ลงทุนกองทุนรวม เลือกอย่างไร กองไหนดี | BI Opinion

โดย บรรณรงค์ พิชญากร
กรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานกิจการค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง

กองทุนรวม เป็นช่องทางอย่างหนึ่งในการลงทุนที่เป็นที่นิยมสำหรับนักลงทุนทั่วไป แต่ภายใต้กองทุนรวมที่มีกันเกือบสองพันกองในปัจจุบัน แล้วเราจะเลือกอย่างไรให้เหมาะกับตัวเอง

จากตัวเลข ณ วันที่ 30 ต.ค.2563 กองทุนรวมทั้งหมดในประเทศไทยมีขนาดสินทรัพย์รวมกันประมาณ 4.73 ล้านล้านบาท โดยเป็นสัดส่วน “กองทุนรวมตราสารหนี้” ร้อยละ 48.35 และสัดส่วน “กองทุนรวมหุ้น” ร้อยละ 25.22 ซึ่งก็น่าจะเป็นไปตามหลักทั่วไปว่า คนทั่วไปย่อมมีสินทรัพย์ลงทุนในตราสารที่มีความความเสี่ยงต่ำมากกว่าเสี่ยงสูง ซึ่งสินทรัพย์รวม 4.73 ล้านล้านบาทนี้ มาจากกองทุนรวมทั้งหมด 1,992 กอง แบ่งเป็น กองทุนรวมหุ้น 927 กอง, กองทุนรวมตราสารหนี้ 486 กอง, กองทุนรวมผสม 627 กอง ที่เหลือก็คละกันไปในประเภทต่าง ๆ  

“เลือกอย่างไร” นี่คงเป็นปัญหาที่พบบ่อยของผู้ที่ต้องการออมเงินผ่านกองทุนรวม เพราะกองทุนรวมที่ว่าเกือบสองพันกองนั้น มีความแตกต่างกันในรายละเอียดจนสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เขาแบ่งกันได้ถึง 119 ประเภทย่อย เพราะมันมีหลายด้านหลายมิติมากที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ที่จะลงทุนจะต้องทำความเข้าใจและศึกษารายละเอียดของแต่ละกองทุนที่ท่านจะลงทุนให้ถ่องแท้ 

“กองไหนดี” กลายเป็นคำถามท้ายสุด หลังจากที่นักลงทุนพยายามทำความเข้าใจกับประเภทกองทุนที่มีอยู่เทียบกับความต้องการของตนเองแล้ว เพราะในแต่ละประเภทก็จะมีกองทุนรวมจากหลายบริษัทจัดการให้เลือกลงทุน ดังนั้นจึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่นักลงทุนจะต้องพึ่งพาคำแนะนำในการลงทุนจากผู้ที่มีความรู้และอยู่ใกล้ชิดแหล่งข้อมูลด้านการลงทุน เพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม

SET Streaming Investing
ภาพจาก Shutterstock

ผู้ลงทุนในกองทุนรวมจึงควรที่จะต้องทำการบ้านเป็นขั้นตอน โดยการ

1.เข้าใจความต้องการของตนเอง โดยแบ่งเงินเป็นส่วนๆ ตามผลตอบแทนที่คาดหวังและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพื่อที่จะได้ลงทุนให้ถูกประเภทที่ต้องการ เช่น เงินบางส่วนท่านต้องการกองทุนที่ทดแทนการฝากประจำ เงินอีกส่วนต้องการ เพื่อลงทุนให้ได้กระแสเงินสดทุกปีมาใช้จ่าย และเงินอีกส่วนอาจต้องการลงทุนระยะยาวเน้นการเติบโต

 2.คัดเลือกลงทุนกองทุนรวมในกลุ่มประเภท ซึ่งอาจต้องพิจารณาจากชื่อเสี่ยงและผลงานของบริษัทจัดการที่โดดเด่น, มีความน่าเชื่อถือ, มีกระบวนการทำงานที่เป็นมืออาชีพ, โปร่งใส และมีการให้ข้อมูล เพื่อใช้ในการพิจารณาอย่างเหมาะสม 3.ต้องดูแลและติดตามพอร์ตการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพราะแนวโน้มและทิศทางเศรษฐกิจ รวมถึงธุรกิจอาจส่งผลกระทบต่อกองทุนแต่ละประเภทต่างกัน เพื่อที่จะได้มีการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนได้อย่างทันท่วงที

ฟังดูแล้วหลายท่านอาจถอดใจตรงที่ไม่มีเวลาทำทั้งกระบวนการที่ว่า แต่ผมยังยืนยันว่า เป็นสิ่งที่ควรทำครับ และสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลา อยากเชิญชวนให้ติดตามรายงานวิเคราะห์กองทุนรวม BLS Top Funds ที่เราเพิ่งออกมาใหม่ โดยเน้นการทำงานตามกระบวนการข้างต้น เพื่อให้ตอบโจทย์สิ่งที่นักลงทุนต้องการอย่างแท้จริง น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกๆ ท่านครับ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา