หลังจากที่เศรษฐกิจไทยฟื้นช้า ทั้งยังเจอปัญหาต่อเนื่องขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องสินค้าจีนบุกขนานใหญ่จนผู้ประกอบการไทยเริ่มแย่และไปต่อไม่ได้กันมาก
ไปจนถึงโรงงานขนาดใหญ่ทยอยปิดตัว โรงงานเปิดใหม่ก็มีขนาดใหญ่ไม่เท่า มีแต่ขนาดเล็กๆ ที่เริ่มเข้ามา การทยอยปิดตัวโรงงานสะท้อนภาคการผลิตของไทยที่กำลังอ่อนแอ ปีที่ผ่านมาก็ปิดไปแล้วเกือบ 2,000 แห่ง
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเคสการปิดตัวของโรงงานผลิตรถยนต์แบรนด์ Suzuki ของญี่ปุ่นที่ผลิตรถได้ราว 60,000 คันต่อปี ในขณะที่โรงงานผลิตรถยนต์แบรนด์จีนอย่าง BYD เริ่มขยายตัวมากขึ้นและในที่สุดก็มาตั้งโรงงานในไทยด้วย
ตัวอย่างแรงงานไทย อยู่ๆ ก็ถูกลอยแพ
เคสตัวอย่างจาก Chanpen Suetrong วัย 54 ปีทำงานอยู่ในตำแหน่งตรวจสอบยานยนต์และผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในไลน์ผลิตโรงงาน V.M.C. Safety Glass มาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี เธอเล่าว่า อยู่ๆ สิ่งที่ไม่คาดหวังมาก่อนก็เกิดขึ้น โรงงานปิดตัวลง ทำให้เธอต้องอยู่ในสภาพตกงาน
Chanpen เล่าว่า เธอไม่มีเงินเก็บสักบาท มีแต่หนี้อีกเป็นแสน เธอเป็นเสาหลักที่ต้องทำงานอยู่คนเดียวเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวที่มีลูกสาว 1 คนกับสามีที่เจ็บป่วยอยู่ เธอบอกว่าเธอแก่แล้วจะไปทำงานที่ไหนได้ ใครจะจ้างฉัน ด้าน Monchai Praepriwngam ผู้อำนวยการบริษัทปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่องการปิดตัวของโรงงาน
ถึงเวลาไทยต้องเปลี่ยน เปลี่ยนแบบไม่มีข้อแม้
ด้านศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว Reuters ว่า “โมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยด้วยภาคการผลิตนั้น พังเละเทะมานานนับทศวรรษแล้ว ขณะนี้จีนกำลังพยายามส่งออกมาทั้งฝั่งซ้าย ฝั่งขวา และตรงกลาง ดังนั้น การนำเข้าสินค้าราคาถูกพวกนี้มันสร้างปัญหาจริงๆ”
“คุณต้องเปลี่ยนแปลง”
“ประเทศไทยต้องกลับมาทบทวนใหม่ว่าจะสร้างผลิตภัณฑ์หรือสินค้าใดที่ประเทศจีนส่งออกไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาคเกษตรกรรมด้วย” เรื่องนี้ไม่มีข้อแม้ แต่เป็นเรื่องต้องลงมือทำได้แล้ว
Reuters รายงานโดยอ้างตัวเลขการปิดตัวของโรงงานในไทยโดยระบุว่า โรงงานในไทยปิดตัวตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2023 ถึงมิถุนายน 2024 มีอัตราที่เพิ่มขึ้น 40% จากปีก่อนหน้า มีคนตกงานเพิ่มขึ้น 80% ในช่วงเวลาเดียวกัน มีพนักงานกว่า 51,500 คนที่สูญเสียหน้าที่การงาน
ปรับตัวไม่ได้ ก็ปิดตัว
ด้านแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ระบุว่า “ผู้ผลิตรายย่อยกำลังต่อสู้กับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สูง และยังรวมถึงค่าแรงที่สูงขึ้นด้วย” “เรากำลังแข่งขันกับธุรกิจข้ามชาติ ถ้าผู้ผลิตรายใดไม่สามารถปรับตัวได้เร็วก็จะต้องปิดตัว หรือไม่ก็ต้องหันไปทำอย่างอื่นแทน”
เดือนนี้ไทยเริ่มเก็บภาษี 7% สำหรับสินค้านำเข้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้ามาจากจีน แต่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็ได้รับการยกเว้นภาษีจากศุลกากร
ด้านนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรม ระบุว่า เขาได้ขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการป้องกันการเลี่ยงภาษีท่ามกลางสงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน
อย่างไรก็ดี Reuters ยังอ้างเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ปิดท้ายว่า ตัวเขาเองก็ไม่ค่อยพอใจกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเท่าไร นี่จึงเป็นสาเหตุที่เขาพยายามอัดฉีดเงินเข้าระบบ เงินกว่า 5 แสนล้านบาทที่จะเป็นดิจิทอลวอลเล็ทยังคงมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขอย่างต่อเนื่อง เขาบอกว่า มันเป็นยาที่จะมาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้
ย้อนกลับไปที่ Chanpen พนักงานโรงงานที่ถูกลอยแพโดยไม่รู้ตัวก็บอกว่าเธอเฝ้ารอเงิน 10,000 บาทจากดิจิทัลวอลเลทนี่เหมือนกัน เธอบอกว่า รัฐบาลก่อนว่าเศรษฐกิจไม่ดีแล้ว แต่มีรัฐบาลใหม่มา เศรษฐกิจก็แย่เหมือนเดิม
- CIMB มองเศรษฐกิจไทย ภาคการผลิตหดตัว ถ้าคุมไม่ดี สินค้าจีนทะลัก ทำโรงงานไทยปิดตัวเพิ่มได้
- แบงก์ชาติ: เศรษฐกิจไทยฟื้นช้า “กระตุ้นให้ตาย ก็ได้เท่าเดิม” ถ้าไม่แก้ปัญหาโครงสร้าง
ที่มา – Reuters
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา