อ่านเคล็ดลับจากงานวิจัย: รับมืออย่างไร กับเพื่อนร่วมงานที่ชอบโกหกจนเป็นนิสัย

อ่านโพสต์นี้จบ คุณจะรับมือกับเพื่อนร่วมงานจอมโกหกได้แน่นอน

ใครๆ ก็อยากได้ความจริงใจ แต่ผลวิจัยกลับบอกว่า เราทุกคนก็โกหกกันหมดนั่นแหละ แถมยังโกหกกันทุกวัน บางทีก็วันละหลายรอบ เอ๊ะ ตกลงยังไง?

การโกหกเล็กๆ น้อยๆ อาจเป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชนทั่วไปเพราะไม่ว่าใครก็น่าจะเคยโกหกกันทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องงานหล่ะ แล้วถ้าการโกหกนั้นมีผลกับการตัดสินใจที่สำคัญของหัวหน้าทีม แต่กลายเป็นว่าหัวหน้าดันตัดสินใจผิดพลาดเพราะมีบางคน (หรือหลายคน) ในทีมไม่ยอมพูดความจริงเพราะเขาเหล่านั้นโกหกจนเป็นนิสัย จนหลังๆ เพื่อนๆ ชักเริ่มไม่แน่ใจว่าที่พูดมาเชื่อได้บ้างไหมเนี่ย 

“ทุกคนก็โกหกกันหมดแหละ” จริงเหรอ?

พูดแล้วอาจจะสะเทือนใจ แต่งานวิจัยทางด้านจิตวิทยาสังคมบอกว่า คนเรามักจะโกหกและโกหกกันบ่อยครั้ง การศึกษาชิ้นหนึ่งถึงกับบอกว่า โดยเฉลี่ยแล้ว คนเราโกหกกันทุกวัน วันละ 1-2 รอบ 

ไม่เว้นแม้แต่นักขาย นักดีล นักเจรจาต่อรองธุรกิจ การศึกษาในปี 1999-2005 บอกว่า ราวครึ่งหนึ่งของคนที่มีหน้าที่เจรจาพูดคุยหรือปิดดีลจะโกหกเมื่อมีแรงจูงใจและมีโอกาสโกหก เพราะมองว่าจะทำให้ตัวเองได้เปรียบเหนือฝ่ายตรงข้าม (ซึ่งแน่นอนว่าหลายครั้งกลับสร้างผลเสียตามมาแทน) 

จากผลการศึกษา เราอาจพูดได้ว่าการโกหกเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่หากมีบางคนที่โกหกแล้ว โกหกเล่า ยังไงก็ขอโกหกสักหน่อยโดยไร้เหตุผล คนเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า “Pathological Liar” ซึ่งบางครั้งการโกหกไม่เลิกเป็นส่วนหนึ่งของอาการบกพร่องทางบุคลิกภาพบางอย่างด้วย เช่น การต่อต้านสังคม

มาดูฝั่งคนถูกโกหกกันบ้าง การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งบอกว่า คนเราเดาว่าอีกคนกำลังโกหกหรือพูดความจริงถูกอยู่แค่ 54% เทียบเปอร์เซ็นต์การเดาถูกแล้วริบหรี่เหมือนการเลือกหัว-ก้อยเวลาทอยเหรียญเท่านั้นเอง 

แม้ว่าโอกาสที่จะเดาถูกมีอยู่ริบหรี่ แต่การอยู่ร่วมกับนักโกหกเหล่านี้ก็ทำให้เราจำเป็นต้องมีทักษะในการจับโกหกอยู่บ้างเพื่อให้งานดำเนินต่อไปได้ถูกทาง แล้วเราจะรับมือในเบื้องต้นก่อนยังไงดี

คนเราโกหกกันไปเพื่ออะไร?

นักโกหกมีหลายประเภทแล้วแต่เหตุจูงใจที่ทำให้ต้องโกหก แต่ละประเภทก็ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์รับมือแตกต่างกันไป ลองมาดูกันว่าคนเราส่วนใหญ่โกหกไปเพื่ออะไรเวลาอยู่ในที่ทำงาน 

กลุ่มแรก โกหกเพราะกลัวทำให้คนอื่นผิดหวังหรือกลัวการทะเลาะเบาะแว้ง 

ถ้าเป็นกลุ่มนี้ คนที่ต้องรับมือด้วยอาจสบายใจไปได้นิดหนึ่งว่านักโกหกพวกนี้ยังมีเจตนาดีอยู่ แต่ที่ต้องโกหกเพราะกลัวว่าคนที่ตัวเองให้ข้อมูลจะรับความจริงไม่ได้ แล้วผลลัพธ์ร้ายๆ จะเกิดขึ้นกับตัวเอง หรือโกหกเพราะกลัวว่าถ้าพูดเรื่องจริงออกไป คนอื่นจะผิดหวังในตัวเอง

สิ่งที่ทำได้เมื่อเจอนักโกหกประเภทนี้ คือ การสร้างความรู้สึกปลอดภัยทางใจให้เขาเหล่านั้นรู้สึกว่าตัวเองสามารถพูดความจริงได้เลย แต่ข้อนี้ไม่ได้หมายความว่าถ้าพูดความจริงแล้วจะไม่ได้รับผลอะไรตามมา เพียงแต่เป็นการสื่อสารออกไปว่า ถ้าเขาพูดความจริงจะช่วยเราได้มาก แต่ถ้าโกหก ข้อมูลที่ได้มาจะทำให้การตัดสินใจของเราเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงมากขึ้น

กลุ่มสอง ไม่อยากให้ใครรู้ว่าตัวเองทำงานได้ไม่ดีพอ

นักโกหกประเภทนี้อาจเป็นคนที่ชอบจับผิดความบกพร่องของตัวเองและพยายามทำให้ตัวเองดูเป็นคนเก่ง ทำงานดี เพื่อปกปิดความไม่เก่ง หรือการไม่ประสบความสำเร็จเอาไว้ข้างใน เหตุจูงใจก็อาจเพราะเขาเหล่านั้นไม่รู้ว่าทำไมตัวเองถึงยังทำงานได้ไม่ดีพอและไม่รู้จะแก้ยังไงดี

ถ้าเจอคนแบบนี้ การพูดออกไปตรงๆ ว่า “ฉันรู้ว่าเธอกำลังโกหกอยู่นะ” อาจไม่ได้ช่วยอะไร เพราะข้อด้อยหรือความไม่เก่งของนักโกหกก็ยังอยู่แบบนั้น แถมสุดท้ายผลลัพธ์ของการทำงานที่ไม่ได้ความของเขาก็จะออกมาประจักษ์กับสายตาทุกคนอยู่ดี 

สำหรับหัวหน้าหรือองค์กร สิ่งที่ทำได้เลยเป็นการขบคิดว่าจะทำยังไงเพื่อช่วยให้นักโกหกประเภทนี้ทำงานได้ดีขึ้น ปรับปรุงข้อด้อยของตัวเองได้ เพราะถ้าเขาทำงานได้ดี มั่นใจขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องโกหกอีกต่อไป เช่น ถ้าเราเป็นหัวหน้าของนักโกหกเหล่านี้ ทางออก คือ ช่วยจัดการเทรนงานให้ หรือเลื่อนเดดไลน์ออกไปให้มีเวลาทำงานมากขึ้นเพื่อลดความผิดพลาด

กลุ่มสาม โกหกเพราะพยายามทำตามความต้องการของตัวเองอยู่ 

นักโกหกกลุ่มนี้อาจเรียกว่าเป็นกลุ่มที่รับมือได้ยากที่สุด เพราะพวกเขามีเป้าหมายส่วนตัวบางอย่างที่ตัวเองเชื่อว่าไม่สามารถทำสำเร็จแค่เพียงเพราะทำงานดี เลยต้องโกหกร่วมด้วย เช่น การเลื่อนตำแหน่ง การเติบโตในสายงาน

ที่บอกว่ารับมือได้ยากเป็นเพราะหากคนกลุ่มนี้มักจะมีกลเม็ดในการโกหก ไม่ว่าจะเป็นการพูดกำกวมไว้ก่อน  การพูดอ้อมๆ แต่มีเป้าหมายเพื่อให้คนอื่นในทีมดูไม่ดีในสายตาของคนที่เหลือ 

และหากกลุ่มนี้ถูกเปิดโปงจากเพื่อนร่วมงาน สิ่งถัดมาที่พวกเขาจะทำ คือ การโกหกให้เนียนขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ และนั่นก็จะกลายเป็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ของหัวหน้างานที่ต้องคอยปกป้องชื่อเสียงของสมาชิกในทีมคนอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการโกหกของนักโกหกประเภทนี้ 

กรณีแบบนี้การปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงจากองค์กร จากวิธีการทำงานจะไม่ได้ช่วยอะไรนัก สิ่งที่หัวหน้าต้องทำ คือ การขีดเส้นให้ชัดเจนว่าพฤติกรรมแบบไหนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แล้วถ้าทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมจะได้รับผลยังไงต่อไป 

อีกอย่างหนึ่งที่ต้องทำคู่กัน คือ การบันทึกพฤติกรรมของนักโกหกเหล่านี้ไว้ เพราะแม้บางครั้งเขาจะหยุดโกหกไปได้ชั่วคราว แต่ถ้ามีเรื่องกดดันเข้ามาอีกก็มีโอกาสที่อดีตนักโกหกจะกลับมาโกหกอีกครั้ง และหากสถานการณ์เลวร้ายไปถึงขั้นที่การโกหกทำให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาดหรือทำลายความสัมพันธ์ของคนในทีม หัวหน้างานหรือองค์กรก็อาจจะต้องปล่อยให้คนเหล่านั้นแยกย้ายออกไปเติบโตที่อื่นแทน

วิธีรับมือกับนักโกหกในที่ทำงาน

ทั้งหมดที่พูดมาด้านบนเป็นการทำความเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังของนักโกหกในที่ทำงาน การแก้ปัญหาบางอย่างก็จำเป็นต้องใช้พลังของหัวหน้าและองค์กรในภาพใหญ่ แต่หากเราเป็นคนธรรมดาที่เจอนักโกหกในที่ทำงานเข้าพอดี จะรับมือยังไงดี

จริงใจกับเขาก่อน เขาจะได้จริงใจกลับ

มนุษย์มีแนวโน้มที่จะทำตามแนวคิด “ใจเขา ใจเรา” เมื่อคนอื่นทำดีด้วย ก็มักจะทำดีตอบ ดังนั้น ลองเริ่มต้นด้วยการแชร์เรื่องสำคัญหรือประเด็นอ่อนไหวของตัวเราเองด้วยความจริงใจก่อน ให้เห็นว่าตัวเราเองก็เคยผิดพลาดได้เหมือนกัน

จากการศึกษาของ Leslie K. John, Alessandro Acquisti และ George Loewenstein ได้นำลิสต์พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ไม่ตรงตามหลักจริยธรรมแบบเป๊ะๆ ให้ผู้อ่าน New York Times ดู ไม่ว่าจะเป็นการเคลมประกันแบบผิดๆ หรือการหลบเลี่ยงภาษี 

ผลพบว่า กลุ่มที่เข้าใจว่า ‘ผู้เข้าร่วมการทดลองคนอื่นๆ ส่วนใหญ่’ ยอมรับว่าเคยทำพฤติกรรมแบบนี้มีโอกาสที่จะยอมรับว่าตัวเองก็เคยทำอะไรแบบนี้มากกว่ากลุ่มที่เข้าใจว่า ‘ผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ไม่กี่คน’ ก็ยอมรับเคยทำอยู่ที่ 27% 

ถามคำถามจี้จุด

คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าตัวเองเป็นคนซื่อสัตย์ แต่เวลาต้องเจรจาเรื่องอะไรบางอย่าง หลายคนมักจะไม่ยอมบอกความจริงบางข้อที่อาจทำให้ตัวเองเสียเปรียบได้ พูดง่ายๆ ว่าไม่ได้โกหกสักหน่อย แค่บอกความจริงไม่หมดเท่านั้นเอง

ความเสี่ยงที่จะได้รับข้อมูลไม่ครบเลยแก้ได้ด้วยการถามคำถามให้ตรงจุด ผลการศึกษาพบว่า 61% ของนักเจรจาทั้งหลายจะยอมพูดความจริงเมื่อถูกถามถึงข้อมูลที่อาจจะทำให้พลังการต่อรองของตัวเองลดลง เทียบกับ 0% ของคนที่ไม่ได้ถูกยิงคำถามใส่

ที่น่าสนใจ คือ อีก 39% เลือกใช้วิธีการโกหกเมื่อถูกถามคำถาม แต่ข้อนี้แก้ได้ด้วยผลการวิจัยที่บอกว่า คนเรามีแนวโน้มที่จะโกหกลดลงหากเจอคำถามที่เป็นสมมุติฐานเชิงลบ เช่น ถ้าใช้คำถามว่า “ธุรกิจน่าจะจำเป็นต้องใช้เครื่องมือใหม่เร็วๆ นี้ใช่ไหม” จะดีกว่าการบอกว่า “เครื่องมือต่างๆ ยังใช้ได้ดีใช่ไหม” 

จับตาดูคำตอบแบบอ้อมโลก

คนเรามักไม่ค่อยตอบตรงคำถาม แต่จะตอบสิ่งที่อยากบอกออกไปก่อน ส่วนฝั่งที่เป็นคนถามเองก็มักจะลืมว่าตัวเองถามอะไร 

น่าสนใจว่านักวิจัยยังพบว่า คนเรามักจะประทับใจกับการตอบไม่ตรงคำถามแต่พูดได้อย่างคล่องแคล่วมากกว่าการตอบตรงคำถามแต่พูดไม่เก่ง หรืออธิบายติดๆ ขัดๆ 

การคุยกับนักโกหกเลยต้องอาศัยการจดจำว่าตัวเราเองถามอะไรออกไปแล้วคนที่ตอบพยายามพูดอ้อมโลกอยู่รึเปล่า ในการคุยงานหรือเจรจาต่อรองอะไรบางอย่าง การเตรียมคำถามเลยเป็นเรื่องสำคัญ แล้วลองใช้เวลาพิจารณาคำตอบของแต่ละคำถามดูสักหน่อยก่อนว่าตกลงแล้วเราได้รับคำตอบในสิ่งที่เราถามไปบ้างไหมก่อนที่่จะมูฟออนไปที่คำถามต่อไป

ยิ่งพูดว่าจะไม่บอกใคร ยิ่งทำให้อีกฝั่งสงสัยและไม่กล้าบอกความจริง

เป็นเรื่องที่ค่อนข้างย้อนแย้งเมื่อนักวิจัยบอกว่า ยิ่งเราพยายามบอกฝ่ายตรงข้ามว่าจะรักษาข้อมูลส่วนตัว หรือจะไม่บอกใคร ยิ่งทำให้คนนั้นเกิดความสงสัยมากขึ้นว่าเราจะเก็บความลับของเขาจริงไหมจนนำไปสู่การที่ฝ่ายตรงข้ามเล่าเรื่องหรือบอกข้อมูลน้อยลง เพิ่มโอกาสที่จะโกหก

นอกจากนี้ การถามด้วยน้ำเสียงสบายๆ ฝ่ายตรงข้ามยิ่งมีโอกาสที่จะบอกข้อมูลอ่อนไหวได้มากกว่าเมื่อถามด้วยน้ำเสียงจริงจัง เป็นทางการ  

สังเกตข้อมูลที่รั่วไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว

มนุษย์เรามักจะหลุดข้อมูลบางอย่างออกมาโดยไม่รู้ตัว หรือบางทีก็หลุดออดมาในรูปแบบของคำถามที่ดูเหมือนจะเป็นคำถามธรรมดาๆ แต่สิ่งที่หลุดออกมานี่แหละที่มักจะเป็นความจริง

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติเราเป็นพนักงานฝ่ายจัดซื้อที่กำลังเจรจากับบริษัทซัพพลายเออร์เจ้าใหม่ที่การันตีว่าจะส่งสินค้าให้ได้ภายใน 6 เดือน แต่พนักงานจากซัพพลายเออร์กลับถามคำถามว่า ถ้าหากส่งสินค้าไม่ทันเวลาจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง คำถามนี้เองที่สะท้อนความกังวลและความไม่มั่นใจว่าซัพพลายเออร์จะส่งของได้ทัน

เป็นเรื่องน่าหนักใจอยู่เหมือนกันถ้าจะต้องร่วมงานกับพินอคคิโอตัวพ่อตัวแม่ ยิ่งถ้าเราต้องไปขอข้อมูลจากเขาเหล่านั้นเพื่อเอาไปทำงานหรือตัดสินใจต่อยิ่งแล้วใหญ่ การจับโกหกและการค้นหาความจริงเลยได้มาด้วยการตั้งใจฟังทุกอย่างที่ฝ่ายตรงข้ามพูด แม้ว่าบางอย่างอาจจะดูไม่เกี่ยวข้องอะไรกับหัวข้อสนทนาเลยก็ตาม

ที่มา – HBR, HBR 2, WebMD

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา