รัดเข็มขัด ปรับพฤติกรรมการใช้เงินใหม่ เพราะเราไม่รู้ว่าโควิด-19 จะอยู่กับเรานานแค่ไหน

พฤติกรรมเป็นการกระทำอะไรบางอย่างบ่อยๆ จนเกิดเป็นความเคยชินที่ทำบ่อยๆ ไม่รู้ตัวซึ่งแน่นอนว่าพฤติกรรมย่อมส่งผลกับการใช้ชีวิต ทั้งที่ดีและไม่ดี

การใช้เงินก็เช่นกัน เรามีวิธีการใช้เงินอย่างไร เมื่อทำบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นพฤติกรรมการใช้เงินที่อยู่ติดตัวเราไป ซึ่งแม้บางเรื่องจะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ เงินมูลค่าไม่มาก แต่เมื่อสะสมไปนานๆ ย่อมกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ ส่งผลต่อเป้าหมายทางการเงินที่เราวางแผนไว้

การซื้อกาแฟจากร้านกาแฟ ย่อมมีราคาแพงกว่าการชงกาแฟดื่มเอง ภาพจาก pixabay.com

ถ้ายังนึกภาพไม่ออกว่าทำไมพฤติกรรมทางการเงินที่เป็นเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวันถึงมีความสำคัญ ลองจินตนาการถึงชีวิตประจำวันของคุณดูก็ได้ เช่น สมมติว่าคุณเป็นคนชอบดื่มกาแฟก่อนเข้างานในตอนเช้า หากคุณเลือกที่จะชงกาแฟดื่มเองที่บ้าน กาแฟ 1 ขวด ราคาไม่เกิน 300 บาท ชงได้นานนับเดือน

แต่หากคุณเลือกที่จะซื้อกาแฟร้านดังใต้ตึกออฟฟิศ ในราคาแก้วละ 80 บาททุกๆ เช้า ใน 1 เดือน คุณต้องเสียเงินไปกับกาแฟถึง 2,400 บาท เทียบกับการชงกาแฟดื่มเองที่บ้านแล้วมีราคาแพงกว่ามาก คุณสามามารถนำเงินที่คุณซื้อกาแฟดื่มไปเป็นเงินเก็บได้ถึงปีละ 28,800 บาทเลยทีเดียว หรือถ้าคิดว่าการชงกาแฟดื่มเองที่บ้านไม่อร่อยเท่ากาแฟจากร้านดัง จะใช้วิธีให้รางวัลกับตัวเอง ดื่มกาแฟราคาแพงจากร้านดัง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศก็ได้ แน่นอนว่ายังประหยัดเช่นเดิม

จะเห็นว่าพฤติกรรมการใช้เงินเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการซื้อกาแฟดื่ม ไม่ได้ส่งผลแค่ระยะสั้นแบบวันต่อวันเท่านั้น แต่ความจริงส่งผลต่อภาพรวมทางการเงินในระยะยาวของเราได้เลย

หยุดสักนิดก่อนคิดใช้เงิน

วิธีที่จะสร้างพฤติกรรมทางการเงินที่ดีให้กับตัวเราได้ ง่ายที่สุดคือ ต้องรู้จักใช้เงินไปกับสิ่งที่จะเป็นประโยชน์จริงๆ เท่านั้น ซึ่งมีวิธีคิดง่ายๆ 2 วิธีดังนี้

รถยนต์เก่าย่อมมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการผ่อนรถยนต์คันใหม่ ภาพจาก pixabay.com

วิธีแรก การคำนวนความคุ้มค่าก่อนคิดใช้เงิน

วิธีการคำนวนความคุ้มค่าส่วนใหญ่จะใช้กับการซื้อของชิ้นใหญ่ๆ ด้วยเงินจำนวนมาก เช่น การซื้อรถยนต์ คุณอาจกำลังคิดจะซื้อรถยนต์คันใหม่แต่ยังไม่แน่ใจ เพราะคันเก่าก็ยังใช้ได้ดีอยู่ สิ่งที่คุณควรทำคือ ลองเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายดูว่าระหว่างการซื้อรถยนต์คันใหม่ กับทนใช้คันเดิมค่าใช้จ่ายอะไรมากกว่ากัน

การซื้อรถยนต์ใหม่ ต้องมีเงินดาวน์เป็นเงินก้อนใหญ่ๆ ก่อน รวมถึงค่างวดที่ต้องผ่อนชำระ ค่าประกันภัยชั้น 1 แน่นอนว่าการซื้อรถยนต์คันใหม่ย่อมมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ามาก ยกเว้นว่ารถยนต์คันเก่าของคุณเสียบ่อย ซ่อมยาก ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสูง รวมถึงอันตรายเมื่อใช้งาน แบบนี้คุณก็ควรตัดสินใจซื้อรถยนต์คันใหม่ได้หากมีเงินพอ

บ้านทรัพย์สินที่ราคาไม่ลดลง แม้ภาพจาก pixabay.com

วิธีที่สอง ใช้เงินไปกับสิ่งที่มูลค่าไม่ลดลง

อย่างที่รู้กันดีว่าบ้านเป็นสินทรัพย์ที่มูลค่าไม่ได้ลดลงตามเวลา เมื่อเวลาผ่านไป ความเจริญเพิ่มมากขึ้น บ้านที่ซื้อไว้ก็มีแนวโน้มว่าจะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ต่างจากรถยนต์ที่เมื่อเวลาผ่านไป ต้องมีการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา แน่นอนว่าราคาก็ต้องลดลงด้วย ดังนั้นหากจำเป็นต้องเลือกใช้เงินจำนวนมากไปกับการซื้ออะไรบางอย่าง ให้เลือกสิ่งที่จะมีมูลค่าไม่ลดลงตามเวลาจะดีที่สุด เพราะอย่างน้อยในอนาคตอาจขายแล้วได้กำไร

นอกเหนือจาก 2 วิธีข้างต้นที่จะช่วยปรับพฤติกรรมการใช้เงินได้แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องรู้จักปรับพฤติรรมใช้เงินไปกับสิ่งที่มีความจำเป็นเท่านั้น รวมถึงต้องคิดก่อนใช้เงิน เพื่อสร้างพฤติกรรมทางการเงินที่ดีในระยะยาว ซึ่งสามารถทำตามได้ง่ายๆ ดังนี้

การทำบันทึกรายรับรายจ่ายยังคงมีความสำคัญ ภาพจาก pixabay.com

ทำบันทึกรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือน

การทำบันทึกรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือนเป็นสิ่งที่พูดกันมานานจนหลายคนเบื่อ แต่ความจริงแล้วยังเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุดอยู่ เพราะคุณจะรู้ว่าในแต่ละเดือนคุณใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง จำยวนเท่าไหร่ อะไรเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น สามารถตัดออกได้ เมื่อคุณเห็นจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในแต่ละเดือน คุณจะเริ่มคิดได้ว่าหากนำเงินจำนวนนี้ไปเก็บ คุณจะมีเงินเหลือเพิ่มอีกมาก

กำหนดงบที่มีในแต่ละเดือน

การใช้จ่ายเงินออกไปโดยไม่ได้คำนึกถึงเงินทั้งหมดที่มีย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ดีแน่นอน ดังนั้นคุณควรกำหนดงบประมาณว่าในแต่ละเดือน คุณจะสามารถใช้จ่ายเงินไปกับแต่ละอย่างได้มากน้อยแค่ไหน เช่น ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับอาหาร ความบันเทิง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ซึ่งการกำหนดงบประมาณแต่ละก้อนที่คุณมี จะช่วยให้คุณมีเงินเหลือเก็บเพิ่มขึ้น ไม่ใช้เงินเกินตัวจนกลายเป็นปัญหาหนี้สินที่อาจเพิ่มขึ้นได้

ภาพจาก Shutterstock

รู้ว่าควรซื้ออะไร และซื้อเมื่อไร

อย่างแรกที่คุณควรทำคือ ต้องแยกให้ออกระหว่างความอยากได้ กับความจำเป็นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน โดยต้องตัดสินใจโดยใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ตัวอย่างง่ายๆ คือ หากคุณมีเงินอยู่อย่างจำกัด และคุณจำเป็นต้องเลือกระหว่างซื้ออาหารมื้อเย็นเพื่อกินให้อิ่มในแต่ละวัน กับกระเป๋าสตางค์ใบใหม่ที่สวยกว่าใบเดิม แน่นอนว่าการซื้ออาหารเย็นเพื่อกินให้อิ่ม เป็นความจำเป็นในชีวิตประจำวันจะขาดไม่ได้ แต่ในขณะที่กระเป๋าสตางค์ใบใหม่เป็นแค่ความอยากได้เท่านั้น ไม่มีไม่เป็นไร

การท่องเที่ยวเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยหาความสุขให้ชีวิตได้ โดยไม่จำเป็นต้องเสียเงิน ภาพจาก pixabay.com

ใช้ของฟรีให้เป็นประโยชน์

การซื้อความสุขให้กับตัวเองไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใด แต่จะดีกว่าไหมถ้าคุณสามารถหาความสุขให้ตัวเองได้โดยไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว แทนที่คุณจะซื้อของราคาแพงให้ตัวเอง ลองเปลี่ยนเป็นการเดินทางไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ ทั้งน้ำตก ภูเขา ทะเล หรือแม้แต่สวนสาธารณะ และพิพิธฑภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่เปิดให้เข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว

ค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองเกิดขึ้นได้เสมอ ควรเตรียมกันเงินไว้บางส่วนด้วย เผื่อป้องกันการขาดสภาพคล่อง ภาพจาก pixabay.com

เตรียมพร้อมกับค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองอยู่เสมอ

ค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ แม้ว่าคุณจะมีการวางแผนทางการเงิน กำหนดงบประมาณประจำเดือนอย่างดีแล้วก็ตาม แต่บางครั้งอาจมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด เช่น ค่าซ่อมรถยนต์ ค่าซ่อมบ้าน ค่ารักษาพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถรู้ได้ล่วงหน้า

ไม่ใช่แค่ค่าใช้จ่ายข้างต้นเท่านั้นที่คุณอาจจำเป็นต้องเสียไปโดยไม่คาดคิด แต่ตัวคุณเองอาจอยากใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อซื้อความสุขให้กับตัวเองในบางครั้ง เช่น ค่าอาหารราคาแพง ที่คุณยอมจ่ายเพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน

ที่มา – Cashay

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา