล่านี้คือความทุกข์ทั้งสิ้น

ความเจ็บป่วย หรือความกังวลว่าจะสูญเสียคนรัก เป็นความทุกข์รูปแบบหนึ่ง ภาพจาก pixabay.com

บางครั้งความทุกข์อาจมาในรูปแบบของความกังวล เพราะความไม่แน่นอนในอนาคตก็ได้เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องความเป็นความตายของคน เราอาจมีคนในครอบครัวที่ป่วยหนัก เรากังวลว่าวันหนึ่งเราจะสูญเสียคนที่เรารักไป หรือแม้แต่ความทุกข์ที่เกิดจากการจินตนาการว่าจะเกิดเรื่องไม่ดี แม้ว่าจะยังไม่เกิดขึ้นจริงแต่ทำให้เรารู้สึกขาดความมั่นคงในชีวิต

ก่อนจะจัดการกับความทุกข์ ต้องเข้าใจความทุกข์ก่อน

ก่อนที่เราจะกำจัดความทุกข์ออกจากใจเราได้ สิ่งแรกที่จำเป็นที่สุดคือ ต้องเข้าใจก่อนว่าความทุกข์ก็มีระดับขั้นของมันเช่นกัน Devid Kessler ได้แบ่งความทุกข์ออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 ช่วงการปฎิเสธความจริง เป็นช่วงแรกของความทุกข์ที่เรารู้ว่ามันมีสถานการณ์บางอย่างเกิดขึ้น แต่เราไม่ยอมรับ เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว เช่น สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในช่วงแรกเราคิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว ไม่น่ากลัว ไม่เกี่ยวกับเรา

ช่วงที่ 2 ช่วงความโกรธ เป็นช่วงที่เราเริ่มรู้สึกถึงผลกระทบที่ตามมาของสถานการณ์แล้ว แต่เรายังไม่ยอมรับความจริง เราอาจได้รับผลกระทบอะไรบางอย่างในช่วงนี้ เช่น คุณอาจไม่พอใจที่หน่วยงานรัฐออกมาตรการให้อยู่แต่ในบ้าน ต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ทำให้อิสระในการใช้ชีวิตของคุณหมดไป

ช่วงที่ 3 ช่วงการต่อรองเงื่อนไข เป็นช่วงที่เราเริ่มยอมรับความจริงถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เช่น คุณยอมทำตามมาตรการอยู่แต่ในบ้านของรัฐบาล เพราะหวังว่าจะช่วยให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดีขึ้น

ภาพจาก pixabay.com

ช่วงที่ 4 ช่วงความเศร้า แม้ว่าจะผ่านช่วงแห่งการต่อรองเงื่อนไข ซึ่งดูเหมือนว่าคุณจะยอมรับกับสถานการณ์ได้แล้ว แต่เมื่อสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น คุณจึงเริ่มรู้สึกถึงความเศร้า ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่สถานการณ์การจะดีขึ้น

และช่วงที่ 5 ช่วงแห่งการยอมรับ เป็นช่วงที่คุณเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงหาทางควบคุมมันให้ได้ เช่น คุณรู้จักที่จะล้างมือ รักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนเมื่อไม่จำเป็น รวมถึงเริ่มทำงานที่บ้าน (Work From Home)

ทำอย่างไรเพื่อจัดการกับความทุกข์?

วิธีการที่จะจัดการกับความทุกข์มีมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิธีที่ทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเองอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องรู้จักเปิดใจยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นก่อน

ต้องรู้จักมองโลกในแง่ดี จินตนาการถึงสิ่งดีๆ ในชีวิตเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดความทุกข์ในจิตใจ ภาพจาก pixabay.com

ต้องรู้จักมองโลกในแง่ดีบ้าง

วิธีแก้ไขความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจเราง่ายที่สุดคือต้องรู้จักมองโลกในแง่ดีบ้าง ซึ่งการมองโลกในแง่ดีเป็นเหมือนการสร้างสมดุลให้กับสิ่งที่เราจินตนาการ เมื่อเรารู้สึกว่าเรากำลังจินตนาการถึงอนาคตที่เลวร้าย แม้ยังไม่เกิดขึ้นจริง ให้ลองปรับวิธีคิดด้วยการจินตนาการถึงสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นบ้าง เช่น หากเรามีคนในครอบครัวที่กำลังป่วย เราเริ่มกลัวว่าเขาคนนั้นจะเสียชีวิต ให้ลองจินตนาการว่าวิทยาการทางการแพทย์มีความก้าวหน้ามากขึ้น ก็อาจช่วยรักษาชีวิตคนที่เรารักไว้ได้

อยู่กับปัจจุบันให้มากขึ้น

ถ้าคุณไม่สามารถหยุดจินตนาการถึงเรื่องไม่ดี หรือไม่สามารถมองโลกในแง่ดีมาหักล้างได้ คุณควรลองหันกลับมาอยู่กับปัจจุบันให้มากขึ้นอย่าเพิ่งคิดไปไกล ลองมองไปรอบๆ ตัวคุณในตอนนี้ คุณเห็นอะไรบ้าง ลองมองหาสิ่งของในห้อง 5 อย่างดูก็ได้ เช่น คอมพิวเตอร์ โต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟ และทีวี หลังจากนั้นให้หายใจเข้าลึกๆ อยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด คุณจะค้นพบว่ายังไม่มีเรื่องแย่ๆ เกิดขึ้นสักหน่อย ทุกอย่างยังปกติดี

การปล่อยวางสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดความทุกข์ในจิตใจได้ ภาพจาก pixabay.com

ปล่อยวางสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม

บางครั้งสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้คุณเกิดความทุกข์ หรือความกังวล เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของคน ดังนั้นคุณไม่จำเป็นต้องควบคุมทุกอย่างได้เสมอไป ลองทำเฉยๆ หรือมองข้ามมันบ้างก็ได้ จะช่วยลดความทุกข์ที่จะเกิดขึ้น

เปลี่ยนวิธีคิด อย่านึกถึงความทุกข์

เมื่อไหร่ที่เราคิดถึงสถานการณ์ หรือเหตุการณ์ที่ไม่ดี เมื่อนั้นเราจะรู้สึกถึงความทุกข์ เช่น เราคุยกับเพื่อนที่ทำงานว่าเมื่อวานเราร้องไห้ เพราะเสียใจกับสถานการณ์บางอย่าง หรือเมื่อวานนอนไม่หลับเพราะมัวแต่คิดถึงเรื่องแย่ๆ เมื่อนั้นความทุกข์จะคืบคลานเข้ามาในจิตใจ ให้ลองเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ อย่าไปนึกถึงเรื่องที่เป็นสาเหตุให้เราเกิดความทุกข์บ่อยๆ แต่ให้คิดว่าเรารู้สึกแย่ แต่อย่าลืมว่าคนอื่นอาจต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าเราก็ได้

ที่มา – HBR

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา