คุยกับเจ้าของกิจการ The One Resort อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย รีสอร์ทเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 สู่การปรับตัวเปิดคาเฟ่ อีกหนึ่งธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการสังเกตพฤติกรรม Cafe Hopping ของคนภายในจังหวัด
เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่สถานการณ์โควิด-19 สร้างผลกระทบให้กับธุรกิจท่องเที่ยว และโรงแรมในประเทศไทย ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงจาก 39.91 ล้านคน ในปี 2562 สู่การปิดประเทศเพื่อคุมการแพร่ระบาด ในวันนี้ธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยดำเนินไปด้วยความยากลำบาก จากจำนวนลูกค้าที่น้อยลง ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เหลือเพียงลูกค้าที่เป็นคนไทยด้วยกันเท่านั้น
Brand Inside ได้มีโอกาสคุยกับนัฐกิจ ปิงยศ หรือแบม ผู้ประกอบการ The One Resort รีสอร์ทขนาดเล็ก ในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่ทำรีสอร์ทในลักษณะธุรกิจเล็กๆ ของครอบครัว ถึงมุมมองการปรับตัว การทำธุรกิจในยุคที่โควิด-19 ระบาดหนักเป็นปีที่ 2
The One Resort ธุรกิจครอบครัวที่เริ่มจากศูนย์
แบมเริ่มต้นเล่าว่าในวันนี้ที่บ้านทำรีสอร์ทมาได้นาน 8 ปีแล้ว โดยเป็นการทำรีสอร์ทแบบเริ่มจากศูนย์ ทำให้ความยากในการทำรีสอร์ทอยู่ในช่วง 1-2 ปีแรก ที่กว่าจะทำให้รีสอร์ทเป็นที่รู้จักเป็นเรื่องยาก
แต่ในที่สุด ด้วยความที่ครอบครัวลงมือทำรีสอร์ทด้วยตัวเองทุกขั้นตอน “พอทำเองก็จะรู้ความต้องการของลูกค้า ว่าลูกค้าต้องการอะไร” จนในที่สุดก็จะเกิดเป็นการบอกต่อ ลูกค้าติดใจ จนมีลูกค้าเข้ามาพักเพิ่มเรื่อยๆ
ก่อนช่วงโควิด-19 ระบาด อัตราการเข้าพักเฉลี่ย 45% ซึ่งแบมเล่าว่า แม้ตัวเลข 45% จะดูน้อยเมื่อเทียบกับเชนโรงแรม หรือรีสอร์ทขนาดใหญ่ แต่การเป็นรีสอร์ทที่ทำกันเองในครอบครัว จึงถือว่าตัวเลขนี้สามารถเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอดได้แล้ว
จุดพีคของรีสอร์ท อยู่ที่เหตุการณ์ถ้ำหลวง
ย้อนกลับไปในปี 2561 ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ถ้ำหลวง แบมเล่าว่าในปีนั้นเป็นเหมือนปีทองของ The One Resort และโรงแรมอื่นๆ ในอำเภอแม่สายเลยก็ว่าได้ เพราะสามารถสร้างรายได้มากกว่าช่วงปีก่อนๆ ถึง 2 เท่า ขนาดในช่วงฤดูฝนที่นักท่องเที่ยวน้อย ก็ยังมีคนมาพักไม่ขาดสาย ขนาดที่ว่า “มีห้องพักเท่าไหร่ก็ไม่พอ”
โควิด-19 เริ่มระบาด ยอดแขกเข้าพักหายไปเกือบครึ่ง
จนกระทั่งเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาดเริ่มตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ในตอนแรก แบมยอมรับว่ายังมองในแง่ดีว่ารัฐบาลน่าจะกันผู้ติดเชื้อจากประเทศจีนได้ แต่ในความจริงสถานการณ์กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น
แม้โรงแรม และรีสอร์ทในจังหวัดเชียงรายจะไม่เคยเป็นธุรกิจที่ถูกสั่งให้ปิดกิจการเลย แต่เมื่อโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มรุนแรงขึ้น ครอบครัวของแบมจึงตัดสินใจที่จะปิดบริการ The One Resort ไปก่อน ตั้งแต่เดือนมีนาคม
สิ่งที่แบมคิดได้ในเวลานั้น คือถึงแม้รีสอร์ทจะปิดบริการไป แต่ก็ไม่อยากให้แบรนด์หายไป จึงตัดสินใจที่จะทำผลิตภัณฑ์ออกมาขาย โดยนำมัลเบอร์รี่ ซึ่งเป็นผลไม้ที่ปลูกแบบออร์แกนิคในรีสอร์ท มาแปรรูปทำเป็นแยม ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือแยมมัลเบอร์รี่ขายดี มีคนซื้อตลอด แต่สุดท้ายก็ต้องเลิกทำไป เพราะหมดฤดูของมัลเบอร์รี่
หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ในปีที่แล้วดีขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเริ่มนิ่ง The One Resort จึงตัดสินใจกลับมาเปิดบริการอีกครั้งในเดือนมิถุนายน แต่ก็พบว่า ยอดผู้เข้าพักหายไปเกือบครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติก่อนที่โควิด-19 จะระบาด
ปี 2564 คนทำรีสอร์ทสาหัสกว่าปีที่แล้ว
เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ยอดผู้เข้าพัก และรายได้ก็กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง จากการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ทำให้ยอดกลับไปเท่ากับปี 2562 ก่อนที่โควิด-19 จะระบาด ซึ่งเป็นสิ่งที่แบมเองก็ไม่คิด เพราะที่ผ่านมาหลายเดือนยอดตกเกือบ 50% มานาน
แต่สถานการณ์ที่กำลังจะดีขึ้นกลับพลิกผันอีกครั้ง เมื่อโควิด-19 เริ่มระบาดรอบใหม่ในประเทศไทย ในเดือนธันวาคม ซึ่งถือเป็นช่วงท่องเที่ยวของจังหวัดทางภาคเหนือ รายได้ลดลงเหลือเพียง 25% เท่านั้น จากยอดคาดการณ์ไว้ 4-5 แสนบาท ซ้ำร้าย เดือนมกราคม 2564 รายได้ที่ได้รับเหลือเพียงหลักพันบาท จนกระทั่งตัดสินใจปิดบริการชั่วคราวตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา
“ปีนี้ ผ่านมา 7 เดือน ยอดยังไม่ถึง 10% ของรายได้เฉลี่ยทั้งปีในช่วงสถานการณ์ปกติเลย” แบมเล่าให้ฟังอย่างชัดเจนถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อธุรกิจรีสอร์ทของครอบครัว
สิ่งที่ The One Resort ทำ มีทั้งปลดแม่บ้านออกไป เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย และด้วยความที่เป็นรีสอร์ทขนาดเล็ก ทำให้ค่าใช้จ่ายไม่ค่อยมี เมื่อไม่มีแขกเข้ามาพัก จึงสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้
จากรีสอร์ท ปรับตัวสู่คาเฟ่ หวังดึงลูกค้าคนในจังหวัด
เมื่อรีสอร์ทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มานานเข้าสู่ปีที่ 2 แบมจึงคิดว่า “การปิดรีสอร์ท ต้องควักเงินเยอะมาก” จนเกิดเป็นไอเดียทำธุรกิจใหม่ “ให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเป็นคนในจังหวัด เกิดเป็นไอเดียที่จะทำคาเฟ่ขึ้นมา”
“ทำรีสอร์ทในจังหวัดเชียงราย คนเชียงรายไม่มาพักอยู่แล้ว แต่จังหวัดเชียงรายมีคาเฟ่เยอะมาก ยิ่งกว่าดอกเห็ด จึงรู้ว่าคนเชียงรายชอบไปคาเฟ่กันมาก”
แต่ด้วยความที่เชียงรายมีคาเฟ่เยอะยิ่งกว่าดอกเห็ด ทำให้แบมต้องตีโจทย์ให้ได้ว่าจะทำให้คาเฟ่ของตัวเองแตกต่างจากคนอื่นๆ อย่างไร
สุดท้ายแล้ว แบมจึงย้อนกลับไปสู่แนวคิดเมื่อครั้งทำแยมมัลเบอร์รี่ว่าอยากสร้างความต่างด้วยการใช้วัตถุดิบจากชุมชนมายกระดับและสร้างสรรค์ให้มีความแปลกใหม่และหลากหลาย โดยเฉพาะกาแฟผาฮี้ ที่เป็นหนึ่งในของดีของอำเภอแม่สาย
ด้วยความที่เป็นรีสอร์ท จึงมีพื้นที่ห้องทานอาหารอยู่แล้ว แบมจึงตัดสินใจรีโนเวทให้กลายเป็นคาเฟ่ที่ใช้ชื่อว่า One Cafenity โดยมีที่มาจากคำว่า Cafe และ Community รวมกัน
ในอนาคต แบมต้องการทำให้คาเฟ่กลายเป็นแหล่งรายได้หลักอีกส่วนหนึ่ง ไม่ใช่เพียงธุรกิจที่เกิดมาเพื่อแก้ขัดในยุคที่รีสอร์ทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เท่านั้น
ขอวัคซีนที่ดี เพราะเงินเยียวยาไม่ใช่ทางออก
อย่างไรก็ตาม แบม และครอบครัวก็ยังไม่ได้ทิ้ง The One Resort ไปเลยทีเดียว เพราะแบมยังคงมีความหวังว่าธุรกิจรีสอร์ทจะฟื้นตัวได้ในอนาคต แต่สิ่งสำคัญที่แบมอยากฝากสะท้อนไปถึงการแก้ปัญหาโควิด-19 ในฐานะคนทำธุรกิจ คือ “ไม่เคยอยากได้เงิน เงินไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาที่จะทำให้อยู่รอดได้ แต่อยากได้วัคซีนดีๆ ” โดยแบมเปรียบเทียบกับปีที่แล้วที่มีผู้เข้าพักเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง ว่า “เป็นเพราะยอดผู้ติดเชื้อเริ่มนิ่ง ทำให้คนหันกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง” ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงได้คือวัคซีน ไม่ใช่เงินเยียวยา
สุดท้ายแบมขอ ฝาก The One Resort และร้าน One Cafenity หากใครผ่านไปอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ก็สามารถไปอุดหนุนที่คาเฟ่กันได้ โดยจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ ส่วนรีสอร์ทนั้น คงต้องรอกันอีกสักพัก รวมถึงสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ Facebook ของรีสอร์ท และ Facebook ของร้าน One Cafenity
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา