คำนวณภาษี 2566 รายได้เท่านี้ต้องเสียภาษีเท่าไหร่? มาคำนวณกัน

เป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมที่เราต้องเตรียมตัวที่จะยื่นภาษี เก็บรวมรวมเอกสารมากมายและวางแผนภาษีในปีถัดไปด้วย หลายคนมีการขึ้นเงินเดือน มีการรับงานฟรีแลนซ์ มีเงินที่ได้มาจากหลากหลายแหล่งซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องยื่นภาษีทั้งนั้น หากวางแผนคำนวณภาษีไม่ดี ตัวของเราอาจจะถูกเลื่อนฐานภาษีแบบไม่รู้ตัวแล้วตามมาด้วยภาษีที่มากเกินจะรับไหวด้วย ดังนั้นบทความนี้จะพามารู้จักกับ ฐานภาษี และ คำนวณภาษี มาเช็คกันว่าใครอยู่ฐานภาษีขั้นไหนและต้องเสียภาษีเท่าไหร่

ฐานภาษีคืออะไร

ฐานภาษีหรืออัตราภาษี เป็นการแบ่งขั้นการเสียภาษีตามกลุ่มของเงินได้สุทธิซึ่งจะเรียงจากน้อยไปมาก โดยจะเริ่มต้นที่กลุ่มเงินได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาทต่อปี ไปจนถึงกลุ่มเงินได้สุทธิมากกว่า 5 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเงินได้สุทธินี้ได้มาจากการคำนวณตามสูตรนี้ แล้วจำเอาไว้นะว่าเงินได้สุทธิตัวเองเท่าไหร่

                  "เงินได้สุทธิ = เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน"

รายได้เท่าไหร่ถึงจะเสียภาษี

เป็นคำถามที่หลายคนสงสัยกันสุดๆ โดยเฉพาะมือใหม่หรือ First Jobber ที่เริ่มต้นการยื่นภาษีเองเป็นปีแรก มาดูกันว่าตัวเองเข้าเงื่อนไขเหล่านี้หรือไม่

  • กรณีไม่ได้สมรส 

มีรายได้จากเงินเดือนปีละ 120,000 บาทขึ้นไป (เงินเดือน 10,000บาท ต่อเดือน) หรือรายได้อื่นๆ ปีละ 60,000 บาทขึ้นไป (รายได้ 5,000 บาทต่อเดือน)

  • กรณีสมรส

มีรายได้จากเงินเดือนปีละ 220,000 บาทขึ้นไป (เงินเดือน 18,333 บาท ต่อเดือน) หรือรายได้อื่นๆ ปีละ 120,000 บาทขึ้นไป (รายได้ 10,000 บาทต่อเดือน)

หลังจากที่รู้แล้วว่าเรามีรายได้เท่าไหร่และเงินได้สุทธิเท่าไหร่ ให้นำมาคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายแบบคร่าวๆ ได้จากสูตรดังนี้

                     ภาษีที่ต้องจ่าย = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี

วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2566

source: RD Intelligence center

การคำนวณภาษีแบบละเอียดจากทางสรรพากรนั้นจะมีอยู่ 2 ขั้นตอนนั่นคือการคำนวณ แบบขั้นบันได และการคำนวณแบบเหมา หากใครที่มีรายรับจากเงินเดือนอย่างเดียวจะไม่ต้องถูกคำนวณภาษีแบบเหมาในขั้นตอนที่ 2

การคำนวณภาษีแบบขั้นบันได

ขั้นตอนนี้จะเป็นการคำนวณเงินเดือนของเราโดยการนำรายได้สุทธิมาเทียบตามลำดับขั้นที่เราอยู่จากนั้นจะได้ออกมาเป็นภาษีที่ต้องเสีย

ภาษีที่ต้องเสีย = [(เงินได้สุทธิ-เงินได้สุทธิสูงสุดของขั้น) x อัตราภาษี] + ภาษีสะสมสูงสุดของขั้นก่อนหน้า
  • เงินได้สุทธิ 0 – 150,000 บาท : อัตราภาษี 0% หรือได้รับการยกเว้นภาษี
    ภาษีที่ต้องเสีย = 0 บาท
  • เงินได้สุทธิ 150,000 – 300,000 บาท : อัตราภาษี 5%
    ภาษีที่ต้องเสีย = [(เงินได้สุทธิ – 150,000) x 0.05] + 0
  • เงินได้สุทธิ 300,001 – 500,000 บาท : อัตราภาษี 10%
    ภาษีที่ต้องเสีย = [ (เงินได้สุทธิ – 300,000) x 0.1 ] + 7,500
  • เงินได้สุทธิ 500,001 – 750,000 บาท : อัตราภาษี 15%
    ภาษีที่ต้องเสีย =[ (เงินได้สุทธิ – 500,000) x 0.15 ] + 27,500
  • เงินได้สุทธิ 750,001 – 1 ล้านบาท : อัตราภาษี 20%
    ภาษีที่ต้องเสีย = [ (เงินได้สุทธิ – 750,000) x 0.2 ] + 65,000
  • เงินได้สุทธิ 1,000,001 – 2,000,000 บาท : อัตราภาษี 25%
    ภาษีที่ต้องเสีย = [ (เงินได้สุทธิ – 1,000,000) x 0.25 ] + 115,000
  • เงินได้สุทธิ 2,000,001 – 5,000,000 บาท : อัตราภาษี 30%
    ภาษีที่ต้องเสีย =[ (เงินได้สุทธิ – 2,000,000) x 0.3 ] + 365,000
  • เงินได้สุทธิมากกว่า 5 ล้านบาท : อัตราภาษี 35%
    ภาษีที่ต้องเสีย = [ (เงินได้สุทธิ – 5,000,000) x 0.35 ] + 1,265,000

การคำนวณภาษีแบบคิดเหมา

ขั้นตอนนี้จะเป็นการคำนวณภาษีกรณีเรามีเงินได้มากกว่าหนึ่งทางหรือมีรายรับอื่นนอกจากเงินเดือนนั่นเอง โดยจะถูกคำนวณในอัตราเดียวคือร้อยละ 0.5 โดยจะมีสูตรดังนี้

             ภาษีที่ต้องจ่าย = (เงินได้ทุกประเภท - เงินเดือน) x 0.005

** หากคำนวณแล้วภาษีไม่ถึง 5,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษีในขั้นตอนนี้

หลังจากที่ได้เลขจำนวน ภาษีที่ต้องจ่าย ออกมาแล้วจะทำการเปรียบเทียบกันว่าแบบใดมีภาษีที่ต้องจ่ายมากกว่ากัน ให้เลือกการคำนวณภาษีแบบนั้น

ลดหย่อนภาษี 2566 

หลังจากได้ยอดภาษที่ต้องจ่ายคร่าวๆ แล้ว เชื่อว่าหลายคนจะต้องมองหาตัวช่วยอย่างการลดหย่อนภาษีอยู่แน่นอน เราลองมาดูกันว่าจะมีอะไรที่ช่วยลดหย่อยภาษีให้กับเราได้บ้าง

ค่าลดหย่อนพื้นฐาน

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว: 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส: 60,000 บาท (ต้องเป็นสามี-ภรรยาตามกฎหมาย โดยที่คู่สมรสต้องไม่มีเงินได้แต่หากมีเงินได้ต้องยื่นภาษีร่วมกัน)
  • ค่าลดหย่อนบุตร: 30,000 บาท ต่อบุตร 1 คน (อายุตั้งแต่แรกเกิด – 20 ปี)
  • ค่าฝากครรภ์และทำคลอดบุตร: สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนบิดามารดา: 30,000 บาทต่อ 1 คน สามารถนับรวมบิดา-มารดาคู่สมรสได้ สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพ: 60,000 บาทต่อคน (ต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการ)

ค่าลดหย่อนเกี่ยวกับการลงทุน

  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข., สงเคราะห์ครูเอกชน: 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนการออมแห่งชาติ: ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 13,200 บาท
  • กองทุน RMF: 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุน SSF: 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท
  • เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม: ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 100,000 บาท

ค่าลดหย่อนเกี่ยวกับประกันชีวิต

  • ประกันชีวิต, ประกันสะสมทรัพย์: ลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 100,000 บาท
  • ประกันสุขภาพ: ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 25,000 บาท
  • ประกันสุขภาพบิดามารดา: ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 15,000 บาท
  • ประกันชีวิตแบบบำนาญ: ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 200,000 บาท และต้องเป็นประกันที่มีความคุ้มครองมากกว่า 10 ปีขึ้นไป
  • เงินสมทบกองทุนประกันสังคม: ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 6,300 บาท
  • ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย: ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 100,000 บาท

ช้อปดีมีคืน 2566 

  • ลดหย่อยได้ตามจริง ไม่เกิน 40,000 บาท โดยเป็นการซื้อของในร้านที่ออกใบกำกับภาษีทั่วไป 30,000 บาท และใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ 10,000 บาท

ค่าลดหย่อนเกี่ยวกับการบริจาค

  • เงินบริจาคทั่วไป: ลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังลดหย่อน
  • บริจาคเพื่อการศึกษา, การกีฬาม การพัฒนาสังคม/โรงพยาบาลของรัฐ: จะได้รับการลดหย่อนภาษี 2 เท่าของเงินบริจาค
  • บริจาคให้พรรคการเมือง ตามจ่ายจริง ไม่เกิน 10,000 บาท

การยื่นแบบและชำระภาษีเป็นหน้าที่ของเราทุกคน พยายามยื่นให้ตรงกับช่วงเวลาที่กรมสรรพากรกำหนดให้ในแต่ละปีเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมและค่าปรับที่จะเกิดขึ้น โดยการยื่นแบบภาษีสามารถศึกษาได้จากบทความของ Brandinside ได้เลย ยื่นภาษีออนไลน์ ทำยังไง ภ.ง.ด.90/91 คืออะไร 

Source: กรมสรรพากร, FINNOMENA, thairath, tidlor

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา