3 เทคนิคซื้อสินค้ารักษ์โลก: จะช่วยโลกทั้งที ต้องคิดให้ดี มองให้ไกลกว่าฉลาก

กรีน สิ่งแวดล้อม รักษ์โลก

ระวังฉลากรักษ์โลก นั่นอาจเป็นกับดัก

ในปัจจุบัน กระแสสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง สิ่งที่เราสามารถทำได้และใกล้ตัวที่สุดในการช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมคือ การซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แต่คำถามสำคัญคือ แล้วสินค้าที่แปะป้ายว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ หรือไม่

Alexis Bateman ผู้อำนวยการโครงการ Sustainable Supply Chains program ที่ Massachusetts Institute of Technology กล่าวว่า จริงๆ แล้วฉลากที่บริษัทติดบนผลิตภัณฑ์เพื่อกล่าวอ้างว่าสินค้าของตนไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะได้รับการยืนยันจากองค์กรไหนก็ตาม ถูกตรวจสอบผลกระทบจริงๆ โดยรัฐน้อยมาก

“มันจึงไม่ได้เป็นเครื่องยืนยัน 100% และมันอาจเป็นเพียงการโปรโมทสินค้าเท่านั้น” Bateman กล่าว

แต่ Bateman ก็ไม่ได้ทำลายความตั้งใจของคนที่ต้องการปรับวิถีการบริโภคเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เขาให้คำแนะนำว่า ในการซื้อสินค้ารักษ์โลก เราต้องมองให้ลึกกว่าแค่ “คำกล่าวอ้างบนฉลาก” และพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น พร้อมทั้งแนะนำ 3 วิธีเบื้องต้นเพื่อให้เราเลือกซื้อสินค้ารักษ์โลกได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น

1. เลือกสินค้าที่ใช้วัสดุที่ผ่านการรีไซเคิล ไม่ใช่สินค้าที่นำไปรีไซเคิลได้

สินค้าที่ผ่านการรีไซเคิลมาแล้ว (recycled) เป็นมิตรกว่าสินค้าที่รีไซเคิลได้ (recyclable) เพราะสินค้าที่รีไซเคิลได้ “ในทางทฤษฎี” มันสามารถลดขยะและนำไปเข้าสู่วงจรการผลิตได้อีก แต่ “ในทางปฏิบัติ” พบว่า 1 ใน 4 ของกระดาษ และ 3 ใน 4 ของพลาสติก ที่โดยส่วนใหญ่รีไซเคิลได้ มักจะจบลงที่บ่อขยะเสมอ

สินค้าที่ใช้วัสดุที่ผ่านการรีไซเคิลแล้ว เป็นเครื่องยืนยันว่าการบริโภคของเราสร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อมลดลงอย่างแน่นอน เพราะชัดเจนว่าสินค้าดังกล่าวนำวัสดุเหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์แล้ว

ในภาพกว้าง นี่เป็นการสนับสนุนให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) มากขึ้น ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่การผลิตส่วนมาก จะนำของเหลือทิ้งจากปลายทางห่วงโซ่การผลิตหนึ่งไปเติมในห่วงโซ่การผลิตใหม่ 

2. มองไกลกว่าผลิตภัณฑ์ในมือ คำนึงถึงการบรรจุและการขนส่ง 

การบริโภคสินค้าให้ได้อย่างยั่งยืนไม่ได้จบลงแค่ที่ตัวสินค้าเท่านั้น ต้องคิดถึงเรื่องการบรรจุและการขนส่งด้วย เพราะในความเป็นจริง สินค้าเป็นแค่ปลายทางของห่วงโซ่การผลิตขนาดยาวที่ต้องบรรจุและขนส่งตลอดเวลา ซึ่งนั่นหมายถึงต้นทุนทางทรัพยากรที่ธรรมชาติต้องแบกรับเอาไว้

Bateman แนะนำว่า หากเป็นไปได้ก็ควรซื้อสินค้าและอาหารที่ผลิตในท้องถิ่น เพราะมีห่วงโซ่การผลิตขนาดเล็ก ไม่ต้องขนส่งหลายต่อ ไม่ต้องบรรจุของซ้ำซาก ซึ่งนั่นหมายถึงต้นทุนทางนิเวศที่ลดลงมหาศาล  

3. ลองประเมินผลกระทบจากการใช้งานคร่าวๆ 

การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้งานสินค้าคร่าวๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ สินค้าบางอย่างเมื่อเทียบกันแล้วเราสามารถประเมินได้ชัดเจน เช่น สินค้าที่ใช้ได้ระยะยาวอย่าผ้าเช็ดปากย่อมดีกว่ากระดาษทิชชู่ หรือ ขวดแสตนเลสย่อมดีกว่าพลาสติก

แต่สินค้าบางชนิดอาจต้องจินตนาการซับซ้อนมากขึ้น เช่น เครื่องชงกาแฟดริปเทียบกับเครื่องชงกาแฟอัตโนมัติแบบแคปซูล ที่ในการใช้งานจริง กาแฟดริปจะต้องใช้ฟิลเตอร์กระดาษแต่ไม่ใช้ไฟฟ้า ในขณะที่เครื่องชงอัตโนมัติใช้ไฟฟ้าและแคปซูลพลาสติก

ซึ่งหากเลือกกาแฟดริปก็ยังมีเรื่องให้คิดต่อไปว่าแล้วจะใช้ฟิลเตอร์กระดาษแบบไหนที่เกิดผลกระทบต่อสิ่งน้อยจริงๆ

Blue Bottle
ร้านกาแฟ Blue Bottle // ภาพจาก Unsplash

สรุป

Bateman ทิ้งท้ายไว้ว่า “สินค้าที่รักษ์โลกจริงที่สุดที่สามารถซื้อได้ไม่มีอยู่จริง แต่สินค้าที่รักษ์โลกที่สุดคือของที่มีอยู่แล้ว” เพราะต้องไม่ลืมว่าสินชิ้นหนึ่งๆ โดยเบื้องต้น ต้องสังเคราะห์วัสดุตั้งต้น ต้องผลิต ต้องบรรจุหีบห่อขนาดใหญ่ ต้องขนส่ง และต้องบรรจุหีบห่อในร้านค้าปลีก ซึ่งกว่าจะถึงมือเรา นั่นเป็นต้นทุนต่อระบบนิเวศมหาศาล

การสร้างระบบนิเวศของเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนในครัวเรือนและชุมชน ที่นำของในบ้านที่ไม่ใช้แล้ว ไปใช้ใหม่ในจุดประสงค์อื่น เช่น นำเสื้อไม่ใช้แล้วมาใช้เป็นผ้าขี้ริ้ว การแจกของเล่นและหนังสือที่อ่านแล้วให้เด็กๆ ในละแวกบ้าน ก็เป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อย และมั่นใจได้มากกว่าการซื้อสินค้าใหม่ที่ติดป้ายรักษ์โลก

ที่มา – The Washington Post

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน