“รุ่นใหม่ต้องกล้าถาม รุ่นใหญ่ต้องกล้าฟัง” สูตรสร้างองค์กรแห่งอนาคตของ บรรณรงค์ พิชญากร

เปิดมุมมองการสร้างองค์กรแห่งอนาคต “รุ่นใหม่ต้องกล้าถาม รุ่นใหญ่ต้องกล้าฟัง” โดยบรรณรงค์ พิชญากร คนการเงินในยุคที่ธนาคารกำลังถูกท้าทาย

“นวัตกรรมในวงการการเงินว่าเปลี่ยนแปลงเร็วแล้ว ยิ่งเจอ Covid-19 ไปอีก ก็ยิ่งอึ้กกันไปใหญ่ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เคยเจอ พอไม่เคยเจอถามว่า แล้วเรา react กับมันยังไง? บทเรียนนี้มันสอนอะไรให้กับเรา? เราควรพัฒนาธุรกิจหรือการบริการลูกค้าไปทางไหน? นี่คือโจทย์สำคัญเลยที่เราใช้ขมวดความคิดเราในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา”

บรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผจก.อาวุโส กิจการค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เริ่มบทสนทนาด้วยการฉายภาพให้เห็นว่าธนาคารอยู่ในกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกการเงินเชี่ยวกรากแค่ไหน

“คนที่ทำงานในสายนี้เนี่ย จากเมื่อ 10 ปี ที่ผ่านมามีหน้าที่แค่โทรไปแนะนำและเคาะซื้อหุ้น มาตอนนี้มันไม่ใช่แบบนั้นอีกแล้ว เพราะฐานนักลงทุน 90% ตอนนี้เทรดหุ้นเอง พูดได้ว่ามีแค่ 10% ที่ต้องการเรา ดังนั้นงานด้าน execution จึงมีคุณค่าลดลง ส่วนงานด้านการให้คำปรึกษาก็ยังมีคุณค่าอยู่แต่ขณะเดียวกันลูกค้าต้องการความเร็วเพราะฉะนั้นบทบาท Advisory ก็คุณค่าลดลงไปได้อีก” บรรณรงค์เล่า

ขยับไปที่ส่วนการดูแล ยังไงก็ตามเครื่องมันยังแทนคนไม่ได้ เพราะมันไม่มีภาษากายหรือความเข้าใจในคนมากพอ เราต้องปรับวิธีการทำงาน เอาเครื่องมาแทนงานเราในส่วนที่เราสู้เครื่องไม่ได้ ในขณะเดียวกันเราก็ทำในเรื่องที่เครื่องแทนคนไม่ได้ ดังนั้น รูปแบบของการทำงานก็จะไปแบบไฮบริด คือมีเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาผสมกับการทำงานของคนทำให้คนมี value มากขึ้น

ภาพจาก Facebook: Bualuang Securities

บรรณรงค์เล่าว่า สิ่งที่บริษัทด้านการเงินการลงทุนจำเป็นต้องมีเพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจให้กับลูกค้าในยุคนี้ประกอบด้วย 5 อย่าง คือ

  • Digital Touchpoint ให้บริการด้านการเงินการลงทุนบนโลกออนไลน์
  • Direct & Low Latency สามารถสื่อสารได้โดยตรงและรวดเร็วกับผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน
  • Wealth Opportunity สร้างแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เจาะลึก และทันเหตุการณ์ในที่เดียว
  • Personalized Experiences ใช้ระบบจัดการข้อมูลให้บริการทางการเงินที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคน
  • Secured & Confidence แพลตฟอร์มต้องสามารถสร้างความมั่นใจและรับรองความปลอดภัยของข้อมูลให้กับลูกค้า

อย่างในกรณีของหลักทรัพย์ บัวหลวง ก็มีการเปิดตัวแอปพลิเคชัน Wealth Connex แพลตฟอร์ม Hybrid Service ที่ให้บริการข่าวสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้เชี่ยวชาญ และมีแหล่งเรียนรู้ด้านการลงทุนในที่เดียว ผสานความเร็วและแม่นยำของ ‘เครื่อง’ เข้ากับความสามารถในการดูแลลูกค้าของ ‘คน’ แถมยังตอบโจทย์ 5 ข้อที่พูดถึงข้างต้น เพื่อให้บริการนักลงทุนได้อย่างเหมาะสมในโลกทางการเงินยุคใหม่

จะเป็นตัวเอ้หรือสตาร์ทอัพก็ไม่สำคัญ

ที่ผ่านมา ความเร็วและนวัตกรรมมักถูกมองเป็นเรื่องของ Startup ส่วนความยืดยาดและปรับตัวช้ามักถูกมองเป็นเรื่องของบริษัทใหญ่ๆ แต่บรรณรงค์เห็นต่างในเรื่องนี้

บรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผจก.อาวุโส กิจการค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)

ผมว่าสตาร์ทอัพหรือไม่ หรือ traditional หรือไม่ มันไม่สำคัญเท่าวิธีในการทำงานหรอก สิ่งที่สำคัญคือต้องกล้าทำในสิ่งที่สมควรจะทำแค่นั้นเอง” บรรณรงค์แย้ง “ถ้าเราคิดว่าทางนี้คือหนทางที่ใช่ เราก็ลองดู”

แต่บรรณรงค์ก็ยอมรับว่าเอาเข้าจริงธุรกิจแบบดั้งเดิมและ Startup ก็อาจจะมีข้อแตกต่างอยู่จริงๆ เขาเล่าตามตรงว่า “แน่นอน ความที่เราเป็น traditional business สิ่งที่เราต้องคิดก็มีเยอะ เช่น สิ่งที่ทำจะมีผลยังไงต่อลูกค้า สาธารณชน และหน่วยงานกำกับดูแล”

“สำหรับเราเราก็ไม่ได้มองต่างนะระหว่างผู้เล่น startup กับ traditional
ผมกลับมองว่า core value ต่างหากที่สำคัญ”

เราจะใช้ความระมัดระวังเยอะ ต้องคิดเยอะ ในขณะที่บางที Startup อาจจะไม่มีประสบการณ์เรื่องพวกนี้ ทำทุกอย่างเลยลุยได้เร็ว อาจจะเรียกได้ว่าไม่ต้องพะวงเยอะเท่าเรา แต่เรามีประสบการณ์เราถึงรู้ว่าอะไรควรต้อองระแวดระวังบ้างในหลายเรื่อง เอาจริงๆ ผมดีลกับ Startup หลายแห่งเหมือนกัน เราก็จะเจอประสบการณ์ที่ว่ามุมมองมันจะต่างกันเรื่องนี้เนี่ยแหละ

เพื่อตอบคำถามว่าจะแข่งยังไง บรรณรงค์ย้ำว่า “ในแง่ของเรา สิ่งที่เราทำคือผมต้องสร้าง environment ที่มันสนับสนุนให้เกิด innovation เพราะฉะนั้น ไอเดียดีๆ เราจะไม่ช็อตมันลง เราจะเอาไอเดียของน้องๆ ในทีมขึ้นมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันลอง และจริงๆ เราก็ลองทำมานานแล้วหละ อันไหนดีเราก็ทำ อันไหนไม่ดี เราก็หยุด”

สิ่งแวดล้อมแห่งนวัตกรรม

บรรณรงค์เล่าถึงบรรยากาศภายในองค์กรว่า “เมื่อก่อนผมจะตั้งเข็มว่าทุกๆ ไตรมาสควรมีอะไรใหม่ออกมา ตั้งเป้าไว้ก่อนเลย ถึงเวลาคนก็จะพยายามคิดขึ้นมาตลอด อย่าง Wealth Connex ก็เป็นตัวอย่าง แล้วพอเรามีความเชื่อแบบนี้ เราก็จะกล้าลงทุนเรื่องของ R&D เรื่องของการจ้างคน”

“สิ่งที่เราทำคือก็จะระดมสมองในหมู่น้องทีมงานว่า เราอยากเห็นอะไร คิดว่าอะไรคือเทรนด์
แล้วเทคโนโลยีพอจะรับได้ บริการแบบไหนสำคัญที่เราจะต้องทำ”

“สักประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว บล. ของเราเป็นเจ้าแรกๆ ที่ทำเรื่องโปรแกรมเทรดดิ้ง ใช้คนมาเขียนโปรแกรมเพื่อเทรดหุ้นแทนคน เห็นได้ชัดว่าเรากล้าทำ เรากล้าจ้างเด็กที่เป็น financial engineer” บรรณรงค์เล่า

ผมสัมภาษณ์เด็กมาเยอะ สิ่งที่เห็นคือเด็กมักจะบอกว่า พี่ผมจบมาผมไม่รู้จะหางานที่ไหน ผมบอกมาที่นี่แหละ เราจะจ้างคุณ อย่างนี้เป็นต้น ผมว่าเราน่าจะเป็นรายแรกๆ ในประเทศที่ทำในเรื่องนี้เลย เพราะฉะนั้น บางเรื่องที่ลองศึกษา ลองทำ แล้วมัน make sense เราพร้อมจะลงทุน เราพร้อมจะสร้างคน

ให้งานที่มีความหมาย เปิดพื้นที่ให้ผิดพลาด

แน่นอนว่าในยุคสมัยใหม่ในโลกการเงินการลงทุนคนทำงานที่เป็น tech talent เช่นคนในสายงาน financial engineer คือบุคลากรที่สำคัญอย่างมากต่อองค์กร บรรณรงค์เล่าว่า การที่จะดึงดูดเข้าสู่องค์กร “สิ่งที่เราให้ได้คือ ให้งานที่ท้าทายและมีความหมายกับเขา” 

เพราะผมมองว่าพวกเขาอยากทำสิ่งที่ท้าทาย อย่างเล่นในเรื่องของ data ว่าสิ่งที่เขาคิดและสิ่งทีเขาเรียนมามันออกมาทำอะไรได้จริงหรือเปล่า แล้วน้องๆ ทีมงานเค้าจะเอนจอยในการที่เค้าได้เรียนรู้เพราะเราใช้เทคโนโลยีใหม่ ผมว่ามันดีต่ออาชีพเค้าไม่ว่าจะอยู่ที่นี่หรือไปที่อื่น

“ผมว่าเราเปิดโอกาสให้ลองให้เรียนรู้ได้เต็มที่ หลายๆ เรื่องมันไม่มีใครรู้มาก่อน ก็เรียนรู้ได้พร้อมกัน
เพียงแต่ว่าเราช่วยหารือร่วมกันว่ามันใช่หรือเปล่าทางนี้ที่เราจะเดิน
ที่แน่ๆ คือ หลายอย่างมันไม่ใช่ big bet ขนาดที่จะทำให้บริษัทเสียหาย”

บรรณรงค์ยกตัวอย่างว่า “อย่างแอป wealth connex เอง เราก็ไม่รู้หรอกว่าทำอออกมาแล้วคนจะชอบหรือเปล่า เทคโนโลยีมันดีหรือเปล่า แต่ไม่ลองมันไม่รู้หรอก จนกระทั่งเราลองลงมือทำมันถึงจะรู้” 

อีกอย่างคือ เราต้องเปิดพื้นที่ให้ผิดพลาด เอาเข้าจริงงานของเขามันคือเรื่องที่ใหม่และเกิดความผิดพลาดได้อยู่ตลอดด้วยซ้ำ เราจะพยายาม recruit น้องๆ กลุ่มนี้บนเงื่อนไขที่ว่าการทำงานของพวกเขาจะไม่เฟลจนกระทั้งเขาอาจจะท้อ 

“ต่อให้ทำออกมาแล้วมันไม่ดีอย่างที่ใจเราคิดหรือลูกค้าไม่ชอบ
เราก็ได้เรียนรู้ว่าทางนี้ไม่เวิร์ค วันหลังจะต้องไปทางอื่น ก็ว่ากันไป”

เพราะฉะนั้นเราก็จะแบ่งแกนของการทำงานให้เขา 2-3 เรื่อง เช่น operation support, improve efficiency และ new ideas สมมติยังคิดเรื่องใหม่ไม่ได้ก็มาทำเรื่องที่มันแก้ปัญหาให้บริษัทก่อน เช่น เปลี่ยนกระดาษเป็นดิจิทัล หรือตัดกระบวนงานให้สั้นลง พอทำจนเบื่อก็สลับกลับไปทำงานท้าทาย แล้วก็ค่อยกลับไปทำอะไรง่ายๆ แต่มีคุณค่าเมื่อล้มจากการสร้างไอเดียใหม่ๆ เป็นต้น

องค์กรแห่งนวัตกรรม รุ่นใหม่ต้องกล้าถาม รุ่นใหญ่ต้องกล้าฟัง

“ปัญหาที่ผมมักเจอคือ เด็กๆ จะไม่กล้าถาม ซึ่งไม่แปลกนะ สมัยเด็กๆ เราก็เจอ ซึ่งพอเรามาเป็นผู้ใหญ่ตอนนี้เราเลยรู้ว่ามันมีคุณค่าจริงๆ เพราะหลายๆ เรื่องที่คุณไม่รู้แล้วคุณก็ไม่กล้าถามเนี่ย คุณจะไม่ได้เรียนรู้แล้วคุณก็ต้องเออออไป แล้วมันก็จะเป็นคำถามในใจ แล้วคุณก็จะไม่ได้เรียนรู้ออะไรใหม่ๆ เลย” บรรณรงค์เปิดใจ

ผมอยากให้เด็กๆ กล้าถาม กล้าเข้าใจเรียนรู้ และอาจจะต้องทำงานหนักด้วย ถ้าไม่ได้ไม่แข็งเรื่องอะไรควรจะต้องหาจุดพวกนั้นมาเติมเพราะคุณอยู่ในวัยที่ยังเรียนรู้ได้ 

“ถ้าเกิดคุณไม่รู้จักเรียนรู้แล้วคุณอายุมากขึ้น พออายุสัก 30 ปี 40 ปี คุณจะเริ่มโหวงข้างในแล้วว่าคุณโตขึ้นมาอยู่ในองค์กร แต่จริงๆ แล้วคุณไม่รู้อะไรแน่นพอซึ่งมันน่าเศร้า แล้วกลายเป็นว่าเด็กรุ่นใหม่มันขึ้นมาแซงคุณ คนเก่งๆ มันขึ้นมาแซงคุณ ประเด็นนี้แหละคือเรื่องที่สำคัญ เรียนรู้ให้มันมากหน่อย กล้าเรียนรู้ กล้าออกไอเดีย” บรรณรงค์แนะนำ

“มันกลับมาสะท้อนที่ผู้ใหญ่อย่างเราด้วย ก็ต้องสร้างองค์กร สร้างวัฒนธรรม ให้มันเปิด พร้อมรับฟังเค้าแล้วกล้าให้เค้าทำในสิ่งที่มีคุณค่า” บรรณรงค์ทิ้งท้ายด้วยการยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของผู้ใหญ่พอๆ กัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน