เรียนรู้วิธีสัมภาษณ์งานแบบ Sundar Pichai สัมภาษณ์งานอย่างไรจนได้เป็น CEO ของ Google

เรียนรู้วิธีการสัมภาษณ์งานของ CEO บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Google ของ Sundar Pichai ที่บอกเล่าประสบการณ์สัมภาษณ์งานในตำแหน่ง VP ของบริษัทเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ก่อนจะก้าวขึ้นมารับตำแหน่ง CEO ในภายหลัง

การสัมภาษณ์งานเป็นกระบวนการที่ยากที่สุดก่อนที่จะได้งานทำ บางคนเจอการสัมภาษณ์งานแค่รอบเดียวก็ได้งานทำ แต่บางคนต้องเจอกับการสัมภาษณ์งานหลายๆ รอบ เหมือนการเล่นเกมที่ต้องผ่านด่านไปจนถึงปลายทางนั่นคือการได้งานทำตามที่ตั้งใจไว้

google
ภาพจาก Google

Sundar Pichai CEO คนปัจจุบันของ Google บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกกว่าจะได้ก้าวขึ้นมาเป็น CEO ในปี 2015 ก็ต้องผ่านกระบวนการสัมภาษณ์งานสุดหินของ Google มาแล้วเช่นกัน

จากสถิติที่ผ่านมาในแต่ละปีมีผู้สมัครเข้ามาทำงานกับ Google ปีละหลายล้านคน ซึ่งโอกาสของคนที่จะได้ทำงานกับ Google มีอยู่ประมาณ 0.2% เท่านั้น การสัมภาษณ์งานของ Sundar Pichai จึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน

Sundar Pichai

เรียนรู้วิธีสัมภาษณ์งานกับ Google จาก Sundar Pichai

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2004 หรือกว่า 17 ปีที่แล้ว Sundar Pichai เขามาทำงานกับ Google ในตำแหน่ง VP of Product Management และก่อนที่จะได้งานต้องผ่านการสัมภาษณ์มากถึง 5 รอบ และเมื่อปี 2017 Sundar Pichai ได้เล่าประสบการณ์สัมภาษณ์งานกับ Google ให้กับนักศึกษาของ Indian Institute of Technology ในประเทศอินเดีย

Sundar Pichai เล่าว่า ในการสัมภาษณ์งานรอบแรกๆ เขาถูกถามคำถามว่า “คิดอย่างไรกับ Gmail” แต่ปัญหาของเขาคือ เขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับ Gmail ด้วยซ้ำ เพราะ Google เพิ่งจะเปิดตัว Gmail ในวันที่ 1 เมษายน 2004 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่เขาสัมภาษณ์งาน แถมเขายังคิดด้วยว่ามันเป็นเรื่องโกหกตามวัน April Fool’s Day

ซึ่งเขาเลือกที่จะตอบคำถามนี้ว่า “เขาไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ เพราะเขายังไม่เคยลองใช้ Gmail เลย” จนถึงการสัมภาษณ์รอบที่ 4 เขาก็ยังถูกถามอีกว่าคุณเคยเห็น Gmail แล้วหรือยัง ซึ่งในการสัมภาษณ์ครั้งนั้นผู้สัมภาษณ์จึงโชว์ Gmail ให้กับ Sundar Pichai ดูเป็นครั้งแรก แล้วถามคำถามใหม่ว่า “คุณคิดอย่างไรกับ Gmail” ซึ่งในครั้งนี้เขาสามารถตอบคำถามนี้ได้

จากประสบการณ์สัมภาษณ์งานที่ Sundar Pichai เล่า เราเห็นแง่คิดอะไรบ้าง?

หลายๆ คน เมื่อเจอคำถามที่ไม่สามารถตอบได้ หรือไม่รู้ในเรื่องนั้นๆ มักจะไม่บอกตรงๆ แต่เลือกที่จะตอบอ้อมๆ ยกเรื่องอื่นขึ้นมาแทน ก่อนที่จะข้ามไปคำถามข้อต่อไปแบบเนียนๆ แต่ Sundar Pichai ทำตรงข้ามกับคนอื่นๆ ไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ แต่เมื่อเขาได้ลองใช้ Gmail เขาก็สามารถตอบคำถามได้เป็นอย่างดี จนในที่สุดก็ได้งานที่ Google

ยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ คือสิ่งที่ Sundar Pichai ทำถูกต้อง

Laszlo Bock อดีต Senior VP of People Operation ของ Google เคยเล่าว่า สิ่งที่ต้องการมองหาจากผู้ที่จะเข้ามาทำงานกับ Google ไม่ใช่คนเก่งที่ไม่เคยล้มเหลว เพราะ “คนที่ประสบความสำเร็จ และเก่งมากๆ จะไม่เคยพบกับความล้มเหลว ซึ่งคนพวกนี้ก็จะไม่เคยรู้จักเรียนรู้กับความล้มเหลวของตัวเอง ถ้าทำได้ดี ก็จะบอกว่าเป็นเพราะตัวเองฉลาด แต่ถ้าทำพลาดก็จะโทษว่าเป็นความผิดของคนอื่นๆ”

มีเหตุผลในความไม่รู้ของตัวเอง

นอกจากการยอมรับว่าไม่รู้แล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ Sundar Pichai มีเหตุผลให้กับความไม่รู้ของตัวเอง นั่นคือ Gmail เพิ่งจะเปิดตัวในวันที่เขาสัมภาษณ์งานกับ Google เขาจึงยังไม่เคยทดลองใช้ Gmail และไม่สามารถตอบได้ว่าเขารู้สึกอย่างไรกับมัน

ในขณะเดียวกันเมื่อเขาบอกเหตุผลให้กับความไม่รู้ของตัวเขาเองแล้ว มันกลายเป็นการสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้กับตัวเขาเองด้วยเช่นกัน

ต่อบทสนทนาจากความไม่รู้ของตัวเอง

หลังจากที่เขาไม่รู้จะตอบอะไรเกี่ยวกับ Gmail ดี แต่เมื่อเขาได้ทดลองใช้ Gmail ที่ผู้สัมภาษณ์แนะนำให้เขาทดลองใช้ในการสัมภาษณ์ครั้งที่ 4 ในการสัมภาษณ์ครั้งที่ 5 เขาจึงสามารถตอบทุกคำถามเกี่ยวกับ Gmail ได้ เพราะเขารู้ และเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์ของ Google อย่างแท้จริง

สำหรับใครที่อยู่ระหว่างการหางาน และไม่รู้ว่าจะจัดการกับความไม่รู้ของตัวเองอย่างไรดี ลองใช้วิธีแบบ Sundar Pichai ที่เปลี่ยนความไม่รู้ของตัวเอง ให้กลายเป็นกลยุทธ์การตอบคำถามสุดปัง ที่ทำให้เขาได้ทำงานกับ Google และก้าวขึ้นมาเป็น CEO ในที่สุด

ที่มา – cnbc

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา