ขาดทุนยับ การบินไทยรายงานขาดทุนกว่า 2 หมื่นล้าน หนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน 1.24 หมื่นล้านบาท

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นำส่งงบการเงินของบริษัทฯ และบริษัทย่อย สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 โดยระบุว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างไปประเทศอื่นทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ช่วงปลายกุมภาพันธ์ ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศต้องใช้มาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางทั้งภายในและระหว่างประเทศอย่างเข้มงวด ทำให้ความต้องการเดินทางทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศลดลง ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินของโลอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์

การบินไทย สนามบินสุวรรณภูมิ Thai Airways Booth

ภาพจาก Shutterstockการบินไทยได้บริหารจัดการผลกระทบจากโควิด-19 และทยอยยกเลิกเที่ยวบินประจำเป็นการชั่วคราว ควบคู่กับเข้มงวดในการลดค่าใช้จ่ายคงที่เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ประกอบกับประกาศใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 เรื่องเครื่องมือทางการเงินและฉบับที่ 16 เรื่องสัญญาเช่าที่มีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 ซึ่งปกติเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 11.7% จากการปรับลดเที่ยวบิน ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 22.1% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 70.9% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 80.3% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 4.49 ล้นคน ลดลงจากปีก่อน 28.6%

การบินไทย Boeing โบอิ้ง 747
ภาพจาก Shutterstock

ไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 38,001 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 11,790 ล้านบาท หรือ 23.7% สาเหตุสำคัญเนื่องจากทั้งรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 10,864 ล้านบาท หรือ 23.8% เป็นผลจากปริมาณการผลิตและการขนส่งลดลง

ประกอบกับรายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วยลดลงจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อสกุลเงินรายได้หลักทำให้รายได้เมื่อคำนวณเป็นเงินบาทลดลง

นอกจากนี้ รายได้จากการบริการอื่นๆ ลดลง 844 ล้านบาท หรือ 23.0% สำหรับค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 42,609 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 8,010 ล้านบาท (15.8%) สาเหตุหลักเกิดจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานโดยส่วนใหญ่ลดลงจากปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่ลดลง ส่งผลให้ขาดทุนจากการดำเนินงาน 4,608 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 3,780 ล้านบาท

Thai Airways การบินไทย
ภาพจาก Shutterstock

นอกจากนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อย ยังมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ประกอบด้วย

  • กำไรจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเงินลงทุนในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด จำนวน 206 ล้านบาท
  • ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ถาวร จำนวน 2,981 ล้านบาท
  • ผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 จำนวน 65 ล้านบาท
  • ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 8,541 ล้นบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าทางบัญชี รวมหนี้สินตามสัญญาเช่าดำเนินงานเครื่องบินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16
  • ผลขาดทุนสำหรับการป้องกันความเสี่ยงของกลุ่มรายการของฐานะสุทธจำนวน 6,489 ล้านบาท

บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 22,676 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อนมีกำไร 456 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 22,676 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 10.39 บาท ในขณะที่ปีก่อนมีกำไรต่อหุ้น 0.20 บาท

Thai Airways การบินไทย
ภาพจาก Shutterstock

วันที่ 31 มีนาคม 2563 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 338,486 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จำนวน 83,678 ล้านบาท (32.8%) มีหนี้สินรวม เท่ากับ 350,946 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 31 ธันวาคม 2562 จำนวน 107,904 ล้านบาท (44.4%) และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบจำนวน 12,460 ล้านบาท ลดจากวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จำนวน 24,226 ล้านบาท (205.9%)

ที่มา – Thai Airways

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา