ยุค COVID-19 ยุคแห่งโรคระบาด ช่วงเวลาที่มนุษย์ควรเรียนรู้การเห็นอกเห็นใจผู้คนมากขึ้น

เราทุกคนล้วนชอบตัดสินการกระทำของคนอื่น โดยใช้มุมมอง ความคิด หรือประสบการณ์ของเราเป็นตัวตัดสินว่าทำแบบไหนเรียกถูก แบบไหนเรียกผิด

บางครั้งการตัดสินคนอื่นโดยที่เราไม่รู้ตัวอาจเกิดจากความเครียด ความวิตกกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยพบมาก่อน ความไม่แน่นอนเรื่องงาน บริษัท ครอบครัว และเศรษฐกิจ ยิ่งทำให้เกิดความเครียดสะสมมากขึ้น

ความเครียด ความวิตกกังวลทำให้เราตัดสินคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ภาพจาก Shutterstock

Brianna Caza อาจารย์จากภาควิชาธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย North Carolina เคยทำการวิจัยกับคนจำนวน 300 คน เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานแต่ละคน พบว่า ความกดดันจากปัจจัยภายนอก ส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน

ส่วนวิธีที่เราจะเลือกตัดสินใจทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่มีความกดดัน เรามักเลือกใช้วิธีที่เราคุ้นเคย เคยทำมาก่อน และคิดว่าวิธีที่เราเลือกเป็นวิธีที่ดีที่สุดจนมองข้ามวิธีการอื่นๆ ซึ่งสามารถใช้ในการแก้ไขปัญหาได้เช่นกัน และเมื่อเราเลือกวิธีนั้นไปแล้ว หากคนอื่นๆ เลือกคนละวิธีกับเรา เราจะมองว่าการแก้ไขปัญหาของคนอื่นเป็นเรื่องผิด และตั้งคำถามอยู่ในใจว่า ทำไมไม่ทำแบบเดียวกับเรา

เปลี่ยนวิธีคิด รู้จักเห็นอกเห็นใจ ไม่ตัดสิน

ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำมากที่สุดในช่วงนี้คือ มีความเห็นอกเห็นใจที่มีให้กับผู้อื่น แทนที่จะตั้งคำถามด้วยมุมมองของเราว่าทำไมไม่ทำแบบเดียวกับที่เราทำอยู่ ซึ่งเราจำเป็นต้องปรับวิธีคิด เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น ซึ่งทำได้ง่ายๆ ดังนี้

การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานสามารถสร้างได้ โดยการพูดคุย ภาพจาก pixabay.com

ใช้โอกาสนี้สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน

บางครั้งการทำงานโดยเฉพาะในบริษัทที่มีคนจำนวนมากในแผนก หรือในทีม ทำให้เราอาจไม่ได้พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานทุกๆ คน เพราะโอกาสที่จะได้ทำงานร่วมกันมีน้อย แต่คุณควรลองใช้โอกาสนี้ในการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ โดยอาจเริ่มจากการถามชีวิตความเป็นอยู่ในช่วงนี้ก็ได้ว่าเป็นยังไงบ้าง

การรับมือกับปัญหาของแต่ละคนมีความต่างกันไป ภาพจาก pixabay.com

แต่ละคนมีวิธีแก้ไขปัญหาต่างกัน

เราควรคิดไว้ในใจเสมอว่าแต่ละคนย่อมมีวิธีในการแก้ไขปัญหาที่ต่างกัน ไม่มีวิธีใดถูกหรือผิด ไม่แน่ว่าวิธีที่เราใช้แล้วได้ผล จะได้ผลเช่นเดียวกันเมื่อนำไปใช้ในสถานการณ์ของคนอื่น โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แบบนี้ บางคนอาจเลือกวิธีรับข่าวสารทาง Social Media มากๆ เพื่อรับรู้ข้อเท็จจริงจะได้ระวังตัว แต่บางคนอาจเลือกไม่รับข่าวสารจาก Social Media ก็ได้ เพราะกังวลว่าจะเกิดความกังวลมากเกินไป ซึ่งทั้งสองวิธีไม่มีใครผิดหรือถูก

ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อวิธีที่เราใช้เพื่อรับมือกับปัญหาคือ วิธีที่เราใช้มองโลก บางคนมองโลกในแง่บวก เข้าใจว่าปัญหาสามารถแก้ไข และป้องกันได้ ส่วนบางคนอาจมองโลกในแง่ลบ จนรู้สึกวิตกกังวลกับปัญหามากกว่า

บางครั้งการมองโลกในแง่ดี จะช่วยลดความเครียด สร้างความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นได้ ภาพจาก pixabay

ต้องรู้จักมองโลกในแง่ดี

ก่อนที่คุณจะสามารถมีความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนร่วมงาน หรือคนรอบตัวคุณได้ สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือ ต้องรู้จักมองโลกในแง่ดีบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตีความเฉพาะสิ่งดีๆ บางครั้งคุณอาจได้รับข้อความจากคนรอบตัว เป็นประโยคคำสั่งห้วนๆ ซึ่งอาจทำให้คุณอารมณ์เสียเมื่ออ่านข้อความ และตีความว่าคนที่ส่งข้อความต้องการสั่งคุณ โดยใช้คำพูดไม่ดี

แต่หากคุณลองเปลี่ยนวิธีคิด รู้จักมองโลกในแง่ดี ข้อความเดิมที่คุณอ่าน คุณจะมีวิธีการตีความที่เปลี่ยนไป พยายามทำความเข้าใจว่าคนส่งอาจไม่คิดอะไร สถานการณ์บีบบังคับให้เขาต้องทำงานอย่างรวดเร็ว จนเผลอพิมพ์ข้อความแบบนั้นมา

หากอารมณ์ไม่ดีคุณควรอยู่กับตัวเองสักพัก ก่อนคิดแก้ไขปัญหา ภาพจาก Pixabay

เข้าใจอารมณ์ของตัวเองก่อน

เพื่อป้องกันการสื่อสารที่ผิดพลาด หรือการใช้ความรู้สึกส่วนตัวปะปนกับเรื่องงาน คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ ดังนั้นเราจึงควรเข้าใจอารมณ์ปัจจุบันของตัวเองก่อน ว่าในขณะนี้เราคิดอะไรอยู่ และรู้สึกยังไง ถ้าเรากำลังอยู่ในความกังวล ความวิตก หรือหงุดหงิด ลองให้เวลาตัวเองสักพัก เมื่ออารมณ์ดีขึ้นค่อยคุยกับเพื่อนร่วมงาน หรือตัดสินใจแก้ไขสถานการณ์ที่มีความสำคัญ

อย่าคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องของคุณ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในที่ทำงานในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานบางคนมีลูกที่ต้องดูแล ในขณะที่ต้องทำงานที่บ้าน (Work From Home) ทำให้บางครั้งเพื่อนร่วมงานคนนั้นอาจไม่พร้อมสำหรับการทำงานตลอดเวลา เพราะต้องแบ่งเวลาเพื่อดูแลลูกไปพร้อมๆ กัน

ดังนั้นสิ่งที่คุณทำได้คือ ต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ อย่ามองว่ามันไม่ใช่ปัญหาของคุณ คุณไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ แต่ให้มองว่าเป็นเรื่องที่ผู้ร่วมงานไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ทุกๆ คนย่อมอยากหาทางออกที่ดีที่สุดเพื่อช่วยกันทำงานออกมาได้ดีที่สุด

การเปรียบความทุกข์ของเรากับคนอื่น จะทำให้เกิดการตัดสินผู้อื่นซึ่งไม่ใช่เรื่องดี ภาพจาก pixabay.com

อย่าเปรียบเทียบความทุกข์ของเรากับคนอื่น

ในสถานการณ์แบบนี้คุณอาจคิดว่าการเปรียบเทียบความลำบากในการใช้ชีวิตของเรา กับคนอื่นที่มีความลำบากมากกว่า เป็นการสร้างกำลังใจให้ตัวเราเองในอีกวิธีหนึ่ง เช่น คุณเห็นหมอ พยาบาล และบุคลาการทางการแพทย์คนอื่นๆ ทำงานอย่างหนัก คุณจึงรู้สึกว่าคุณโชคดีกว่าคนอื่นที่ทำงานหนักกว่าคุณมาก ซึ่งวิธีคิดแบบนี้เป็นเรื่องที่ผิด เพราะจะยิ่งเป็นการทำให้เกิดการเปรียบเทียบ และตัดสินผู้อื่น

ที่มา – HBR

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา