กระแสข่าวเรื่องการเก็บภาษี e-Commerce หรือการค้าขายบนโลกออนไลน์ ได้รับการกล่าวถึง และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา (ซึ่งอาจรวมถึงภาษีบริการออนไลน์ที่เกิดจากบริษัทข้ามชาติ เช่น Facebook, Google, LINE) ว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหน
Brand Inside ได้มีโอกาสสัมภาษณ์แหล่งข่าวที่มีความเชี่ยวชาญในด้าน e-Commerce และออนไลน์ ซึ่งวิเคราะห์และแจกแจงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจน และน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่าย ซึ่งได้สรุปเป็นเนื้อหามาเล่าสู่กันฟังดังนี้
จุดเริ่มต้น: ควบคุมดูแลและสร้างรายได้
แหล่งข่าว ได้บอกเล่าถึงหลักการของภาษี คือ เมื่อมีกิจกรรมใดๆ ที่สร้างรายได้เกิดขึ้น ผู้ประกอบการต้องแบ่งรายได้ให้กับรัฐ เพื่อนำไปใช้พัฒนาท้องถิ่น เพราะผู้ประกอบการได้ใช้โครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยเพื่อกระทำการดังกล่าว ซึ่งในโลกปกติ หรือ โลกออฟไลน์ รัฐสามารถตรวจสอบกิจกรรมต่างๆ ได้ และดำเนินการจัดเก็บภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
แต่ในโลกออนไลน์ เป็นโลกไร้พรมแดน ไม่สามารถรู้ได้ว่า กิจกรรมนั้นเกิดขึ้นที่ไหน มีธุรกรรมการเงินเกิดขึ้นหรือไม่ มูลค่าเท่าไร ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลเกือบทุกประเทศไม่สามารถตรวจสอบและเก็บภาษีได้ แม้แต่สหรัฐอเมริกา มียกเว้นเพียง จีน ประเทศเดียวเท่านั้นที่สามารถทำได้
กิจกรรมบนโลกออนไลน์ที่ว่า คือ การค้าออนไลน์ หรือ e-Commerce จากเดิม นาย A ขายของออฟไลน์เสียภาษีตามปกติ พอนาย B ขายของออนไลน์ ราคาถูกกว่า ไม่ต้องเสียภาษี เกิดผลทันที คือ
1 รัฐมีรายได้จากการเก็บภาษีน้อยลง และเมื่อนาย B ไม่ต้องเสียภาษี มีแนวโน้มที่นาย A จะทำตาม
2 เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการแข่งขันทางการค้า คนทำถูกกฎหมายโดนเอาเปรียบ
3 มีความเป็นไปได้ที่ นาย B จะขายสินค้าหรือบริการที่ผิดกฎหมายมากขึ้น เพราะรัฐไม่สามารถตรวจสอบได้
ทำให้รัฐบาลทั่วโลก ต้องการควบคุมและจัดเก็บภาษีโลกออนไลน์
คนขายไม่อยากเสียภาษี และก็ไม่ต้องเสียด้วย!
แหล่งข่าว บอกว่า นี่ไม่ใช่การชี้ช่อง แต่คือการวิเคราะห์สิ่งที่เป็นอยู่ นั่นคือปัจจุบัน ผู้ขายของออนไลน์ ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว และไม่สามารถตรวจสอบได้ แม้จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ
พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 – การตลาดแบบตรง ไม่ใช่ขายตรง แต่เป็นกิจกรรมที่มีการเชิญชวนให้ซื้อสินค้าและบริการและบอกวิธีการจ่ายเงิน เช่น แค็ตาล็อก, e-Commerce, TV Direct ถือเป็นการตลาดแบบตรงทั้งหมด ต้องทำการจดทะเบียนกับ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หากไม่จดทะเบียนมีโทษปรับวันละ 10,000 บาท
แต่ข้อเท็จจริงคือ ไม่มีผู้ประกอบการธุรกิจ e-Commerce รายใดจดทะเบียน แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้หรือลงโทษปรับแต่อย่างใด แสดงว่า มีกฎหมาย มีอำนาจ แต่ไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย
กฎหมายอีกฉบับคือ พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2553 ให้ผู้ประกอบการ e-Commerce ต้องมาจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แต่ปัญหาคือ จดทะเบียนไปแล้วไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากจะเป็นฐานข้อมูลให้สรรพากรเข้ามาตรวจสอบเพื่อเก็บภาษีเงินได้
จึงไม่แปลกใจถ้าผู้ประกอบการ e-Commerce จะไม่จดทะเบียน แม้กฎหมายกำหนดโทษปรับไว้ 10,000 บาทต่อวัน แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอยู่ดี ดังนั้นจึงไม่แปลกใจถ้าผู้ประกอบการ e-Commerce จะเลือกไม่จดทะเบียน และอยู่นิ่งๆ ไม่เสียภาษีต่อไป
จะทำอย่างไรจึงจะเก็บภาษี e-Commerce ได้
ตามหลักการจะเก็บภาษีได้ ต้องหา “เงิน” ให้เจอ ซึ่งเงินในโลกออนไลน์ของไทย มี 3 ประเภท คือ
1 เงินสด – เกิดจากการติดต่อซื้อขายทางออนไลน์ แต่เลือกไปเจอกันเพื่อจ่ายเงินต่อหน้า แบบนี้ตรวจสอบไม่ได้
2 e-Payment – นี่คือวิธีที่ดีที่สุดที่รัฐ จะตรวจสอบการเคลื่อนที่ของเงินได้ เพราะมีการบันทึกเป็นข้อมูลไว้ตลอด ได้แก่การรับจ่ายโอนถอนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด เช่น ATM, Mobile Payment, e-Payment, โอนเงินธนาคาร รวมถึง PromptPay (พร้อมเพย์) ที่รัฐพยายามผลักดันให้มีการใช้งาน
3 บัตรเงินสด True Money – ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มีบัตรเงินสดที่สามารถใช้จ่ายได้เหมือนเงินสด และมีบริการออนไลน์จำนวนไม่น้อย ยินดีรับการจ่ายเงินด้วยบัตรเงินสด ซึ่งเป็นช่องทางที่ไม่สามารถตรวจสอบได้เช่นเดียวกับ เงินสด
ดังนั้น ประเทศเดียวในโลกที่สามารถเก็บภาษี e-Commerce ได้ในเวลานี้คือ จีน เพราะจีน ใช้ระบบ Single Gateway ตรวจสอบการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ และสามารถตรวจสอบบัญชีของ Alibaba, Tencent หรือ Baidu ได้ทันที เพื่อจัดเก็บภาษี (แต่ก็ให้การสนับสนุนเพื่อเป็นธุรกิจออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของประเทศและของโลก) และหากไม่เข้าร่วมกับรัฐบาล ก็อาจถูกปิดบริษัทได้เลย
2 แนวทาง รัฐจัดเก็บภาษี e-Commerce
ปัจจุบันยังไม่มีทางเก็บภาษี e-Commerce รวมถึงภาษีจากบริการออนไลน์ของบริษัทข้ามชาติ (Facebook, Google, LINE) อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ไม่รู้แหล่งเงิน ไม่รู้กิจกรรม ไม่รู้ปลายทางของเงิน และตรวจสอบอะไรไม่ได้ ก็ไม่มีทางเก็บภาษีได้ เว้นแต่ 2 แนวทางนี้
1 รัฐบาลใช้ มาตรา 44 เปิดบัญชีธนาคาร แล้วใช้เครื่องมือ Big Data ตรวจสอบรูปแบบการเดินทางของเงิน สามารถรู้ได้ทันทีว่า ใครทำอาชีพขายของออนไลน์ แล้วเข้าตรวจสอบเพื่อจัดเก็บภาษีได้เลย นี่คือวิธีที่ง่ายและรวดเร็วที่สุด
2 สร้างผลประโยชน์ที่มากกว่าการเลี่ยงภาษี แต่เป็นวิธีที่นานและไม่แน่ว่าจะได้ผล เช่น กำหนดเรทภาษีที่น้อยลง พร้อมให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม แต่สุดท้ายก็จะกระทบกับการค้าออฟไลน์ เกิดความไม่เท่าเทียมอยู่ดี
สรุป
Brand Inside และแหล่งข่าวที่ให้สัมภาษณ์ เห็นด้วยกับการเก็บภาษี e-Commerce เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทางการแข่งขัน นำเงินภาษีไปพัฒนาประเทศ และทุกกิจกรรมควรมีการควบคุมดูแลโดยรัฐบาล แต่เท่าที่คิดอย่างรอบด้าน ยังไม่เห็นหนทางที่รัฐบาลไทย (หรือประเทศอื่นใด) จะสามารถเก็บภาษี e-Commerce ได้ เว้นแต่จะตั้ง Single Gateway แบบจีน ซึ่งยังต้องหวังว่าในอนาคตอันใกล้ จะสามารถคิดเครื่องมือที่สามารถตรวจสอบและจัดเก็บภาษีจากกิจกรรมการซื้อขายหรือให้บริการทางออนไลน์ได้หรือไม่
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา