เทคโนโลยีการแพทย์พัฒนาอย่างรวดเร็ว การรักษาโรคต่างๆ ก็มากขึ้น แต่ค่าบริการค่ารักษาพยาบาลก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน หลายคนเลยเลือกซื้อแบบประกันสุขภาพเพื่อลดค่าใช้จ่ายเมื่อต้องเข้ารักษาตัว ให้อย่างน้อยก็สบายใจ สบายกระเป๋าว่าจะเข้าถึงบริการทางแพทย์ที่ดี แต่จะซื้อประกันยังไงดี

TGIA แนะแนวทางซื้อประกันสุขภาพ ฉุกเฉินเคลมได้ จ่ายเบี้ยไม่เกินตัว
นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย บอกว่า ประกันสุขภาพแต่ละแบบมีเงื่อนไข และความคุ้มครองต่างกัน ดังนั้นผู้เอาประกันภัย (ชื่อคนที่อยู่บนกรมธรรม์) ควรศึกษารายละเอียดให้ครบถ้วนทั้งก่อนและหลังตัดสินใจทำประกัน
จุดสำคัญคือต้องดูสิทธิ์ต่างๆ ภายในกรมธรรม์ เงื่อนไขความคุ้มครอง ข้อยกเว้นต่างๆ เช่น หลักการเบื้องต้นของการซื้อประกันสุขภาพคือ จะไม่คุ้มครองโรคเรื้องรัง การเจ็บป่วย(รวมถึงภาวะแทรกซ้อน) หรือ การบาดเจ็บที่ผู้เอาประกันภัยเป็นมาก่อนทำประกันหรือกำลังอยู่ระหว่างการรักษา
“คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเมื่อทำประกันสุขภาพแล้ว ถ้าเจ็บป่วยก็ใช้สิทธิหรือเคลมได้ทันที โดยไม่เข้าใจเงื่อนไขความคุ้มครอง หรือข้อยกเว้นของสัญญาประกันสุขภาพที่ทำไว้ จนเกิดปัญหาเคลมไม่ได้ขึ้น”
ผู้เอาประกันภัยมักเข้าใจผิดว่าทำประกันสุขภาพแล้วจะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ทั้งหมด แต่จริงๆ แล้วค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการรักษาพยาบาลจะจ่ายตามรายการที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ หรือบางกรมธรรม์อาจจะเป็นการเหมาจ่ายตามวงเงิน และทุนเอาประกันภัยที่ซื้อไว้ ถ้าไม่แน่ใจอะไรสอบถามได้ที่ Call Center
จะทำประกันต้องบอกความจริง โกหกเมื่อไรบริษัทอาจจะยกเลิกสิทธิ์
และที่สำคัญเมื่อตัดสินใจทำประกันสุขภาพจะต้องเปิดเผยข้อมูลตามความจริงและแถลงเรื่องสุขภาพ
โดยไม่ปิดบังหรือให้ข้อมูลเท็จ เพราะถ้าผู้เอาประกัน (คนที่มีชื่อบนกรมธรรม์) ไม่เปิดเผยข้อความจริง
หรือแถลงข้อความอันเป็นเท็จ จะถือว่าสัญญาเป็นโมฆียะ คือบริษัทประกันที่ซื้อไว้มีสิทธิปฏิเสธการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน รวมถึงบอกล้างสัญญาได้
ส่วนคนที่แถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาระสำคัญของสุขภาพแล้ว บริษัทจะพิจารณาว่ารับประกันภัยไหม อย่างไร เช่น สุขภาพปกติบริษัทอาจจะรับประกันภัยโดยใช้อัตราเบี้ยประกันภัยมาตรฐาน หรือบางกรณีบริษัทอาจมีการเพิ่มเบี้ยประกันภัยตามความเสี่ยงสุขภาพของคนที่ซื้อประกัน ซึ่งจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับนโยบายและเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์แต่ละบริษัท

ซื้อประกันสุขภาพแล้ว ไม่ได้เริ่มคุ้มครองทันที
เมื่อซื้อประกันสุขภาพ จะมี ระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง(Waiting Period) แบ่งเป็น 2 ส่วน 1) ระยะ 30 วันนับจากวันทำสัญญาหรือวันต่ออายุสัญญา บริษัทจะไม่จ่ายผลประโยชน์ตามสัญญาประกันสุขภาพสำหรับการเจ็บป่วยใดๆ ที่เกิดขึ้น
2) หากเจ็บป่วยด้วยโรคเนื้องอก ถุงน้ำ หรือมะเร็งทุกชนิด ริดสีดวงทวาร ไส้เลื่อน ต้อเนื้อต้อกระจก การตัดทอนซิล หรือ อดีนอยด์ นิ่วทุกชนิด เส้นเลือดขอดที่ขา เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ จะมีระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง 120 วันนับจากวันทำสัญญาหรือวันต่ออายุสัญญา เพราะเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่สำหรับกรณีอุบัติเหตุกรมธรรม์จะคุ้มครองในทันทีที่มีผลบังคับ เรื่องนี้สามารถอ่านได้ในกรมธรรม์ประกันที่ซื้อไป

4 ขั้นตอนซื้อประกันยังไงให้เบี้ยไม่เกินงบ
- เช็คสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพที่มีอยู่ให้ครบถ้วน เช่น ประกันกลุ่มที่มีอยู่ ประกันสังคม สิทธิบัตรทองฯลฯ
- คำนวนค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ เช่น ค่าห้องพักรักษาตัวที่ต้องการ โรงพยาบาลที่ใช้บริการอยู่มีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไร ฯลฯ คำนวนค่าใช้จ่าย ค่าเบี้ยที่สามารถจ่ายได้ตลอดทั้งปี
- ดูความเสี่ยงทางสุขภาพของตัวเอง ว่าต้องการประกันในส่วนไหน เช่น โรคร้ายแรง หรือการเจ็บป่วยที่เกิดจากอุบัติเหตุ
- เปรียบเทียบและหาแบบประกันจากหลายบริษัท โดยดูรายละเอียดทั้ง วงเงินการรักษา ทุนเอาประกัน รูปแบบการจ่ายเคลม เงื่อนไข ข้อยกเว้น ฯลฯ อย่างละเอียด

ตลาดประกันสุขภาพในไทยโตแค่ไหนแล้ว?
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2556 – 2560) ประกันสุขภาพเฉพาะส่วนธุรกิจประกันชีวิตเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 11.31% โดยครึ่งปีแรก 2561 นับรวมทั้งธุรกิจประกันภัยก็มีเบี้ยประกันสุขภาพที่ 41,087 ล้านบาท สัดส่วนกว่า 87.76% (หรือประมาณ 36,060 ล้านบาท) เป็นเบี้ยประกันสุขภาพจากบริษัทประกันชีวิต
สาเหตุหลักที่คนสนใจซื้อประกันสุขภาพมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อรับมือกับโรคร้ายแรง และลดภาระตัวเองจากค่ารักษาพยาบาลที่ปรับขึ้นทุกปีประมาณ 8%
ยิ่งภาครัฐเปิดโอกาสให้คนที่ทำประกันสุขภาพ สามารถใช้เบี้ยประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาทต่อบริษัทประกันชีวิตที่ได้ซื้อประกันสุขภาพไว้ แต่ก่อนจะใช้สิทธิต้องแจ้งความประสงค์กับบริษัทประกันก่อน และจะมีแบบฟอร์มให้ลูกค้าด้วย
สรุป
ตลาดประกันสุขภาพโตขึ้นทุกปี แต่การจะซื้อประกันต้องเช็คสิทธิ์ทางการแพทย์ที่มีอยู่ ประเมินค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ค่าห้องพักรักษาตัว วงเงินการรักษาตัวอย่างเหมาจ่ายหรือไม่เหมา และอ่านข้อยกเว้นอย่าง Waiting Period ที่สำคัญต้องศึกษารายละเอียดก่อนซื้อประกัน ป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลัง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา