ถอดบทเรียนนิวซีแลนด์ เอาชนะโควิด-19 อย่างไร ในวันที่หลายประเทศยังพ่ายแพ้อยู่

การเอาชนะโควิด-19 ของนิวซีแลนด์ได้ ไม่ใช่แค่นโยบายที่มีประสิทธิภาพในการดูแลประชาชนในวันที่มีภัยคุกคามด้านสาธารณสุขเท่านั้น ไม่ใช่แค่ประชาชนที่เชื่อมั่นต่อระบอบการปกครอง แต่ยังรวมถึงศักยภาพของผู้นำในการนำพาประเทศให้พ้นภัยโควิด-19 ด้วย

แม้นิวซีแลนด์จะประกาศชัยชนะต่อโควิด-19 ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ายอดคนติดเชื้อมีจำนวนเป็นศูนย์ แต่เป็นชัยชนะที่ประกาศให้โลกรู้ว่านิวซีแลนด์จัดการโควิด-19 ได้แล้ว เพราะจำนวนคนติดเชื้อลดต่ำลงเรื่อยๆ อีกทั้งยังไม่มีคนป่วยหนักจากโควิด-19 รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลแล้ว

AUCKLAND, NEW ZEALAND – MARCH 14: New Zealand Prime Minister Jacinda Ardern displays a graph during a press conference on March 14, 2020 in Auckland, New Zealand. Ardern explained how New Zealand will attempt to slow the increase of coronavirus (COVID-19 ) cases with travel restrictions and self-quarantine upon arrival to New Zealand. (Photo by Dave Rowland/Getty Images)

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาถือเป็นวันสุดท้ายในรอบ 5 สัปดาห์ของนิวซีแลนด์ที่ใช้มาตรการ Lockdown อย่างเข้มข้น จากนี้ นิวซีแลนด์จะปล่อยให้คนกลับเข้าทำงานอย่างน้อย 400,000 คน (จำนวนประชากรในประเทศมีราว 4.8 ล้านคน) เศรษฐกิจของประเทศจะค่อยๆ กลับมาฟื้นฟูอยู่ที่ 75%

คำสั่งการในภาวะวิกฤตของผู้นำ: ต้องไม่ช้าเกินไปจนคุมสถานการณ์ไม่ได้ ไม่เร็วเกินไปจนประชาชนตั้งตัวไม่ทัน

  • 28 กุมภาพันธ์ นิวซีแลนด์ยืนยันผู้ติดเชื้อรายแรก จากนั้น 14 มีนาคม Ardern เริ่มให้ผู้คนกักบริเวณตัวเองอยู่ในบ้านเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จำนวนคนติดเชื้อขณะนั้นเพิ่มเป็น 6 คน
  • 19 มีนาคม เริ่มมีคำสั่งแบนการเดินทางเข้าประเทศ คนติดเชื้อเพิ่มเป็น 28 คน
  • 23 มีนาคม สั่ง Lockdown ประเทศ คนติดเชื้ออยู่ที่ 102 คน ขณะนั้นยังไม่มีผู้เสียชีวิต
  • ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิต 19 คน มีอาการหนักรักษาตัว 1 คน อีก 9 คนมีอาการไม่หนักมาก

Ardern กล่าวว่า การตัดสินใจสั่งการแต่ละครั้งเป็นไปอย่างยากลำบาก ต้องไม่ใช่คำสั่งการที่แรงหรือเร็วเกินไปจนคนรับไม่ได้ ขณะเดียวกัน นิวซีแลนด์ถือเป็นประเทศที่ประกอบด้วยเกาะใหญ่ 2 เกาะรวมเข้ากับเกาะเล็กๆ จำนวนหนึ่งตั้งอยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก คำสั่งการของ Ardern อาจกระทบประเทศเพื่อนบ้านได้ จึงต้องมีคำสั่งการที่ปกป้องและรับผิดชอบต่อเพื่อนบ้านด้วย (ประเทศที่อยู่ใกล้นิวซีแลนด์ที่สุดคือออสเตรเลีย ห่างกันประมาณ 2,000 กิโลเมตร)

WELLINGTON, NEW ZEALAND – APRIL 15: Prime Minister Jacinda Ardern during the update on the All of Government COVID-19 national response, at Parliament on April 15, 2020 in Wellington, New Zealand. (Photo by Mark Mitchell – Pool/Getty Images)

ด้าน Siouxsie Wiles นักจุลชีววิทยา แห่งมหาวิทยาลัย Aukland กล่าวว่า หากเทียบกับประเทศอื่น นิวซีแลนด์ไม่ได้มีเตียงรองรับผู้ป่วยหนักมากพอ นิวซีแลนด์เพิ่มการตรวจโรคมากขึ้น เมื่ออังคารที่ผ่านมา Ardern กล่าวว่า ตรวจโรค 8,000 คนต่อวัน ปัจจุบันตรวจไปแล้วจำนวน 126,066 คน

Ardern กล่าวว่า การ Lockdown ของประเทศถือว่าได้ผล หลายประเทศทั่วโลกโดยเฉลี่ยติดเชื้อราว 1 ใน 2.5 คน แต่หลังจากที่นิวซีแลนด์ใช้มาตรการนี้ ก็ลดจำนวนคนติดเชื้อเหลือเพียง 0.4 คน

ทักษะและความสามารถในการสื่อสารของผู้นำในช่วงวิกฤต สำคัญและจำเป็น

ตลอดช่วง Lockdown ของนิวซีแลนด์ที่ผ่านมา Ardern นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์จะแถลงร่วมกับ Michael Baker ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัย Otago กล่าวคือ ผู้นำนิวซีแลนด์จะพูดเฉพาะในสิ่งที่ตนเชี่ยวชาญ เรื่องวิทยาศาสตร์เรื่องเกี่ยวกับการดูแลตัวเองด้านสาธารณสุขจะให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นอธิบายเอง

นอกจากนี้ Ardern ยังยืนยันที่จะสู้โควิด-19 ต่อไป แม้จะประกาสชัยชนะแล้ว เธอบอกว่า จะสู้กับโควิด-19 ต่อไปจนกว่าจะผลิตวัคซีนได้ (บางแหล่งข้อมูลระบุว่าวัคซีนอาจผลิตได้ 12 เดือนขึ้นไป หรือไม่ก็ 1 ปีครึ่ง)

WELLINGTON, NEW ZEALAND – MARCH 24: A public notice for COVID-19 on display in the central business district on March 24, 2020 in Wellington, New Zealand. Prime Minister Jacinda Ardern has lifted New Zealand’s COVID-19 alert level to three on Monday, and raise the alert level to four on Wednesday as the government works to stop the spread of COVID-19. (Photo by Hagen Hopkins/Getty Images)

ถ้าจะประเมินบทบาทผู้นำกับการสื่อสารของ Ardern ทาง The Conversation เขาก็ยกงานวิจัยที่ศึกษาโดย Jacqueline Mayfield และ Milton Mayfield ศาสตราจารย์ด้านการจัดการแห่งมหาวิทยาลัย Texas A&M International ผู้เชี่ยวชาญการวิจัยด้านการสื่อสารของผู้นำ ระบุว่า โมเดลหรือตัวแบบที่เป็นความโดดเด่นของงานวิจัยด้านความสามารถในการสื่อสารของผู้นำ จะมี 3 เรื่องหลัก ประกอบกัน คือการสื่อสารที่ตรงไปตรงมา ถ้อยแถลงนั้นมีความหมาย และมีความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น

จากนั้นเขาก็เทียบกับผู้นำ Ardern ว่า เธอตอบสนองกับวิกฤตโควิด-19 ได้ครบทั้ง 3 ปัจจัยตามวิจัยของ Mayfield เช่น การบอกให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อรักษาชีวิต การแสดงความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อประชาชน ไปจนถึงวิเคราะห์ถ้อยแถลงของเธอแต่ละครั้งที่มีความใส่ใจคนฟัง ไปจนถึงการขยายเวลาให้สื่อมวลชนซักถามในเรื่องที่สังคมเป็นกังวลและข้องใจ นอกจากนี้ในช่วงก่อน Lockdown เธอยัง Live ผ่าน Facebook ทุกวัน เพื่อสรุปประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ให้ประชาชนฟัง

WELLINGTON, NEW ZEALAND – APRIL 27: Prime Minister Jacinda Ardern speaks at a briefing on the coronavirus pandemic at Parliament on April 27, 2020 in Wellington, New Zealand. (Photo by Mark Mitchell-Pool/Getty Images)

ไม่ใช่แค่งานวิจัย Mayfield เท่านั้นที่ Ardern มีทักษะการสื่อสารของผู้นำที่ดีตรงตามโมเดลทุกอย่าง World Economic Forum (WEF) ก็พูดถึงความสำเร็จของนิวซีแลนด์ในการจัดการโควิด-19 ว่า ความเป็นผู้นำระดับท็อปของเธอเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดความสำเร็จนี้ได้อย่างงดงามเช่นกัน

WEF พูดถึงทักษะความเป็นผู้นำของเธอโดดเด่น แต่ก็พูดถึงทีมที่อยู่เบื้องหลังของเธอที่ทำงานได้ดีจนน่าประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการด้านสาธารณสุขอย่าง Dr. Ashley Bloomfield ที่ทำงานกันเป็นทีมกับเจ้าหน้าที่แม้ว่าจะต้องเผชิญคำถามที่ตอบยากจากกองทัพนักข่าวก็ตาม

ชาวนิวซีแลนด์ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากในช่วงที่ถูกขอความร่วมมือให้จำกัดเสรีภาพตัวเองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด กระทบกับรายได้ และมาตรการกักกันตัวเองจากสังคม ซึ่งก็เป็นที่มาของผลสำรวจที่ระบุว่า 88% ของชาวนิวซีแลนด์มั่นใจ เชื่อใจในรัฐบาลว่าตัดสินใจรับมือกับโควิด-19 ถูกต้อง

เหล่าบรรดารัฐมนตรีรวมถึงนายกรัฐมนตรี Jacinda Ardern ก็ร่วมลดเงินเดือนตัวเอง 20% เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อร่วมรับมือกับโควิด-19 ด้วย เรื่องนี้ผู้นำพรรคฝ่ายค้านก็เห็นด้วยและสนใจที่จะหักลดเงินเดือนเช่นกัน หลังจากที่ประเทศเริ่มปลดล็อค ลดระดับ Lockdown แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ

อาจกล่าวได้ว่า สูตรในการสู้โควิด-19 ของนิวซีแลนด์คือ มีการรับมือโรคระบาดรวดเร็ว หลังประกาศ Lockdown ก็ยกระดับตรวจโรคเต็มที่ ผู้นำมีความน่าเชื่อถือ มีความจริงใจในการแก้ปัญหาให้ประชาชนเห็น สร้างความมั่นใจให้ประชาชนรู้สึกศรัทธาต่อการสู้กับโควิดไปพร้อมกับรัฐบาล

ที่มา – CNN, The Conversation, World Economic Forum

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์