อินเทอร์เน็ตทำให้คำว่าพรมแดนดูจะน้อยลงไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้ไม่สำคัญแล้วว่าผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการจะอยู่ส่วนไหนของโลก สำคัญแค่ว่าให้บริการที่มีประสิทธิภาพ และสามารถจ่ายเงินได้แค่นั้นก็พอแล้ว
แต่นั่นคือการมองการณ์สั้นเกินไป เพราะเงินที่เราจ่ายออกไปให้กับบริษัทเหล่านี้ ประเทศของเราควรจะได้ภาษีนิติบุคคลมาไว้ใช้ในการพัฒนาประเทศ
แต่ที่ผ่านมาไม่มีภาษีส่วนนี้อยู่เลย เพราะ Google, Facebook หรือแม้แต่ Apple และอีกหลายบริษัทที่เป็นบริษัทที่ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่ได้ลงบัญชีรับรายได้ในประเทศไทย
แบบนี้ประเทศเสียหาย เพราะถูกบริษัทใหญ่ระดับโลกกำลังเอาเปรียบ แต่หลายประเทศก็กำลังลุกฮือขึ้นมาหาทางเก็บภาษีจากบริษัทเหล่านี้อย่างจริงจังมากขึ้น
อินโดนีเซีย เริ่มต้นสอบสวน 4 บริษัทอินเทอร์เน็ตใหญ่ของโลก
ล่าสุด กรมสรรพากรของอินโดนีเซีย ได้ทำการสอบสวนบริษัท Alphabet หรือ Google เดิม สำหรับการเลี่ยงภาษีรายได้มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์จากค่าโฆษณา ซึ่งหลังจากทางอินโดนีเซียได้ส่งหนังสือเพื่อขอดูรายงานทางภาษีตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ Google ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ
กล่าวได้ว่า อินโดนีเซีย เป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคนี้ที่เริ่มต้นสอบสวนและหาทางเก็บภาษีจากบริษัทที่ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ต นอกจาก Google แล้วยังมี Yahoo, Twitter และ Facebook ด้วย ซึ่งการเริ่มต้นสอบสวนเรื่องนี้ แสดงว่า ทางการอินโดนีเซียเชื่อว่า บริษัทเหล่านี้สร้างรายได้หลายพันล้านดอลลาร์จากการโฆษณาในอินโดนีเซียแน่นอน
ทางอินโดนีเซียเชื่อว่า ทางการสามารถเก็บภาษีรายได้จาก Google จากสัดส่วน 4% ของรายได้จริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น ขณะที่กระทรวงที่ดูแลด้านการสื่อสารของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดโฆษณาดิจิทัลของอินโดนีเซียอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา และแทบจะเก็บภาษีไม่ได้เลย
ใครหลีกเลี่ยงภาษี ต้องจัดการให้หมด
ในกรณีบริษัทข้ามชาติที่เกิดกับอินโดนีเซีย เช่น บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ที่ถูกตรวจสอบว่าอาจเข้าข่ายหลีกเลี่ยงภาษี โดยการนำเข้ารถยนต์ ฟอร์ด เอเวอร์เรสต์ มาขายในอินโดนีเซีย เพื่อจ่ายภาษีที่ถูกลง ซึ่งหากพิสูจน์ว่าฟอร์ด ทำให้อินโดนีเซียมีเจตนาเลี่ยงภาษีทำให้รัฐสูญเสียรายได้ อาจต้องจ่ายภาษีคืนสูงสุด 4 เท่า
ก่อนหน้านี้เล็กน้อย คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ลงมติว่าประเทศไอร์แลนด์ ให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ Apple มูลค่า 13,000 ล้านยูโร (5 แสนล้านบาท) ซึ่งผิดกฎหมายของสหภาพยุโรป จึงกำหนดให้ไอร์แลนด์ต้องเรียกภาษีที่ไม่ได้จ่ายคืนจาก Apple ซึ่งมีมูลค่ารวม 13,000 ล้านยูโร บวกดอกเบี้ย โดยทาง blognone ได้สรุปเนื้อหาไว้คลิกอ่านได้
ประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้หน่วยงานด้านภาษีของกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาสอบสวนในกรณีที่คล้ายกันและพบว่ารายได้ของ Apple ที่ได้จากบริการ iTunes ในญี่ปุ่น ถูกส่งไปที่บริษัทลูกในไอร์แลนด์ โดยไม่ได้เสียภาษีในญี่ปุ่นด้วย ดังนั้นจึงมีการเรียกเก็บภาษีจาก Apple เพิ่ม 118 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4,100 ล้านบาท
ผลสำรวจ Facebook/Google ครองส่วนแบ่งเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลสูงสุด
ขณะที่ในประเทศไทย จากการสำรวจตลาดล่าสุดของสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT คาดว่ามีเม็ดเงินโฆษณาวิ่งผ่านเฉพาะ Facebook และ Google รวมแล้วใกล้ๆ 5,000 ล้านบาท และนี่เป็นตัวเลขที่เก็บจาก ดิจิทัล เอเจนซี่ หลักๆ ยังไม่นับรวมที่แบรนด์ต่างๆ ซื้อเองโดยตรง หรือการซื้อผ่านเอเจนซี่ระดับรองลงไป และยังไม่นับตัวเลขโฆษณาผ่านบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น LINE, Instagram
ดิจิทัลเอเจนซี่หลายรายคาดว่า เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลในไทยวิ่งผ่าน Facebook และ Google รวมแล้ว น่าจะมีสัดส่วน 60-70% เท่ากับว่า ถ้ามูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท มีเม็ดเงินผ่าน 2 ยักษ์ใหญ่ออนไลน์ประมาณ 7,000 ล้านบาท
และเนื่องจากการตั้งบริษัทในประเทศไทย เป็นเพียงบริษัทที่ทำการตลาดและการขาย จึงไม่มีการลงบัญชีรายได้ ประเทศไทยจึงไม่สามารถเก็บภาษีส่วนนี้ได้ และการจะผลักภาระโดยเก็บภาษีส่วนเพิ่มจากเอเจนซี่ ก็ไม่ใช่ทางออกของเรื่องนี้แน่นอน เพราะเท่ากับ เอเจนซี่ ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายไปยังแบรนด์ต่างๆ ขณะที่เงินที่ควรเก็บภาษีที่แท้จริง ยังวิ่งออกนอกประเทศเหมือนเดิม
หลายประเทศจับมือ เพิ่มอำนาจต่อรอง
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และผู้บริหาร Tarad.com บอกว่า ประเทศไทยแม้จะมีจำนวนผู้ใช้ Facebook และ Google รวมถึง Youtube มากติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ไทยเป็นประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีอำนาจต่อรองกับบริษัทเหล่านี้ ยิ่งมีจำนวนผู้ใช้มาก อำนาจต่อรองของภาครัฐยิ่งต่ำลง ทางออกคือ ประเทศไทย ต้องร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในอาเซียนที่มีการรวมกลุ่มกันอยู่แล้ว
“ประเทศเพื่อนบ้านต้องมาถกประเด็นนี้ร่วมกัน กระทรวงพาณิชย์ กรมสรรพกร ของหลายประเทศต้องร่วมกันออกเสียงและเสนอมาตรการต่อรองไปยังบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ เพราะเราถูกเอาเปรียบมานานแล้ว”
อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ผู้บริหารจากเว็บไซต์ Pantip.com เคยเสนอให้ใช้แนวคิดว่า การซื้อโฆษณาจาก Facebook และ Google ต้องเสียภาษีศุลกากร เหมือนนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งหากต้องซื้อสินค้าจากต่างประเทศบ่อยๆ อาจจะกดดันให้บริษัทเหล่านั้นมาเปิดบริษัทในไทยเพื่อรับรู้รายได้ แต่แน่นอนว่า ทุกประเทศต้องใช้มาตรการเดียวกัน เพื่อเพิ่มพลังในการกดดัน
สรุป
ประเทศไทยมีประชากรที่เล่น Facebook และ Google มากที่สุดอันดับต้นๆ แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรเรื่องนี้เลย ในขณะที่หลายประเทศเริ่มตระหนักและมีการสอบสวนเรื่องนี้กันแล้ว ถ้าต้องการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชนควรเริ่มต้นหารือ และร่วมมือกับประเทศรอบๆ เช่น มาเลเซีย, สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ที่เริ่มต้นไปแล้ว เพิ่มพลังในการต่อรองโดยเร็ว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา