อสังหาฯ จัดกลยุทธ์ “ผ่อนให้” เร่งระบายสต็อก แก้ปัญหาขาดความเชื่อมั่นรายได้ในอนาคต

ความต้องการบ้าน หรือ ดีมานด์ที่อยู่อาศัยนั้น ไม่เคยหายไปจากตลาด ปัจจัยที่ทำให้ต้องชะลอการตัดสินใจซื้อออกไปคือ ความสามารถในการซื้อและการผ่อนชำระ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับรายได้ผู้บริโภค ที่ในช่วงโควิด-19 ได้รับผลกระทบหนัก รายได้ลด จากการลดเวลาทำงาน ปรับลดเงินเดือน หรือถูกเลิกจ้าง

real estate

ปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย เนื่องจากเกิดความกังวล และความไม่มั่นใจต่อรายได้ในอนาคต ซึ่งอาจมีผลต่อการผ่อนชำระค่างวดในระยะ 1-2 ปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงการได้รับผลกระทบจากโควิด-19

โจทย์ใหญ่ คือ ทำอย่างไรให้การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคเร็วขึ้น และสร้างความมั่นใจได้ว่า สามารถผ่อนชำระค่างวดที่อยู่อาศัยในช่วง 1-2 ปีจากนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากการถูกลดเวลาการทำงาน การมีรายได้ลดลง จากการถูกปรับลดเงินเดือน หรือ ถูกเลิกจ้างงาน รวมไปถึงความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้าง เพราะธุรกิจประสบปัญหาขาดทุนหรือปิดตัวลง เพราะขาดรายได้ซึ่งทั้งหมดเป็นผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

หนึ่งในกลยุทธ์ คือ การลดราคาขาย ซึ่งในปี 2563 แทบทุกบริษัทมีการลดราคาขายที่อยู่อาศัย เพื่อระบายสต็อกสินค้าคงค้าง ซึ่งก่อให้เกิดต้นทุนดอกเบี้ย โดยการลดราคาขายในปีก่อนหน้านี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการลดราคาขายที่อยู่อาศัยมากที่สุด นับจากการก่อตั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยมีการอัตราการลดราคากว่า 30-40%

อย่างไรก็ตาม หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19ในรอบที่ 2 และ 3 ในปี 2564 ทำให้มีการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวช้าออกไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ซึ่งส่งผลต่อความกังวลด้านรายได้ของประชาชนในประเทศและมีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยให้ยืดออกไป กลยุทธ์ด้านการเงินจึงเริ่มขึ้น เช่น จับมือกับสถาบันการเงินจัดแคมเปญดอกเบี้ยต่ำ ลดราคาขายและการผ่อนค่างวดให้ลูกค้า

โดยเฉพาะแคมเปญผ่อนให้ลูกค้าและแคมเปญดอกเบี้ยต่ำ นอกเหนือจากการลดราคาขายซึ่งถือว่าช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้ลูกค้า สองแคมเปญดังกล่าวถือว่าเป็นแคมเปญหลักในปี 2564 นี้ เพราะเป็นแคมเปญที่กระตุ้นการตัดสินซื้อได้ค่อนข้างดี

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมาค่ายอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต่างนำกลยุทธ์ผ่อนให้ลูกค้าออกมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น

  • แสนสิริ ที่จัดโปรโมชั่นผ่อนให้ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าที่ซื้อบ้าน คอนโด และทาวน์เฮ้าส์ ในโครงการที่ร่วมรายการ ภายใต้แคมเปญ“แสนสิริ ผ่อนให้ 24 เดือน*
  • แอล.พี.เอ็น.ฯ จัดแคมเปญ เช่าเท่าไร ผ่อนเท่านั้น และจะช่วยผ่อนค่างวดกับสถาบันการเงินเป็นเวลา 30 เดือน
  • อนันดาฯ จัดแคมเปญ #ทุบไม่ยั้ง อนันดาผ่อนให้ 36 เดือน หรือ 3 ปี ถือว่า ยาวที่สุดในตลาดเวลานี้
  • ศุภาลัย เป็นอีกค่ายที่จัดแคมเปญผ่อนให้ลูกค้า ภายใต้แคมเปญ ศุภาลัย สบาย สบาย อยู่ฟรี 24 เดือน
  • พฤกษาฯ ซึ่งนำกลยุทธ์ผ่อนให้ลูกค้ามาเล่น ภายใต้ชื่อแคมเปญ ร้อนนี้ หนาว..แน่ แช่แข็งดอกเบี้ยนาน 36 เดือน และ แคมเปญ อยู่ฟรีนานสูงสุด 36 เดือน หรือ ดอกเบี้ยฟรี 0% สูงสุด 36 เดือน

ทั้งหมดเป็นการตอกย้ำว่า ปี 2564 นี้ จะเป็นอีกหนึ่งปีที่ตลาดยังแข่งขันรุนแรง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การะบายสต็อกสินค้าในมือ โดยเฉพาะหลังการมาของโควิดระลอกที่ 3 ซึ่งทำให้หลายๆ ค่ายเลื่อนแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไป ทั้งที่ในช่วงปลายปี 2563 ทุก ๆ ค่ายอสังหาฯ ต่างประกาศอย่างเชื่อมั่นว่าปี 2564 นี้ ตลาดจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง และประกาศแผนการลงทุนโครงการใหม่เพื่อรองรับดีมานด์ที่จะฟื้นตัวกลับมา

ทำให้ในช่วงไตรมาส 1 ปี2564 สถานการณ์การเปิดตัวโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในไตรมาสแรกของปี 2564 ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ โดยมีจำนวนการเปิดตัวใหม่ทั้งสิ้น 9,688 หน่วย ลดลง 45.72% แต่มีมูลค่ารวมของการเปิดตัวโครงการใหม่ 70,156.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.81% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2563 เป็นผลมาจากการเปิดขายโครงการอาคารชุดพักอาศัยในระดับราคาสูง ขณะที่อัตราการขายของโครงการเปิดตัวใหม่ในไตรมาสแรกปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 20% ซึ่งสูงกว่าอัตราการขายที่ 16% ในระยะเดียวกันของปี 2563

สรุป

หากสังเกตุตัวเลขอัตราการขายในไตรมาสแรกของปี 2564 ซึ่งมีอัตราการขายเฉี่ยอยู่ที่ 20% สูงกว่าอัตราการขายที่ 16% ในระยะเดียวกันของปี 2563 นั้น ถือว่าเป็นตัวเลขที่สะท้อนความสำเร็จของการนำกลยุทธ์ “ผ่อนให้” มาใช้ของบริษัทอสังหาฯได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือจากนี้บริษัทอสังหาฯรายใหญ่ กลาง และเล็กจะเริ่มนำกลยุทธ์ดังกล่าวมาใช้ให้เป็นเพิ่มมากขึ้น และคาดว่ากลยุทธ์นี้จะกลายมาเป็นกลยุทธ์หลักในการทำตลาดของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา