ข้อถกเถียงที่ยังไม่มีข้อยุติเสียที สำหรับ WHO หรือองค์การอนามัยโลก ยังไม่เลิกย้ำเตือนให้โลกไม่ต้องใส่แมสก์หรือหน้ากากอนามัย WHO เน้นว่า ถ้าสุขภาพดีก็ไม่ต้องใส่แมสก์หรอก ปล่อยให้คนป่วยหรือบุคลากรทางการแพทย์เขาใส่ไป…
WHO ไม่อยากให้คนสุขภาพดีใส่หน้ากากอนามัย เพราะอยากสงวนให้แพทย์ที่ขาดแคลน
WHO ออกคำแนะนำสำหรับการใส่หน้ากากในที่ชุมชน ใน home care และในพื้นที่ที่มีการรายงานว่ามีคนติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นคำเตือนที่ระบุว่า สารคัดหลั่งจะเกิดจากการไอหรือจาม ใครก็ตามที่อยู่ใกล้ราว 1 เมตรก็อาจเสี่ยงติดเชื้อได้ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วอาจสร้างความสับสนกับผู้คนได้ เพราะ WHO เผยแพร่คำแนะนำนี้หลังจากที่ CDC หรือศูนย์ควบคุมโรคของอเมริกาออกมาบอกให้ทุกคนใส่แมสก์กันเถอะ
แมสก์หรือหน้ากาก ในที่นี้ องค์การอนามัยโลกหมายถึง หน้ากากอนามัย หน้ากากที่มีไว้ใช้ทางการแพทย์ก็ให้แพทย์หรือคนป่วยเขาใช้เพื่อควบคุมโรค แต่ไม่ได้แนะนำว่าคนสุขภาพดีควรจะใส่หรือไม่ใส่หน้ากากอนามัย ส่วนหนึ่งก็เพราะกลัวสินค้าที่เป็นหน้ากากอนามัยที่กำลังขาดแคลนอยู่ตอนนี้จะมีไม่เพียงพอต่อบุคลากรทางการแพทย์ แน่นอนว่าถ้าแพทย์ พยาบาล คนดูแลเรื่องโรคติดต่อป่วย เราจะลำบากกันหมด

ขณะที่ CDC หรือศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา ประเทศกำลังครองแชมป์อันดับ 1 ติดเชื้อมากที่สุดในโลกราว 399,929 คน เสียชีวิต 12,911 คน รักษาหาย 22,539 คน CDC เพิ่งจะมาประกาศให้ทุกคนใส่แมสก์หรือหน้ากากเสีย ไม่ว่าใครก็ต้องใส่หน้ากาก โดย CDC แนะนำว่า ควรใส่หน้ากาก เพื่อทำให้อัตราการแพร่เชื้อโควิด-19 ลดลง
CDC ศูนย์ควบคุมโรคอเมริกาแนะนำ ควรใส่แมสก์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแมสก์ที่ทำจากอะไรก็ตาม..ใส่เถอะ
ก่อนจะไปถึงการตัดแมสก์จากเสื้อยืดหรือแผ่นกรองกาแฟ CDC แนะวิธีตัดผ้า รวมถึงวิธีตัดเจ็บ หากมีจักร (จะเย็มมือดูก็ได้ แต่มันก็จะเจ็บมือบ้าง) ดูวิธีที่นี่
ทำแมสก์จากเสื้อยืด สไตล์ CDC
เครื่องมือที่ใช้ก็มีเพียงกรรไกร 1 อันและเสื้อยืด 1 ตัว ตัดจากด้านล่างมุมซ้ายหรือมุมขวาก็ได้ตามถนัด จากนั้นก็เลือกตัดมุมใดมุมหนึ่ง เพื่อเหลืออีกมุมหนึ่งที่พอจะทำเป็นเชือกรัดที่ศีรษะได้ (ดูคลิปประกอบที่นี่)

ทำแมสก์จากผ้าพันคอหรือผ้าโพกศีรษะและแผ่นกรองกาแฟ
อุปกรณ์ที่ต้องมีคือ แผ่นกรองกาแฟ กรรไกร ผ้าพันคอตัดเป็นทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส จากนั้นตัดส่วนบนของแผ่นกรองกาแฟ พับผ้าลงครึ่งหนึ่งให้เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้แผ่นกรองไว้ด้านใน ให้พับผ้าจากส่วนบนและส่วนล่างลงมาอีกด้านละ 1 ทบ จากนั้นให้ใช้ยางยืดขนาดพอเหมาะแบบไม่รัดหูของผู้ใส่จนเกินไป (ดูคลิปประกอบที่นี่)
ที่มา – WHO, CDC, Business Insider, U.S. Embassy Bangkok
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา