ขับ UBER มีรายได้จริงหรือไม่… อย่าเดา ไปถามคนขับตัวจริงกันเลยดีกว่า

2016_06-apacx-epcot-rider_booking-hi_res-106

ก่อนหน้านี้มีการพูดกันในโลกออนไลน์พอสมควรว่า การขับ UBER หมดช่วงโปรแล้ว รายได้ไม่พอเลี้ยงตัวเองเหมือนช่วงแรกๆ ที่เริ่มเปิดให้บริการ กลายเป็นเรื่องที่หลายคนอยากค้นหาคำตอบ ดังนั้น Brand Inside เลยอาสาพาไปคุยกับคนที่ขับ UBER แบบ Full Time ที่สำคัญคือเป็น ผู้หญิง ด้วย ลองไปดูกันว่าตกลงแล้วการขับ UBER ได้เงินพอใช้มั้ย และมันปลอดภัยสำหรับผู้หญิงหรือเปล่า?

เพื่อความสมจริงสมจังในการพูดคุย Brand Inside ได้ติดต่อกับทีมงาน UBER พร้อมกับเรียกใช้บริการ UBER จริงๆ และได้พบกับ นันท์นภสร ปัทมประภาวันทน์ และได้พูดคุยกันตั้งแต่จุดเริ่มต้น การตัดสิน และเทคนิคในการเป็นคนขับ UBER แบบ Full Time แบบไม่มีกั๊ก

uber-1
นันท์นภสร ปัทมประภาวันทน์

จากเลขาฯ ผู้บริหาร สู่คนขับรถรับส่ง

นันท์นภสร เริ่มต้นเล่าว่า เดิมทำงานประจำเป็นเลขาฯ ผู้บริหาร แต่มีช่วงที่ผู้บริหารเดินทางไปต่างประเทศจึงมีเวลาว่าง และด้วยการที่เป็นคนชอบขับรถ พอเห็นโฆษณาทางโซเชียลว่า UBER รับสมัครคนขับรถ เลยเกิดความรู้สึกอยากลอง ซึ่งการสมัครก็ไม่ได้ง่าย เพราะต้องเตรียมเอกสารของรถ ใบอนุญาตขับขี่ และประวัติอาชญากรรม เพื่อยืนยันประวัติส่วนตัว จากนั้นก็ต้องร่วมอบรมพื้นฐานในการให้บริการกับ UBER

“ย้อนกลับไปประมาณ 2 ปีที่แล้ว ใจจริงคือ อยากลองสักครั้ง อยากรู้ว่าจะเป็นอย่างไร ครั้งแรกได้ลูกค้าเป็นคนเกาหลี ก็ยังรู้สึกเกร็งๆ แต่พอเริ่มมีการพูดคุยสื่อสารกันอย่างเป็นกันเองจากลูกค้า ก็เริ่มสนุก และยังได้ลูกค้าเรียกใช้บริการเรื่อยๆ เลยเริ่มสนุก”

ตอนแรกสุด ครอบครัวไม่เห็นด้วยและไม่ยอมให้ทำ เพราะเป็นห่วงความปลอดภัย แต่ส่วนตัวยืนยันว่าอยากลอง และพอได้รายได้จริงประมาณสัปดาห์ละ 3,000 – 4,000 บาท และเห็นถึงความปลอดภัย จึงทำมากขึ้นจนมีรายได้เฉลี่ย 6,000 – 7,000 บาทต่อสัปดาห์ แต่ก็ยังเป็น Part Time

2016_06-apacx-epcot-rider_booking-hi_res-117

ทดลองขับเต็มเวลา จุดเปลี่ยนสู่การขับรถ Full Time

นันท์นภสร บอกว่าจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต คือ ผู้บริหารจะย้ายไปประจำที่ประเทศมาเลเซีย และส่วนตัวไม่อยากย้ายไป แต่ตอนนั้นก็ยังไม่มั่นใจว่าถ้าทำ UBER เต็มเวลาจะมีรายได้เพียงพอหรือไม่ และต้องยอมรับด้วยว่าระยะแรก UBER มีโปรโมชั่นดีๆ ทำให้ได้รายได้ดีมาก แต่ก็ต้องเข้าใจธุรกิจว่า ต่อมาอาจจะไม่ได้มีโปรดีๆ เหมือนแรกๆ แต่คำตอบที่ต้องการคือ ถ้าทำ Full Time วันนี้จะมีรายได้มากพอมั้ย

ดังนั้น จึงทดลอง Test โดยการขับรถเต็มเวลาพบว่า มีรายได้ประมาณ 12,000 บาทต่อสัปดาห์ โดยตั้งแต่ขับมาเริ่มต้นมีค่าใช้จ่ายประมาณ 50% ของรายได้ แต่เมื่อเรียนรู้มากขึ้น ตอนนี้ค่าใช้จ่ายลดเหลือ 30-40% ของรายได้เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่รับได้

แต่พอตัดสินใจลาออกจากงาน มาขับเต็มเวลาจริงๆ ตั้งใจและวางแผนทำงานมากขึ้น พบว่ามีรายได้เฉลี่ย 15,000 – 20,000 บาทต่อสัปดาห์ แต่ต้องอาศัยการวางแผนทำงานด้วย

2016_06-apacx-epcot-rider_booking-hi_res-039

วางแผนดี มีชัยตั้งแต่เริ่ม รายได้ก็เพิ่มพูน

นันท์นภสร บอกว่า ส่วนตัวเริ่มต้นเวลาทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า (ออกจากบ้าน ตี5ครึ่ง) และทำยาวไปจนถึงประมาณ 4 ทุ่ม แต่เลือกเวลาในการทำงานและพักได้ตลอดทั้งวัน มีการวางแผนเส้นทาง รู้ตำแหน่งที่ลูกค้าอยู่ รู้การหลีกเลี่ยงเส้นทางที่การจราจรหนาแน่น ทำให้ประหยัดเวลาและประหยัดน้ำมันด้วย

ส่วนสำคัญคือเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้า เช่น เวลาเช้าไปทำงาน เวลาเย็นกลับบ้าน กลางคืนดึกๆ ต้องไปสถานที่เที่ยวกลางคืน บอกได้เลยว่า มีลูกค้าเรียกใช้บริการต่อเนื่อง ว่างไม่เกิน 10-15 นาที และส่วนที่ช่วยเพิ่มรายได้ได้ดีมากๆ คือ พื้นที่และเวลา Incentive ที่มีการเพิ่มรายได้ให้

ในแผนที่ของคนขับ UBER จะมีการแจ้งว่า ช่วงเวลานี้ พื้นที่นี้ ถ้าเข้าไปรับลูกค้า จะได้รับ Incentive เป็นการคูณรายได้ เช่น เวลา 16.00 – 18.00 น. พื้นที่อโศก ให้ Incentive คูณ 1.5 – 2 ให้กับรายได้ ถ้าเจอแบบนี้จะรีบวิ่งเข้ามารับลูกค้าทันที เท่ากับว่ารายได้เพิ่มขึ้นทันที เรียกว่าพื้นที่และช่วงเวลา Incentive เป็นสิ่งที่คนขับรถต้องให้ความสนใจตลอดเวลา และสักพักจะเริ่มจับหลักการได้

uber-3

คนขับเป็นหญิง ความปลอดภัยต้องมาก่อน

อย่างที่เกริ่นไปตั้งแต่ต้นว่า นันท์นภสร เป็นผู้หญิงที่มาขับ UBER แบบ Full Time และยิ่งมีข่าวการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น ทำให้เรื่องความปลอดภัยกลายเป็นสิ่งที่ต้องให้ความใสใจมากขึ้น ซึ่งจากการพูดคุยทำให้รู้ว่า การคัดเลือกคนมาทำหน้าที่ขับรถ มีการคัดกรองมากพอสมควร ขณะที่ผู้ใช้บริการต้องลงทะเบียนและผูกบัตรเครดิต ก็ช่วยได้ในอีกระดับหนึ่งเช่นกัน แต่ตัวเองต้องมีความระมัดระวัง มีสติอยู่ตลอดเวลาด้วย

โดยการใช้แอพเรียกรถ จะรู้เบอร์โทรศัพท์กันอยู่แล้ว รู้ทะเบียนและยี่ห้อรถ และเห็นหน้าคนขับ ถ้าหน้าไม่ตรงกัน หรือรู้สึกไม่ปลอดภัย ผู้ใช้บริการสามารถปฏิเสธ และติดต่อ UBER ผ่านแอปฯ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

มุมมองของ Brand Inside ต่อเรื่องนี้ เห็นว่า รถแท็กซี่ทั่วไปที่ให้บริการอยู่ ก็ไม่ได้ปลอดภัยกว่าเลย เพราะใครก็สามารถมาเป็นคนขับรถได้ เพียงแค่ไปเช่ารถจากสหกรณ์แท็กซี่ บางครั้งบัตรเหลือง (บัตรคนขับรถ) กับคนขับก็หน้าตาไม่เหมือนกัน ถ้ามีเหตุร้ายเกิดขึ้น ก็อาจจะตามจับใครไม่ได้เลย

uber-2

คนขับที่ต้อง Represent ประเทศไทย

นันท์นภสร เล่าว่า ลูกค้า 70% เป็นคนต่างประเทศ เพราะส่วนใหญ่ใช้บริการในต่างประเทศกันมาแล้ว พอมาถึงไทยก็เปิดใช้ได้ทันทีหลากหลายเชื่อชาติ และกลายเป็นหน้าที่ไปว่า ต้องทำหน้าที่คนไทยเพื่อสร้างความรู้สึกที่ดี ให้บริการอย่างเต็มที่ ให้คิดว่า UBER คือธุรกิจของตัวเอง

จากประสบการณ์ส่วนตัว เคยช่วยลูกค้าผู้โดยสารชาวสิงคโปร์ จากการถูกโกงค่าบริการในผับ ทำให้ลูกค้าได้เงินคืน สร้างประสบการณ์ความประทับซึ่งกันและกัน

ขณะที่ลูกค้าคนไทย 30% ก็มีลูกค้าหลายๆ คนที่น่ารัก เช่น คุณแม่และคุณลูกที่โดยสารในย่านสุขุมวิท เมื่อคุณลูกเกิดอาการหิว คุณแม่สามารถเดินลงไปซื้อขนมมากินได้ โดยบอกว่า เพราะเป็น UBER จึงกล้าปล่อยให้คุณลูกนั่งรออยู่ในรถได้ เป็นสิ่งที่ทำให้คนขับ UBER ต้องรักษาความเชื่อมั่นของลูกค้าไว้

2016_06-apacx-epcot-rider_inside_car-hi_res-033

สรุป

ไม่ว่าจะเป็นการขับ UBER หรือการทำงานอื่นๆ ถ้ามีการวางแผน ศึกษารายละเอียด เรียนรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ เหมือนกับ นันท์นภสร ที่สามารถสร้างรายได้มากมายจากการขับ UBER เป็นเรื่องน่าชื่นชม และใครอยากจะลองบ้าง ก็สามารถทำได้ตามขั้นตอนการสมัคร

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า การใช้รถยนต์ส่วนตัวมาให้บริการลักษณะ Car Sharing แต่เป็นการให้บริการที่มีการเก็บเงิน อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนทะเบียนรถเป็นแบบรถรับจ้างเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย และจริงอยู่ว่าไม่มีกฎหมายมาบอกว่า UBER ผิด แต่กฎหมายก็ยังไม่รองรับตรงๆ ดังนั้นขึ้นกับวิจารณญาณของผู้ใช้แต่ละคนด้วย ซึ่ง Brand Inside มองว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่รัฐต้องใส่ใจดูแล ออกหลักเกณฑ์ให้ถูกต้อง มากกว่าแค่ออกมาเอาผิด เพราะอย่าลืมว่า แท็กซี่ ที่วิ่งอยู่บนถนนจำนวนมาก รัฐบาลก็ไม่สามารถควบคุมทั้ง การปฏิเสธไมรับผู้โดยสาร การโกงมิเตอร์ หรือการควบคุมมาตรฐานคนขับ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา